การเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชา (เขมร) ในช่วงวันที่ 23-24 เมษายน 2568 นำคณะโดยนายกรัฐมนตรี (หุ่นกระบอก) แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งมีรัฐมนตรี ร่วมคณะคืออนุทิน ชาญวีรกูล (กระทรวงมหาดไทย) มาริษ เสงี่ยมพงษ์ (กระทรวงการต่างประเทศ) พิพัฒน์ รัชกิจประการ (กระทรวงแรงงาน) สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (กระทรวงคมนาคม) เฉลิมชัย ศรีอ่อน (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
ถามว่าไปเยือนครั้งนี้ทำให้ไทยได้ประโยชน์อะไรนอกเหนือจากการได้ไปพบปะกับฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา และข่าวระบุด้วยว่าแพทองธารยังไปพบปะกับฮุนเซน ผู้นำที่อยู่เบื้องหลังนายกรัฐมนตรีกัมพูชา
พูดตามข้อเท็จจริงในเชิงการเมืองไทย-กัมพูชาแล้ว ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมองตรงกันว่าการเดินทางไปเยือนกัมพูชาครั้งนี้ไม่ได้ให้ผลประโยชน์ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศอย่างเป็นชิ้นเป็นอันสำหรับประเทศไทย เพราะสาระของการลงนามในเอกสารต่างๆ ทั้ง 7 เรื่อง ไม่ได้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดถึงกับต้องให้นายกรัฐมนตรีไทยเดินทางไปด้วยตนเอง (ค้นหารายละเอียดการลงนามในความตกลง 7 ฉบับได้จากข่าวการเมืองรายวันจากสื่อฯ ในประเทศไทยทุกแขนง)
ยิ่งเมื่อดูป้ายชื่องานที่ติดอยู่เบื้องหลังที่นั่งของแพทองธารกับฮุน มาเนต ก็ยิ่งพบว่ามหัศจรรย์ เพราะมีภาษาอังกฤษกับภาษาเขมร แต่ไม่มีภาษาไทย ถามว่าทำไมจึงไม่มีภาษาไทย แล้วทำไมมีภาษาเขมร เรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศไทยจะตอบคำถามอย่างไร แน่นอนว่าการใช้ภาษาอังกฤษคือการใช้ภาษากลาง แต่คำถามคือแล้วทำไมมีภาษาเขมร แต่ไม่มีภาษาไทย หรือจะอ้างว่าเพราะไทยไปเยือนเขมร โดยเขมรเป็นเจ้าภาพผู้เชิญจึงมีภาษาเขมร และเหตุใดไม่มีภาษาไทยอยู่ด้วย เพราะผู้ไปเยือนคือไทย ขอย้ำว่าเรื่องนี้น่าคิดอย่างมาก แต่ก็ยังพออ้างได้ว่า เพราะว่าเจ้าภาพเป็นเขมร ดังนั้นจึงใช้ภาษาอังกฤษกับภาษาเขมร แต่ก็มีคำถามว่าแล้วในเมื่อเขมรเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เหตุใดไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศส (หากจะถกกันในเรื่องนี้ ต้องถกกันอีกยาว)
เมื่อแพทองธารกับฮุน มาเนต นั่งอยู่ในพิธีในฐานะประธานของงาน ทำให้มีเสียงวิพากษ์ว่าดูแล้วเห็นภาพของฮุนเซน กับทักษิณ ชินวัตร ซ้อนอยู่เบื้องหลังของคนทั้งสอง เพราะทุกคนที่ติดตามเรื่องราวระหว่างฮุนเซน กับทักษิณ ย่อมรู้ดีว่าทั้งสองคนนี้มีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างลึกซึ้ง แม้ในช่วงแรกๆ อาจจะไม่ลงรอยกันมากนัก (ดูได้จากเรื่องการที่เขมรเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ) แต่หากจะย้อนไปไกลกว่านั้นก็จะเห็นภาพทักษิณเข้าไปทำธุรกิจในเขมร แล้วตามมาด้วยภาพการเป็นดองกันระหว่างคนของทักษิณกับฮุนเซน
ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับเขมร มีทั้งราบรื่นและระหองระแหงในบางช่วงเวลา ดังจะเห็นว่าในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ความสัมพันธ์ไทยกับเขมรไม่ราบรื่น แต่เมื่ออยู่ในยุคที่ทักษิณมีอำนาจการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขมรก็ดูจะไม่รุ่มร้อนจนเกิดการปะทะกัน แต่ก็มิได้หมายความว่าความบาดหมางกันมาก่อนจะถูกขจัดให้หมดไปได้ แม้ทักษิณจะอ้างว่าสนิทสนมกับฮุนเซน ก็ตาม
ในยุคที่แพทองธารยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แพทองธารก็ไปเขมรมาแล้ว ในช่วงวันที่ 19-20 มีนาคม 2567 โดยไปตามคำเชิญของฮุนเซน ในฐานะประธานองคมนตรีแห่งกัมพูชา โดยการไปเยือนเขมรในครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากฮุนเซน เข้ามาไทยแล้วไปเยี่ยมทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า หลังจากทักษิณสร้างภาพข่าวว่าออกจากโรงพยาบาลตำรวจแล้ว
แล้วหากย้อนไปดูในยุคเศรษฐา ทวีสิน รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (หุ่นกระบอก) ก็พบว่าประเทศแรกที่เศรษฐาเดินทางไปเยือนในฐานะนายกรัฐมนตรีคือกัมพูชา เศรษฐาเคยอ้างว่าเขากับฮุน มาเนต มีความสนิทสนมกันมาก สามารถโทรศัพท์หากันได้ตลอดเวลา
มีเสียงวิจารณ์ว่าฮุนเซน จำเป็นต้องเชิญแพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยไปเยือนเขมร ก็เป็นเพราะต้องการช่วยสร้างภาพการเมืองให้แพทองธารเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้น เพราะไม่เคยเห็นว่าฮุนเซน ในฐานะผู้กุมอำนาจสูงสุดของเขมรจะเคยเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองจากไทยพรรคไหนไปเยือนเขมร แล้วเหตุใดจึงเจาะจงเชิญแพทองธาร คำตอบคือ เพราะแพทองธารเป็นลูกของทักษิณ ส่วนการเดินทางไปเยือนเขมรในครั้งนี้ของแพทองธาร ในฐานะนายกรัฐมนตรี (หุ่นกระบอก) ก็ถูกวิจารณ์ว่าแม้จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่แพทองธารต้องไปเอง และไม่จำเป็นต้องพารัฐมนตรีไทยหลายคนไปด้วย เพราะเรื่องที่ลงนามในสัญญาระหว่างกันนั้น ให้คนระดับรองปลัดกระทรวง หรืออธิบดีของกรมที่เกี่ยวข้องลงนามก็พอแล้ว ไม่จำเป็นที่แพทองธารและรัฐมนตรีของไทยต้องไปด้วยตัวเอง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี