ภายหลังจากสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชมังกะยอชวาแห่งอาณาจักรหงสาวดีในปีพุทธศักราช ๒๑๓๕ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรที่ทรงช้างศึกนามเจ้าพระยาไชยานุภาพ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าพระยาปราบหงสาวดี ทรงสามารถใช้พระแสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชที่ทรงช้างพลายพัทธกอ บริเวณพระอังสะข้างขวาลงไปจนเกือบจะขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง และทำให้ทัพของพม่าที่มีจำนวนมหาศาล ต้องยกทัพกลับ จากการที่จะยกทัพเข้ามายึดกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถือว่าเป็นการพ่ายแพ้ของพม่า
สงครามยุทธหัตถีดังกล่าวเกิดขึ้นที่ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีระยะทางห่างจากกรุงศรีอยุธยาพอสมควร จะเห็นได้ว่าเมื่อทางกรุงศรีอยุธยาได้ทราบข่าวว่าพม่าจะยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาโดยมีกำลังพลมหาศาลนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงตัดสินพระทัยที่จะยกทัพออกไปสู้รบกับทัพของพม่า นอกกรุงศรีอยุธยา เพราะทรงเห็นว่าหากจะตั้งรับอยู่นั้นจะเป็นการเสียเปรียบกองทัพพม่าอย่างแน่นอน ซึ่งการตัดสินพระทัยของพระองค์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
หลังจากการศึกครั้งนั้นแล้ว สงครามระหว่างไทยกับพม่าที่เกิดจากพม่ายกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยาอีกก็ไม่เกิดขึ้นเลยเป็นระยะเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี จนกระทั่งถึงสมัยของพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์คองบอง ที่ได้ยกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. ๒๓๐๒ อันเนื่องมาจากความขัดแย้ง ระหว่างพม่าและกรุงศรีอยุธยา ด้วยเข้าใจว่ากรุงศรีอยุธยาให้ความสนับสนุนแก่พวกมอญที่เมืองมะริด ตะนาวศรีประกอบกับพระองค์ยึดถือคติของพระจักรพรรดิ ต้องการจะแผ่ขยายศักดานุภาพให้ทั่วทั้งชมพูทวีป
พระองค์ได้ยกทัพจำนวน ๔๐,๐๐๐ คนจากเมืองย่างกุ้ง โดยมีเจ้าชายมังระ ราชบุตร และมังฆ้องนรธา เป็นแม่ทัพหน้ายกเข้าโจมตีเอาชนะเมืองมฤตตะนาวศรี จากนั้น จึงร่วมกับกองทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญา ยกทัพเข้าสู่แดนสยามทางด้านด่านสิงขร
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ หรือที่รู้จักกันดีว่าพระเจ้าเอกทัศน์ พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๓๓ ของอาณาจักรอยุธยา ได้ส่งกองทัพออกไปสู้รบกับทัพของพม่า แต่เนื่องจากฝ่ายไทยขาดประสบการณ์ในการรบมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ทหารทั้งหลายจึงไม่มีฝีมือพอเพียงที่จะสู้รบกับทัพพม่าทำให้ต้องพ่ายแพ้กลับมา
ทัพพม่าได้เข้าโจมตีหัวเมืองรายทาง ตีได้เมืองปราณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี จนถึงสุพรรณบุรี ส่วนกรุงศรีอยุธยาใช้ยุทธศาสตร์ในการตั้งรับภายในพระนคร โดยมีความเชื่อว่ากำแพงของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งวิศวกรชาวฝรั่งเศสมาช่วยสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นมีความแข็งแรงเพียงพอ ตลอดจนต้องการรอให้ถึงฤดูฝนเนื่องจากเชื่อว่า น้ำเหนือที่หลากมาจะท่วมในบริเวณรอบกรุงศรีอยุธยา ทำให้พม่าต้องถอยทัพกลับไป
ทัพของพระเจ้าอลองพญายกมาถึงชานกรุงศรีอยุธยาในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๐๓ ได้ใช้ปืนใหญ่ยิงเข้าใส่พระนคร ทำให้ชาวกรุงถูกสังหารจำนวนมาก แม้แต่ยอดประสาทของพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ก็หักพังลงด้วย
ต้องถือว่าเป็นโชคของชาติไทยในเวลานั้น เนื่องจากพระเจ้าอลองพญามีอาการประชวรในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๐๓ ซึ่งพงศาวดารไทยบางฉบับเชื่อว่าพระองค์ต้องสะเก็ดปืนใหญ่ที่ระเบิดใส่จนบาดเจ็บ จนถึงกับทำให้ต้องถอยทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา โดยเสด็จกลับทางด่านแม่ละเมาเมืองตาก โดยพระองค์สิ้นพระชนม์ในระหว่างการเสด็จกลับพม่าในเดือนพฤษภาคของปีนั้น
การพ่ายแพ้ของพระเจ้าอลองพญา กลับกลายเป็นบทเรียนสำคัญในการที่ทำให้ฝ่ายพม่าโดยเฉพาะเจ้าชายมังระราชบุตรได้เรียนรู้ยุทธศาสตร์และของกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนนำข้อผิดพลาดทางด้านยุทธศาสตร์ของฝ่ายพม่าเองมาปรับปรุง จึงนำมาสู่ความพร้อมในการยกทัพมาโจมตีกรุงศรีอยุธยาในครั้งต่อมา หลังจากที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติในปีพ.ศ. ๒๓๐๖
การรุกรานอยุธยาครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๓๐๘ พระเจ้ามังระได้ให้เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพยกทัพมาจากทางทิศเหนือด้วยกำลังพลประมาณ ๒๐,๐๐๐ นาย ได้รบเอาชนะหัวเมืองทางเหนือ ได้แก่สุโขทัย สวรรคโลก นครสวรรค์ และอ่างทอง และร่วมกับกองกำลังของทางล้านนาอีกส่วนหนึ่ง ส่วนทางทิศใต้ได้ให้มังมหานรธานำทัพ ๒๐,๐๐๐ นาย ยกทัพผ่านานทวายเข้ามาทางด้านตะวันตกของไทย มายังเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี
ทัพทั้งสองได้เข้ามาถึงชานกรุงศรีอยุธยาพร้อมกันในต้นปีพ.ศ. ๒๓๐๙ และเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาเกือบจะทุกด้าน โดยล้อมอยู่เป็นเวลาถึง ๑๔ เดือน นับตั้งแต่กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๐๙ จนถึงเมษายน พ.ศ ๒๓๑๐
การรบครั้งนี้พม่าเตรียมแผนมาเป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของการจัดเตรียมเสบียงอาหารสะสมไว้ตลอดทาง รวมทั้งช่วงระยะเวลาที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ และเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ก็จะมีการเคลื่อนย้ายกองทหารและสรรพาวุธต่างๆ ขึ้นไว้บริเวณที่ดอนทั้งหมด ตลอดจนการจัดสร้างแพขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นที่พักของทหารทั้งหลายด้วย
การล้อมอยู่นานนั้น ก็ทำให้กรุงศรีอยุธยาขาดเสบียงอาหาร เกิดความอดอยากทั้งทหารและราษฎร และถึงแม้กำแพงของกรุงศรีอยุธยาจะสูงและมีความแข็งแรง แต่พม่าก็ใช้วิธีการขุดอุโมงค์ลอดกำแพงกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มต้นที่ตำบลหัวรอ เมื่อขุดจนถึงรากฐานของกำแพง ก็ก่อไฟเผาจนกระทั่งกำแพงเมืองพังทลายลง เป็นโอกาสให้ทัพพม่าสามารถเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ในที่สุดในวันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๕ซึ่งตรงกับวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐
ทัพของพม่าได้สังหารราษฎรไทยไปไม่น้อยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน รวมทั้งได้เผาทำลายปราสาทราชวัง วัดวาอาราม บ้านเรือนราษฎร และปล้นทรัพย์สินกลับไปเป็นจำนวนมาก ส่วนพระเจ้าเอกทัศน์ได้หนีออกจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อซ่อนตัว แต่ในที่สุดก็สวรรคตโดยเชื่อว่าเกิดจากการอดพระกระยาหารเป็นระยะเวลานาน โดยพระศพของพระองค์นั้น พม่าได้นำไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุ หน้าวิหารวัดมงคลบพิตร
จึงเห็นได้ว่าในการศึกสงคราม ผู้ที่รุกรบอย่างมีชั้นเชิงและมียุทธวิธีที่ดี จะเป็นผู้ชนะเสมอ ดังเช่นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือพระเจ้ามังระ ส่วนการตั้งรับนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจะเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำตลอดเวลาจนพ่ายแพ้
หันมาดูเรื่องการเมืองของประเทศ ณ ขณะนี้ ภายใต้การบริหารของนายกฯหญิง จากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตั้งแต่เข้ามาบริหารบ้านเมือง รัฐบาลชุดนี้รวมทั้งชุดก่อนหน้านี้ ไม่สามารถบริหารบ้านเมือง ให้เกิดความเจริญก้าวหน้า มีความเติบโตทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขได้เลยแม้แต่น้อย
นโยบายประชานิยม ทำให้ประชาชนบางส่วนกลายเป็นผู้ที่งอมืองอเท้า ถึงแม้จะได้รับปัจจัยมาช่วยให้ชีวิตดีขึ้นชั่วคราว แต่ชาติต้องสูญเสียเงินงบประมาณซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จำนวนมหาศาล โดยไม่ได้ทำให้เกิดพายุหนุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่โอ้อวดไว้เลย
การพยายามแบ่งปันผลประโยชน์ชาติให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งดูเหมือนไม่เคยเป็นมิตรอย่างจริงใจกับชาติของเราเลย โดยยกเอาข้อตกลงที่เรียกว่า MOU ๔๔ ในการจัดการพื้นที่ทางทะเลบริเวณเกาะกูด ทั้งที่เป็นพื้นที่ของไทย ให้เขามาได้ประโยชน์ด้วย จึงเป็นการกระทำที่น่าจะขาดสติและสิ้นคิด ก็หวังว่าเรื่องนี้จะถูกระงับไป
การที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่อาจจะมีประโยชน์ในการสร้างความสามัคคีของประชาชนที่มีความคิดต่างทางการเมือง แต่กลับมีการสอดแทรกที่จะทำให้มีการแก้หรือปรับปรุงกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งเป็นกฎหมาย ที่จะคุ้มครองพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ ซึ่งเป็นประมุขของประเทศตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ อันเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้ และหากกฎหมายนี้ ผ่านออกไปได้ ย่อมเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงแน่นอน
ความมุ่งมั่นในการออกกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร ก็ถือเป็นเรื่องเลวร้าย อีกเรื่องหนึ่ง ที่จะทำให้สังคมไทยเสื่อมโทรมและเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ ผลที่ได้จากการจัดเก็บภาษี ที่รัฐบาลโฆษณาไว้ว่าจะนำเงินที่ได้นั้น มาใช้บริหารประเทศได้อย่างมากมาย ก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริงแน่นอน เพราะไม่มีชาติใดเคยเปิดบ่อนกาสิโน แล้วได้เงินบาปนั้นมาบริหารประเทศให้เจริญได้
ศึกใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือสงครามภาษีที่สหรัฐอเมริกากำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน มีผู้คิดคำนวณว่าอาจจะทำให้ GDP ของประเทศ ลดลงเหลือน้อยกว่า ๒% ก็เป็นได้ แม้แต่การจะเดินทางไปเจรจาก็ยังไม่สามารถจะเกิดขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้ความสำคัญกับชาติของเรา หรืออาจจะเป็นกลยุทธ์ในการต่อรอง ที่จะรุกเราจนตั้งตัวไม่ติดก็ได้
นี่ยังไม่นับเรื่องของการทุจริตในวงราชการ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ที่มีตัวอย่างเห็นได้ชัดจากอาคาร สตง. ที่กำลังก่อสร้าง มูลค่ามากกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาทต้องถล่มลงจากแผ่นดินไหว ในขณะที่อาคารสูงอื่นๆ ทั่วประเทศ ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงแต่อย่างใด
หากรัฐบาลนี้ยังบริหารบ้านเมืองแบบนี้และไม่มีเรื่องใดที่จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจได้เลย ก็จะเป็นเรื่องที่ทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหาย ประเทศชาติจะยากจน ประชาชนจะหมดความสุข เป็นการบริหารที่เปรียบเสมือนการศึกที่ไม่สามารถจะทำการรบแบบรุกอย่างมียุทธวิธีได้แม้แต่น้อย ซึ่งก็มีแต่จะแพ้ ก็น่าจะถึงเวลาที่รัฐบาลนี้ต้องพิจารณาตัวเองแล้วว่า จะเป็นผู้บริหารประเทศนี้ต่อไปหรือไม่
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี