เมื่อกล่าวถึงเรื่อง “ความคิดในการใช้กฎหมาย” เราคงไม่ค่อยคุ้นกับคำกล่าวนี้นัก และเมื่อยิ่งกล่าวไปถึงคำว่า “การเปลี่ยนแปลงความคิดในการใช้กฎหมายให้ประสานกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลง” ก็อาจทำให้เกิดข้อสงสัยเพิ่มขึ้นว่า สองคำดังกล่าวนี้มีลักษณะที่เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร
ในเรื่องความคิดในทางกฎหมาย ท่านศาสตราจารย์ หยุด แสงอุทัย เป็นอาจารย์ท่านแรกที่ได้นำเรื่องนี้มาเขียนไว้ในคำบรรยายความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปของท่าน โดยได้กล่าวถึงความคิดในทางกฎหมายไว้ตอนหนึ่งว่า...
“แต่เดิมเราเคยคิดกันว่า ถ้าเราทราบหลักเกณฑ์เรื่องการตีความในกฎหมายและการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแล้ว เราก็ถือว่า เราสามารถใช้กฎหมายได้ถูกต้อง แต่ความจริงกลับปรากฎว่า นักกฎหมายที่ศึกษากฎหมายมาจากสำนักกฎหมายเดียวกัน มีหลักเกณฑ์แห่งการตีความในกฎหมาย และการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายอย่างเดียวกัน แต่ก็หาได้ใช้กฎหมายในรูปลักษณะเดียวกันไม่ กล่าวคือ ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเดียวกันว่าส่งผลในกฎหมายแตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะคนหนึ่งเข้าใจกฎหมายไปอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งเข้าใจกฎหมายไปอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุว่า บุคคลต่างๆ เหล่านั้น โดยรู้สึกตัวก็ดี หรือไม่รู้สึกตัวก็ดี มีความคิดในทางกฎหมายไม่เหมือนกัน ฉะนั้นจึงเป็นข้อสำคัญของนักศึกษาที่จะทราบว่าตนเองสมควรที่จะมีความคิดในทางกฎหมายอย่างไร จึงจะเป็นความคิดที่ถูกต้อง และจะได้นำความคิดในทางกฎหมายที่ถูกต้องมาใช้เพื่อทำให้เกิดความยุติธรรมแก่คู่กรณีซึ่งความยุติธรรมนี้ควรเป็นยอดปรารถนาของนักกฎหมายทุกคนที่จะก่อให้เกิดขึ้น”
ความคิดในการใช้กฎหมาย แสดงความหมายอยู่ในตัวเองแล้วว่าจะต้องมีการ “คิด” ก่อน “ใช้” ตรงกับคำพูดที่เราพูดกันอยู่เสมอว่า “ต้องมีความรู้สึกนึกคิด” ฉะนั้นก่อนที่จะมีการใช้กฎหมายซึ่งได้แก่ การปรับตัวบทกฎหมายให้เข้ากับมูลคดีหรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เราก็จะต้องเริ่มต้นจากการคิดที่จะใช้กฎหมายก่อน ฉะนั้นถ้าได้เริ่มจากการคิดที่ถูกต้อง ก็จะส่งผลไปถึงการใช้ที่ถูกต้องด้วย
การใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริง จึงมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ เป็นการคิดจากเหตุมาหาผลซึ่งจัดเป็นลำดับขั้นตอนได้ดังนี้
๑.เป็นเรื่องอะไร
๒.มีหลักเกณฑ์ของกฎหมายสำหรับเรื่องนั้นอย่างไร
๓.ข้อเท็จจริงเข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมายนั้นฯ
หรือไม่
๔.ถ้าข้อเท็จจริงเข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมายแล้ว จะได้ผลอย่างไร
เมื่อเราได้ทราบว่า การที่จะใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้องนั้นได้แก่ วิธีคิด จากเหตุมาหาผล ตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว และแต่ละขั้นตอนนั้น เรายังจะต้องมีความคิดในทางกฎหมายที่ถูกต้องอีกด้วย จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ด้วย อันตรงกับสาขาวิชาหนึ่งที่เรียกว่า “วิธีใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์เพื่อสอบสวนหาความจริง” หรือ “วิธีวิทยา” (Methodology) อันเป็นสาขาหนึ่งของวิชาตรรกวิทยา (Logic) นั้นเอง
เหตุที่จำเป็นต้องศึกษาถึงเรื่องความคิดในการใช้กฎหมายก็เพราะว่า ระบบกฎหมายที่ใช้อยู่ในโลกนี้มีอยู่หลายระบบ ที่ไม่เหมือนกันแต่ละระบบก็มีความคิดที่แตกต่างกัน และแม้แต่จะเป็นกฎหมายของประเทศเดียวกันก็ต้องมีความคิดในทางกฎหมายแตกต่างกันตามประเภทของกฎหมายที่แตกต่างกันอีกด้วย เช่น ความคิดในการใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ต้องมีความคิดแตกต่างกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ผู้ใช้กฎหมายจะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ในเรื่องการใช้กฎหมายให้ตรงกับความคิดของระบบกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศไทย กล่าวคือ ประเทศไทยใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) อันแตกต่างกับระบบ Common Law เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายแล้ว ความสำคัญจึงอยู่ที่ตัวบท ถ้อยคำต่างๆ ที่ใช้อยู่ในตัวบทนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้น องค์ประกอบของกฎหมายก็ดี หลักเกณฑ์ก็ดี จะต้องเกิดโดยตรงจากตัวบท ผู้ใช้กฎหมายจะคิดเพิ่มเติมหรือตัดทอนตามอำเภอใจไม่ได้
แต่ในระบบ Common Law ผู้ใช้กฎหมายอาจสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดปรับปรุงกฎหมายจารีตประเพณีให้สอดคล้องเหมาะสมกับเหตุการณ์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ได้อยู่เสมอ ฉะนั้น ความคิดของนักกฎหมาย Common Law จึงมีการเปลี่ยนแปลงความคิดไปในทางวางหลักปฏิบัติมากกว่าการวางหลักเกณฑ์
และสามารถใช้กฎหมายให้เหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ได้ตามธรรมชาติที่เป็นจริงได้ง่ายกว่าระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร
ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงความคิดในการใช้กฎหมายให้ประสานกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลง จึงเห็นได้ว่า ในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) ย่อมเปลี่ยนแปลงความคิดได้ยากกว่าระบบกฎหมายจารีตประเพณี หรือ ระบบ Common Law ของอังกฤษ
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าประสงค์จะใช้กฎหมายให้ประสานกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลง ผู้ใช้กฎหมาย ในระบบประมวลกฎหมายหรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรก็อาจสามารถที่จะกระทำได้ การพิจารณาปัญหาข้อนี้ขอให้เราย้อนมาพิจารณาวิเคราะห์ศัพท์พื้นๆ และง่ายๆ ของกฎหมายที่ว่า “กฎหมาย คือ หลักข้อบังคับความประพฤติที่บัญญัติขึ้น และบังคับโดยผู้ทรงอำนาจอธิปไตย” จากวิเคราะห์ศัพท์นี้ แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีนี้มองกฎหมายในแง่แบบพิธีเท่านั้น มิได้ยอมรับหรือการสำรวจตรวจสอบถึงเนื้อหาของข้อเสนอต่างๆ ทางกฎหมาย กฎหมายจึงเปรียบเสมือนยานพาหนะที่สามารถบรรทุกสินค้าใดๆ ก็ได้ กฎหมายที่มีลักษณะกดขี่และไม่ยุติธรรมก็ใช้บังคับได้สมบูรณ์เช่นเดียวกับกฎหมายที่ดีที่สุด
แต่ถ้าเราให้คำวิเคราะห์ศัพท์ของกฎหมายขึ้นใหม่ว่า “กฎหมาย คือ ข้อจำกัดขอบเขตแห่งผลประโยชน์ต่างๆ” ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ภาระของกฎหมายที่รัฐรับรู้บัญญัติขึ้นจึงอยู่ที่การแบ่งสรรปันส่วนขอบเขตของผลประโยชน์ และธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์นั้นๆ โดยการใช้รัฐเป็นตุลาการคอยระวังดูแลเรื่องผลประโยชน์ที่ขัดกันต่างๆ ดังนั้น กฎหมายที่ดีจะต้องแบกภาระทั้งหลายที่จะมีอิทธิพลต่อผลประโยชน์ต่างๆ ในชีวิตของสังคม โดยมอบหมายให้รัฐหยิบยกเอาผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาพิจารณาเอาใจใส่เป็นพิเศษ เช่น การสาธารณสุข การศึกษา ความเดือดร้อนของเกษตรกร และชาวนา เป็นต้น
สังคมใดที่มีความเหลื่อมล้ำหรือมีช่องว่างในทางเศรษฐกิจที่ห่างกันมากระหว่างความ “มี” กับ “จน” ถ้าจะนำกฎหมายมาใช้ให้ประสานกับสภาพของสังคมดังกล่าว ถ้าเราใช้กฎหมายในลักษณะที่เท่าเทียมกันต่อบุคคลทุกคน ตามลักษณะของกฎหมายทั่วๆ ไปที่เรายึดถือปฏิบัติอยู่แล้ว ก็ไม่อาจที่จะแก้ปัญหาช่องว่างดังกล่าวได้ การใช้กฎหมายทางสังคมบางลักษณะ เพื่อมีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแนวความคิดในการ “สร้าง” และใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน หรืออย่างน้อยก็เกือบจะเท่าเทียมกัน กฎหมายในลักษณะนี้ได้แก่ กฎหมายที่คุ้มครองสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของคนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่สามารถปรับตัวในการดำรงชีวิต อันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น การมีรายได้ต่ำเป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นเกษตรกรหรือชาวนาที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือผู้ที่มีอายุมาก เป็นต้น
สำหรับผู้มีส่วนใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะอยู่ในสถาบันใดก็จะต้องเปลี่ยนแปลงความคิดและยอมรับความคิดใหม่ๆ เข้ามาประสานกับการใช้กฎหมายในสภาพของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยไม่ใช่กฎหมายในลักษณะที่แข็งกระด้าง หรือเคร่งครัดตามตัวบทจนเกินไป โดยไม่คำนึงถึงลักษณะอันเป็นส่วนรวมอื่นๆ ที่มีอยู่ในสังคมด้วย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี