ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ อาเซียน ซึ่งมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญก้าวหน้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นการทั่วไป และโดยเฉพาะต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ
- การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
- การเร่งขยายแสนยานุภาพทางการทหารด้วยอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
- การแสดงพละกำลังของจีนในทะเลจีนตอนใต้ที่คุกคามความมั่นคงปลอดภัยของประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีข้อพิพาทในเรื่องพื้นที่ทางทะเลกับจีน เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน
- การเผชิญหน้าระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ กับจีนเกาะไต้หวัน
- การเพิ่มขยายความร่วมมือสี่เส้าระหว่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย
- การจัดตั้งองค์กร AUKUS โดยสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย เพื่อพัฒนาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของออสเตรเลีย
- การกระชับความร่วมมือแบบสามเส้าที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวยืน เช่น ระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หรือสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ เป็นต้น
- การที่กัมพูชายินยอมให้จีนมาตั้งฐานทัพเรือที่เมืองท่าเรียม ประชิดชายแดนไทย เป็นต้น
ภายใต้เหตุการณ์เคลื่อนไหวต่างๆ ดังกล่าว อาเซียนซึ่งมีสมาชิกประเทศ 10 ประเทศ ดูเงียบเหงา ถูกลืมเลือนมองข้ามไป หรือไม่มีการให้ราคา โดยประเทศต่างๆ นอกอาณาเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้หลักการอาเซียนว่าด้วย อาเซียนต้องเป็นแกนกลางในความเป็นไปในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Centrality) ดูไร้ความหมาย ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ และไม่มีความเป็นจริงเป็นจัง
อีกทั้งปัญหาภายในของอาเซียนเอง เช่น ในกรณีปัญหาการปฏิวัติรัฐประหาร และสงครามกลางเมืองที่ประเทศเมียนมา (พม่า) ซึ่งเป็นเรื่องภายในของครอบครัวอาเซียน ฯลฯ อาเซียนก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะมีความแตกแยก และขาดผู้นำ
ล่าสุดก็มีเหตุการณ์การดำเนินการมาตรการฝ่ายเดียวทางด้านการค้าขาย โดยเฉพาะการตั้งกำแพงภาษีศุลกากรในอัตราที่สูงขึ้นของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำพาของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีอุดมการณ์ว่า“สหรัฐอเมริกาต้องเป็นหนึ่ง ต้องเป็นใหญ่ และต้องมาก่อน”มีผลให้ทั้งโลกต้องสั่นสะเทือนและเร่งปรับตัวเอง และเร่งจัดทำกลยุทธ์เพื่อต่อกรกับสหรัฐฯ
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือความท้าทายของโลกต่ออาเซียน ซึ่งอาเซียนจะรับมือได้ อาเซียนก็จะต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งภายในและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า อาเซียนจะต้องพินิจพิจารณาตนเองอย่างลึกซึ้ง มุ่งมั่น และรอบคอบ
อาเซียนจะแข็งแกร่งขึ้นมาได้ อาเซียนก็มีแนวทางที่จะดำเนินการได้หลายๆ แนวทางด้วยกัน เช่น
- การมีอัตราภาษีศุลกากรร่วมแบบสหภาพยุโรป คู่ขนานไปกับการลดอัตราภาษีศุลกากรและการขจัดอุปสรรคทางการค้าขายต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศด้วยกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นตลาดเดียว (One Market) ที่มีการเคลื่อนไหว ไหลเวียน ของสินค้า เงินตราและผู้คน ที่ปราศจากหน่วยงานศุลกากรและตรวจคนเข้าเมือง ณ เขตแดนระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน
- การปรับ การเรียกเก็บภาษีภายในต่างๆ ให้ทัดเทียมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่องทางของการลักลอบและการขายสินค้าอย่างผิดกฎหมาย (Harmonization of Tax Law)
- การเร่งการให้ได้มาซึ่งมาตรฐานกลางในระดับอาเซียน ว่าด้วยการออกใบอนุญาต มาตรฐานบริการ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งระบบกลางว่าด้วยแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
- อาเซียนได้มีการจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง แต่ความคืบหน้าต่างๆ ยังเป็นไปด้วยความล่าช้า การสัญจรไปมาจึงไม่สะดวกสบาย ไม่ราบรื่น เพราะถนนหนทาง ทางรถไฟ การขนส่งทางทะเล ยังขาดตอน ขาดช่วงอยู่อีกมากมาย ไม่สามารถเชื่อมโยงประเทศอาเซียนทั้งสิบกันได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ยังไม่รวมเรื่องเครือข่ายท่อก๊าซและน้ำมันเครือข่ายไฟฟ้า และเครือข่ายโทรคมนาคมสมัยใหม่
อีกทั้งความรู้สึกนึกคิดของการเป็นพลเมืองอาเซียนด้วยกันทั้งประมาณ 650 ล้านกว่าชีวิต ก็ยังดูลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ เพราะขาดการชำระประวัติศาสตร์ร่วมกัน เพื่อยุติความระหองระแหงแต่อดีต รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความเหมือนและการมีรากเหง้าร่วมกัน เป็นต้น
อีกทั้งประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ก็ยังมีระบบระบอบการเมืองการปกครองที่แตกต่างกันขณะที่ในกฎบัตรอาเซียน (The ASEAN Charter) ระบุเป้าหมายเรื่องความเป็นประชาธิปไตยและการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน โดยอาเซียนได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระดับรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแต่ทว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพภายในประเทศอาเซียนก็ยังมีอุปสรรคอยู่อย่างมากมาย มิได้ทำให้หลักการว่าด้วยประชาชนพลเมืองเป็นศูนย์หรือแกนกลางของความเป็นไปของอาเซียนนั้นไม่มีความเป็นจริงเป็นจังแต่อย่างใด (People’s Centered) ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขเพื่อให้ประชาชนพลเมืองอาเซียนทุกคนอยู่ภายใต้ร่มเงาของสิทธิเสรีภาพ ปราศจากความหวาดกลัว และการกดขี่ข่มเหงใดๆ ทั้งสิ้น
ในการนี้ทุกแวดวงภายในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน และทุกแวดวงในระดับอาเซียน จะต้องออกมาพินิจพิจารณาสถานะของอาเซียนและความท้าทายต่างๆ ทั้งจากภายนอกและภายในอย่างจริงจังเพื่อจะได้มีการดำเนินการเปลี่ยนรูปโฉม หรือปฏิรูปอาเซียนอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง ให้อาเซียนเป็นองค์การร่วมมือระดับภูมิภาค ที่เป็นแบบอย่างของกลุ่มประเทศในโลกที่สาม หรือโลกทางตอนใต้ (The Global South) และเป็นสถาบันที่สามารถจะมีสุ้มเสียงและขับเคลื่อนสันติภาพ ความมั่นคง และเจริญก้าวหน้าของประชาคมโลกได้
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี