นโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ของทรัมป์ เปิดสงครามการค้าทั่วโลก เป็นเหมือนแผ่นดินไหว เกิดคลื่นสึนามิกีดกันการค้า สร้างผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก
นี่ไม่ใช่สนามเด็กเล่น ที่จะเอาชีวิตของประเทศชาติบ้านเมือง มาเสี่ยงเหมือนหนูทดลองอีกต่อไป
1. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2568 จาก 2.9% เหลือ 1.8%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ข้อมูลของ IMF เป็นการประเมินเบื้องต้น สถานการณ์ตอนนี้ไม่แน่นอน นโยบายภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐ อาจมีผลกระทบบ้าง ซึ่งรัฐบาลประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชดเชยส่วนจีดีพีลดลงเพื่อรักษาให้เติบโตระดับเดิม
โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อน มองว่าน่าจะใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท
โดยจะโฟกัสเม็ดเงิน 3 ส่วน คือ 1.การกระตุ้นการบริโภค 2.การลงทุนในประเทศ 3.การออกซอฟต์โลน
ส่วนที่มาของแหล่งเงิน รัฐมนตรีหลังบอกว่า จะต้องดูเพราะมีหลายทาง โดยขณะนี้ได้หารือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใกล้ชิด
2. แน่นอนว่า รัฐบาลจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางเศรษฐกิจครั้งนี้
อันที่จริง หลายฝ่าย โดยเฉพาะแบงก์ชาติ ที่เคยคัดค้านมาตรการแจกเงินล้างผลาญและลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรง ก็เคยให้เหตุผลว่าเพราะต้องการเก็บกระสุนไว้รับมือกับภาวะเช่นนี้นั่นเอง
รัฐบาลควรจะตระหนักเป็นเบื้องต้นว่า สถานการณ์ขณะนี้ ไม่ใช่สนามเด็กเล่น
ไม่ใช่สถานการณ์ที่จะมาผลาญเงินแผ่นดินหาเสียง หาคะแนนให้ตระกูลนักการเมือง หรือพรรคการเมือง
แต่จะต้องมุ่งที่การรับมือ แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด แม่นยำ มีประสิทธิภาพ เพราะวิกฤตยังไม่แน่นอน และทรัพยากรเรามีจำกัด
3. แหล่งเงิน
ประเทศไทย ยังไม่อับจนหนทางเรื่องเงินที่จะนำมาใช้
เพราะสามารถพิจารณาตั้งแต่เกลี่ยงบประมาณ ปรับงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2568 ที่ยังเหลือ 150,000 ล้านบาท, ปรับงบปี’69 ที่กำลังจะเข้าสภาหลังจากนี้, ใช้กลไกธนาคารของรัฐ,รัฐบาลอาจกู้เงินมาใช้ก็ยังได้ ฯลฯ
แม้จะทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น แต่ถ้าจำเป็น ก็ทำได้
สำคัญกว่านั้น คือ รัฐบาลมีแผนการจะใช้เงินอย่างไร?
และแนวทาง ยุทธศาสตร์ การนำพาประเทศชาติจะไปอย่างไร?
ทั้งแนวทางการเจรจากับสหรัฐ? แนวทางความสัมพันธ์กับจีน? แนวทางการหารายได้เข้าประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน ? ฯลฯ
สิ่งนี้สำคัญเร่งด่วนกว่าหาเงินเสียอีก
เพราะบางเรื่อง ต้องทำทันที ทำเสียก่อน แล้วอาจจะใช้เงินน้อยลง หรือมีรายได้มากขึ้น
4. คุณกรณ์ จาติกวณิช ให้ความเห็นไว้บางประเด็น ระบุว่า
“...เอาใจช่วยรัฐบาลให้ฝ่าด่านอุปสรรคพิษเศรษฐกิจไปให้ได้ นาทีนี้ผมไม่เลือกข้างใครทั้งสิ้น ดูที่การกระทำอย่างเดียว
แล้วก็สะดุดทันทีเมื่อเห็นรัฐบาลบอกว่าเตรียมออก พ.ร.บ. กู้เงิน
งบปี’69 เพิ่งเริ่มพิจารณา งบ’68 ใช้ไปยังไม่ถึงครึ่งปี แต่รัฐบาลพูดถึงการออกพ.ร.บ. กู้เงิน อีกแล้ว?
ความจริงคือ รัฐบาลประเมินเศรษฐกิจโตเกินจริงแต่แรก แล้วเสนอแผนการใช้เงินงบประมาณปัจจุบัน 2568
โดยที่มีการขาดดุลมากจนต้องกู้ชดเชยเต็มเพดานตามกฎหมาย แทบไม่เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้เลย
โดยมีนโยบายแจกเงินที่หลายคนคัดค้านแต่แรก ว่าเป็นการใช้เงินผิดวิธีและผิดเวลา
วันนี้ รัฐบาลอ้างถึงผลกระทบนโยบายทรัมป์ ส่งผลให้รัฐบาลอาจต้องใช้เงินเพิ่มเติมซึ่งคงจะให้เหตุผลอธิบายว่า
1. เพื่อสมทบเงินคงคลังเนื่องจากรายได้ภาษีตํ่ากว่าเป้า หรือ/และ
2. เพื่อจัดงบประมาณเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ
ซึ่งสิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำก่อนออก พ.ร.บ. กู้เงิน ควรจะเป็นการเสนอการปรับลดค่าใช้จ่ายในงบประมาณปีปัจจุบัน เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ตํ่ากว่าเป้า สิ่งแรกที่ควรทำคือลดค่าใช้จ่าย ไม่ใช่กู้เพิ่ม
...หากลดค่าใช้จ่ายแล้วยังไม่พอ ถามว่าการออก พ.ร.บ. เป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือไม่?
การออกกฎหมายในรูปพ.ร.บ. ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน ดังนั้น กฎหมายนี้ จะคลอดออกมาใช้งานเวลาใกล้เคียง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2569
ดังนั้นทำไมไม่บรรจุแผนการใช้เงินใน พ.ร.บ.’69?
ทำไมต้องออก พ.ร.บ. มากู้นอกระบบงบประมาณ?
คำอธิบายเดียวคือรัฐบาลต้องการใช้เงินเกินเพดานเงินกู้ตาม พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ
ซึ่งอันนี้ต้องระมัดระวังอย่างมาก คิดดีๆ อย่ายอมกันง่ายๆ”
5. แนวทางรับมือกับนโยบายทรัมป์ และการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี น่าสนใจ ระบุว่า
“เรียนท่านนายกรัฐมนตรี
เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนเป็นประเด็นสำคัญที่จะมีผลกระทบไปทั่วทั้งโลก ตัวผมเองในฐานะที่เป็นผู้สังเกตการณ์ ศึกษาวิจัย สอนหนังสือ และเขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในประชาคมอาเซียนท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และมีความเชื่อว่าการกำหนดนโยบายของประเทศควรต้องบูรณาการความรู้และประสบการณ์จากทุกภาคส่วน ผมจึงเขียนจดหมายเปิดผนึกนี้ถึงท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความคิดเห็นใน 10 ข้อ เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่สำหรับรัฐบาลไทย
1. ต้องเปิดทัศนคติใหม่ (New Mindset) แล้วว่า ระเบียบโลกได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และใช้เครื่องมือทางภูมิเศรษฐศาสตร์ในการห้ำหั่นกัน โลกกำลังแตกออกเป็น 3 ห่วงโซ่มูลค่า (GVCs) นั่นคือ 1) US-led GVCs, 2) China-led GVCs และ 3) ห่วงโซ่มูลค่าของประเทศอื่นๆ ซึ่งสิ่งแวดล้อมใหม่นี้จะอยู่กับเราในระยะยาว
2. ต้องบูรณาการองค์ความรู้ในทุกศาสตร์แบบสหสาขาวิชาเพื่อรับมือกับสิ่งแวดล้อมใหม่นี้ โดยมีผลประโยชน์ของชาติเป็นเป้าหมาย และอย่าสับสนระหว่างผลประโยชน์ชาติกับผลประโยชน์ส่วนตัวและ/หรือครอบครัว
3. ไทยต้องวางยุทธศาสตร์อย่างน้อย 3 ด้าน 1) ยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐ 2) ยุทธศาสตร์ต่อจีน และ 3) ต้องเล่นบทบาทนำในประชาคมอาเซียน
4. ต่อสหรัฐ เราต้องยืนยันว่าไทยไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลของมหาอำนาจใด เร่งสำรวจช่องทางในการเข้าถึง Trump และ/หรือ ทีมงานใกล้ชิด และสำคัญที่สุดคือ อำนาจต่อรองของไทยต่อสหรัฐไม่ได้อยู่ในมิติเศรษฐกิจ หากแต่อยู่ในมิติความมั่นคง, การทหาร และการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้นเราต้องสามารถออกอาวุธได้ในทุกมิติมิใช่เพียงแต่ การค้า การเงิน การลงทุน
5. ต่อจีน เราต้องขยายตลาดสินค้าไทยเข้าจีน เพื่อทดแทนสินค้าที่จีนเคยนำเข้าจากสหรัฐ และด้วยความเป็นพันธมิตรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมกัน เราต้องขอให้จีนควบคุมมิให้สินค้าจีนเข้ามาบุกและทำลายตลาดของผู้ประกอบการไทยในประเทศไทย พร้อมๆ กับต้องแสดงจุดยืนสนับสนุนจีนในเวทีนานาชาติในมิติที่เป็นผลประโยชน์ที่ไทยและจีนมีร่วมกัน และขอให้จีนสนับสนุนให้ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกเต็มของ BRICS เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ
6. ต่ออาเซียน ต้องประสานผลประโยชน์ และดำเนินยุทธศาสตร์ ราชสีห์กับหนู รวมอุปสงค์ของอาเซียนต่อสินค้าและบริการของสหรัฐเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และใช้อาเซียนเป็นอีก 1 ช่องทางในการเจรจากับสหรัฐควบคู่กับที่เราต้องดำเนินการแบบทวิภาคีด้วย และต้องให้ทั้ง 2 แทรคส่งเสริมซึ่งกันและกัน
7. ไทยต้องมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ ขั้วที่ 3 ของเกมส์ภูมิรัฐศาสตร์โลก นั่นคือ โลกมุสลิม (โลกมลายู+เอเชียใต้+แอฟริกา+ตะวันออกกลาง) พร้อมๆ กับต้องศึกษาลงลึกว่าภาษี Reciprocal tariff ที่มีอัตราแตกต่างกัน เราจะมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มในเชิงเปรียบเทียบกับประเทศใด และเราจะเสียเปรียบประเทศใด
8. ในระยะยาว ไทยต้องกระตุ้นให้ การบริโภคภายในประเทศ กลายเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปัจจัยผลักดันให้การบริโภคภายในประเทศอย่างยั่งยืนไม่ใช่การใช้นโยบายประชานิยม หากแต่ต้องเป็นการใช้นโยบายส่งเสริมการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ส่งเสริมความเท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากรและโอกาส และการมีธรรมาภิบาล
9. ในมิติการเงิน การคลัง และอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลคงต้องทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิดในการให้อิสระธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและปรับสัดส่วนกระจายการถือครองทรัพย์สินต่างๆ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
10. ใช้มิติสังคม วัฒนธรรม และ มนุษยธรรมในการเสริมสร้าง Soft Power เพื่อรับมือกับมาตรการสงครามภูมิรัฐศาสตร์ที่มากไปกว่าแค่สงครามภาษี การระงับวีซ่า การระงับทุนให้ความช่วยเหลือในหลากมิติ การหยุดการสนับสนุนทุนการศึกษา และงานวิจัย ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ การแพร่ระบาดของโรค จุดยืนในประชาคมนานาชาติ เหล่านี้ไทยต้องทำงานหนัก และสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างเพื่อนประเทศไทย (Friends of Thailand) ให้สนับสนุนไทย ช่วยไทย ในการเรียกร้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติในเวทีโลก
ทั้งหมดนี้คือ ข้อเสนอแนะ 10 ข้อของผมเพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก ...
...หวังว่าข้อเสนอของผมจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและรัฐบาล เพราะนี่คือสถานการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
ถ้าประเทศไทยตั้งรับ ปรับตัว และทำนโยบายเชิงรุกได้อย่างดี ประเทศไทยจะทะยานขึ้น
แต่ถ้าเรายังงงๆ กันแบบนี้ต่อไป เราเองจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในประชาคมโลก”
สรุป
ขอย้ำว่า นี่ไม่ใช่สนามเด็กเล่น ที่จะเอาชีวิตของประเทศชาติบ้านเมืองมาเสี่ยงหรือคิดจะเอาแต่ประโยชน์โคตรเหง้านักการเมืองบางตระกูลอีกต่อไป
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี