1. ผนังปล่องลิฟต์ จุดเริ่มต้นตึกสตง.ถล่ม ?
ก่อนหน้านี้ นายอมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุของตึกถล่ม ระบุว่า น่าจะมาจากปล่องลิฟต์ เพราะจากการตรวจสอบพบว่า จุดตั้งต้นของตึกถล่มมาจากปล่องลิฟต์ด้านหลังอาคารที่ถล่มลงมาก่อน จากนั้นโครงสร้างทั้งหมดยุบตัวลงมา
มีการแก้ไขแบบผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) โดยปรับแบบผนังคอนกรีตเสริมเหล็กรับแรงเฉือน (Shear Wall) ให้บางลงเป็น 25 ซม. จาก 30 ซม. อาจกระทบการรับน้ำหนักโครงสร้างได้
ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ก็ได้วิเคราะห์ พร้อมนำเสนอแบบจำลองคร่าวๆ ว่าต้นเหตุอาคารวิบัติถล่มลงมาแบบแพนเค้กครั้งนี้ น่าจะมาจากผนังปล่องลิฟต์ เป็นจุดตั้งต้นของการถล่มเป็นแพนเค้ก
“จากคลิปที่เราเห็นชัดเจนว่ากำแพงปล่องลิฟต์จะวิบัติก่อน เพราะเลื่อนลงมาก่อนที่เสาจะถูกเฉือนในเสี้ยววินาที อาคารเหมือนลอยในอากาศและถล่มลงมาด้วยน้ำหนักของตัวเอง ซึ่งการที่เสาบิดเป็นเรื่องปกติ สถาปนิกและวิศวกรสามารถออกแบบให้ปล่องลิฟต์ไม่อยู่ตรงกลาง แต่ถ้าติดขอบ จะเกิดแรงเหวี่ยงได้ วิศวกรต้องออกแบบให้รับแรงบิดตัวนี้ได้จึงจะปลอดภัย แต่กรณีนี้ผมไม่รู้ว่าทำไมรับไม่ได้ กรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นต้องไปหาคำตอบมา” –ดร.วรศักดิ์
2. ปรับลดความหนาผนังปล่องลิฟต์ เพื่อรักษางานตกแต่งภายใน?
ล่าสุด สตง.ยอมรับว่ามีการแก้แบบปล่องลิฟต์จริง เนื่องจากแบบงานโครงสร้างขัดกับงานสถาปัตยกรรมภายใน
สตง. ชี้แจงว่า ได้ทำสัญญาว่าจ้างเอกชน ดังนี้
ผู้รับจ้างออกแบบ (กิจการร่วมค้า บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด)
ผู้รับจ้างก่อสร้าง (กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด)
และผู้รับจ้างควบคุมงาน (กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด)
สตง.ยอมรับว่า มีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์บางจุดเกิดขึ้นในช่วงการบริหารสัญญาระหว่างดำเนินการก่อสร้าง
โดยผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน กล่าวคือ ขนาดของผนังปล่องลิฟต์บริเวณทางเดินเมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งตามแบบ ทำให้ทางเดินมีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 สตง. จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
ผู้รับจ้างก่อสร้าง พบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับงานสถาปัตยกรรมภายใน จึงได้สอบถาม/ขอความเห็นไปยังผู้รับจ้างควบคุมงาน
ผู้รับจ้างควบคุมงาน ในฐานะตัวแทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือ (Request For Information: RFI) เพื่อสอบถาม/ขอความเห็นไปยังผู้รับจ้างออกแบบ ซึ่งทั้งผู้รับจ้างออกแบบและผู้รับจ้างควบคุมงานเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามสัญญาจ้าง
ผู้รับจ้างออกแบบ ให้ความเห็นตามหนังสือ (RFI) โดยกำหนดรายละเอียดการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (CORE LIFT)
จากความหนา 0.30 เมตร เป็น 0.25 เมตร บริเวณด้านทางเดิน
และเพิ่มปริมาณเหล็กเสริมให้มั่นคงแข็งแรงตามหลักการทางวิศวกรรม
พร้อมจัดทำรายการคำนวณและลงนามรับรอง เพื่อให้ความกว้างช่องทางเดินถูกต้องตามกฎหมายกำหนด และสอดคล้องกับรูปแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน แล้วส่งกลับมายังผู้รับจ้างควบคุมงาน
ผู้รับจ้างควบคุมงาน แจ้งรายละเอียดการปรับแก้ของผู้รับจ้างออกแบบเพื่อให้ผู้รับจ้างก่อสร้างดำเนินการจัดทำแบบขยายสำหรับการก่อสร้างตามความเห็นของผู้รับจ้างออกแบบ โดยผู้รับจ้างควบคุมงานได้ตรวจสอบความถูกต้องและส่งให้ผู้รับจ้างออกแบบพิจารณาและรับรองความถูกต้องของแบบที่จัดทำแล้วส่งกลับมายังผู้รับจ้างควบคุมงาน
ผู้รับจ้างก่อสร้างได้เสนอราคารายการงานที่เปลี่ยนแปลงโดยมีราคาลดลงเป็นจำนวนเงิน 515,195.36 บาท (ห้าแสนหนึ่งหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยเก้าสิบห้าบาทสามสิบหกสตางค์) รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสนอขอแก้ไขวงเงินในสัญญาจ้างตามจำนวนเงินดังกล่าว โดยผู้รับจ้างควบคุมงานได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องตามที่ ผู้รับจ้างก่อสร้างเสนอ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา
ผู้รับจ้างควบคุมงาน รายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดข้างต้นเสนอมายังคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ในงานจ้างก่อสร้างเพื่อพิจารณาให้ความเห็น
คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้าง เสนอความเห็นต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะผู้ว่าจ้าง เพื่อพิจารณาอนุมัติการแก้ไขสัญญา
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาให้ความเห็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของรายการโดยไม่เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพัน
คู่สัญญา ลงนามการแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้าง โดยนำแบบรูปและรายการละเอียดที่แก้ไขเพื่อเป็นเอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา...
3. ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต วุฒิวิศวกร ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจอีกครั้ง หลังทราบว่า สตง.ยอมรับว่ามีการแก้แบบผนังปล่องลิฟต์จริง
ว่าด้วยเรื่อง“8 วินาทีที่พิสูจน์ความจริง: ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ของการถล่ม” ระบุว่า
“ในการบรรยายของผมที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมเรียนให้ที่ประชุมทราบว่า เจตนาของผมคือต้องการเข้าใจว่า การที่อาคาร สตง. ถล่มเป็นรูปแบบของแพนเค้ก (Pancake Collapse) จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย เกิดจากกลไกการวิบัติ (Mechanism) แบบใด
คำตอบที่ผมค่อนข้างมั่นใจคือ “การวิบัติโดยสิ้นเชิงของอาคารนี้ เกิดจากกลไกของการบิดตัวของอาคารที่ไม่สมมาตรจากแผ่นดินไหว ทำให้กำแพงปล่องลิฟต์และเสารับแรงบิดรอบตัวเองไม่ได้ จึงถูกทำลายในเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้อาคารในชั่วขณะเหมือนถูกยกลอยในอากาศ และถูกปล่อยลงมาด้วยน้ำหนักตัวเอง จึงมีอำนาจการทำลายมหาศาล”
การวิบัตินี้มีองค์ประกอบที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ 3 ข้อซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ คือ:
(1) เป็นการวิบัติโดยสมบูรณ์ (Total Collapse) โดยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร หรือแม้กระทั่งกำแพงปล่องลิฟต์ค้างคาอยู่
(2) อาคารถล่มในแนวดิ่งโดยไม่เกิดการเอียง
(3) อาคารใช้เวลาวิบัติเพียง 8 วินาที (โดย 3 วินาทีแรกใช้ในการทำลายกำแพงและเสาชั้นล่าง และ 5 วินาทีหลังใช้เท่ากับเวลาที่วัตถุถูกปล่อยจากดาดฟ้าอาคารตกลงมาสู่พื้นดิน จึงนับได้ว่าเป็นเวลาที่กระชับมาก)
ผมยังยืนยันว่า ผมไม่ได้มีความประสงค์ตรวจสอบเพิ่มเติมว่า อะไรเป็นสาเหตุหรือมีส่วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปล่องลิฟต์และเสามีจุดอ่อนจนไม่สามารถทนทานต่อแรงเฉือนนี้ได้ ผมอยากปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ฝ่ายรัฐตั้งขึ้นสอบสวนหาเอง
อนึ่ง การตั้งข้อสันนิษฐานว่า กลไกการวิบัติ (Mechanism) เป็นอย่างไรนั้น เราจำต้องพิสูจน์ว่า ข้อสันนิษฐานนั้นจะต้องไม่ขัดแย้งกับหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้ง 3 ข้อข้างต้น
ผมได้รวบรวมข้อสันนิษฐานอื่นๆ ที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยไว้ โดยสมมุติถ้าเกิดขึ้นจริง การวิบัติจะสอดคล้องกับหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้ง 3 ข้อดังกล่าวหรือไม่:
1. เครนที่ดาดฟ้ากระแทกหรือฉุดรั้งโครงสร้าง
การวิเคราะห์ : มวลของเครนน้อยกว่ากำแพงปล่องลิฟต์มาก ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะทำให้กำแพงแตกย่อยจนราบกับพื้น (ขัดแย้งทั้ง 3 ข้อ)
2. เสาชั้นบนใกล้ดาดฟ้าหัก ทำให้พื้นถล่มเป็นชั้นๆ
การวิเคราะห์ : การวิบัติจากชั้นบนอาจทำให้พื้นกระแทกชั้นล่างๆ ตามลำดับ แต่ไม่สามารถทำลายกำแพงปล่องลิฟต์ให้แตกละเอียดได้ทั้งหมด อีกทั้งการถล่มแบบนี้จะใช้เวลามากกว่า 8 วินาที ซึ่งไม่สอดคล้องกับเวลาการตกอิสระตามแรงโน้มถ่วง (ขัดแย้งข้อ 1 และ 3)
3. การแตกร้าวในแนวนอนของกำแพงปล่องลิฟต์ เหมือนที่พบในอาคารสูงที่ร้าว 5-6 หลัง
การวิเคราะห์: ลักษณะรอยร้าวในแนวนอนขนานกับพื้น เกิดจากการดัดตัว (bending mode) ในทิศตั้งฉากกับระนาบกำแพง หากกำแพงและเสาวิบัติในลักษณะนี้ อาคารจะต้องเอียงตัวและกำแพงจะไม่แตกละเอียด จนไม่เหลือร่องรอย คือจะแตกเฉพาะจุดที่ค่าโมเมนต์สูงสุดเท่านั้น นอกจากนี้จะต้องใช้เวลามากกว่า 8 วินาทีแน่นอน (ขัดแย้งทั้ง 3 ข้อ)
4. ฐานรากวิบัติจากปรากฏการณ์ดินเหลว (Soil Liquefaction)
การวิเคราะห์: หากวิบัติที่ฐานราก อาคารจะต้องเอียงอย่างเห็นได้ชัด กำแพงจะต้องมีซากเหลืออยู่ให้ตรวจสอบ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดดินเหลวจริงหรือไม่ (ขัดแย้งทั้ง 3 ข้อ)
5. การเชื่อมต่อเหล็กเสริมระหว่างพื้นเข้ากับกำแพงที่ใช้ Coupler ไม่ได้มาตรฐาน อาจกลายเป็นจุดอ่อน
การวิเคราะห์ : แม้อาจเกิดการแยกตัวระหว่างพื้นกับกำแพง ทำให้พื้นหลุด ตกกระแทกเป็นชั้นๆ แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมกำแพงปล่องลิฟต์ถึงแตกละเอียดจนไม่เหลือร่องรอย นอกจากนั้นการถล่มแบบชั้นกระแทกชั้นถัดไปเป็นโดมิโน คงต้องใช้เวลาในการถล่มมากกว่า 8 วินาที (ขัดแย้งทั้ง 3 ข้อ)
6. โครงสร้างอาคารชั้นล่างอ่อนแอ (Soft Story)
การวิเคราะห์: กลไกนี้พบบ่อยในเหตุแผ่นดินไหว โดยวิบัติที่ชั้นที่อ่อนแอทำให้เกิดการพับตัว อาคารจะมีลักษณะ “ขาพับ” ไม่ใช่ “ขาลอย” และต้องมีการเอียงตัวให้เห็น รวมทั้งควรพบร่องรอยกำแพงเหลืออยู่ในซากปรักหักพัง
** หมายเหตุสำคัญ: ที่ผมวิเคราะห์มาทั้ง 6 กรณี ไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์ที่ว่า มันไม่ได้เกิด หรือ เกิดไม่ได้ เพียงแต่บอกว่า สถานการณ์เหล่านี้ จะเกิดจริงหรือไม่จริง มันก็ไม่เป็นเหตุผลที่ทำให้อาคาร สตง. ถล่มเป็นแพนเค้ก คือ ไม่ใช่ Cause กับ Effect กันโดยตรง”
4. เปิดเผยรายชื่อวิศวกร สถาปนิก และผู้รับผิดชอบทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ คำนวณโครงสร้าง และควบคุมงานก่อสร้าง
ล่าสุด องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ทำจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 2 ถึงนายกรัฐมนตรี
เรื่อง ทวงถามความจริง กรณีตึก สตง. แห่งใหม่ถล่ม ใจความสำคัญบางตอน ระบุว่า
“หนึ่งเดือนเต็มหลังเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่พังถล่ม นอกเหนือจากเงินภาษีจำนวน 2,136 ล้านบาทสูญหายไปในพริบตา ยังมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกว่าร้อยคน ค่าใช้จ่ายในการค้นหากู้ชีวิตอีกมหาศาลที่ยังประมาณไม่ได้ จนถึงวันนี้การรื้อซากตึกมีความคืบหน้าไปอย่างมาก แต่สิ่งที่ไม่คืบหน้าเลย คือ เสียงสำนึกความรับผิดชอบของรัฐบาล ศพและซากความเสียหายยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้ มีแต่คำว่ากำลังสืบสวน ประหนึ่งการก่อสร้างอาคารไม่มีขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานปฏิบัติ ไม่มีระบบตรวจสอบที่ถูกต้องชัดเจน
ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนล่าสุดชี้ชัดว่า 98% เชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน นี่ไม่ใช่เพียง “ข้อกล่าวหา” แต่คือสัญญาณเตือนว่าศรัทธาของประชาชนต่อรัฐบาลกำลังพังถล่มลง เช่นเดียวกับตัวอาคาร
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568 เรียกร้องรัฐบาลให้คำตอบภายในวันที่ 28 เมษายน นี้ แต่สิ่งที่ได้คือ ความเงียบที่ไม่สะทกสะท้านต่อเสียงของประชาชน องค์กรฯ จึงขอส่งจดหมายเปิดผนึกอีกครั้งเพื่อทวงถามคำตอบ และแสดงเจตนารมณ์ว่า ถ้าภายใน 15 วันจากวันนี้ หากรัฐบาลไม่มีคำตอบ ประชาชนจะแสวงหาคำตอบเองตามข้อมูลที่ปรากฏ โดยขอแจกแจงประเด็นที่ต้องการคำตอบดังนี้
1. เปิดเผยรายชื่อวิศวกร สถาปนิก และผู้รับผิดชอบทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ คำนวณโครงสร้าง และควบคุมงานก่อสร้าง พร้อมเปิดเผย แบบก่อสร้างฉบับสัญญา แบบแก้ไข และแบบก่อสร้างจริง (As-Built Drawing) อย่างครบถ้วน เพื่อพิสูจน์ว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบหรือบกพร่องในขั้นตอนไหน
2. เปิดเผยผลการตรวจสอบวัสดุก่อสร้าง รายละเอียดการเก็บตัวอย่าง การทดสอบ และการรับรองคุณภาพวัสดุ ว่าเป็นไปตามสัญญาและมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่
3. สอบสวนบทบาทของบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานอย่างละเอียด ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด หรือมีการปล่อยปละละเลยจนเกิดหายนะ ทั้งในการตรวจงานก่อสร้าง และการตรวจสอบ ความถูกต้องของการแก้ไขแบบ
4. ประกาศตัวแทนรัฐบาลที่รับผิดชอบการสอบสวน พร้อมรายชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแผนการดำเนินงานที่มีกรอบเวลาชัดเจน
ขอเรียนย้ำว่า หากภายใน 15 วันนับจากวันที่ออกจดหมายฉบับนี้ รัฐบาลยังคงนิ่งเฉย ไม่มีการชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเป็นรูปธรรม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จำเป็นต้องดำเนินการยกระดับการติดตาม ตรวจสอบ และผลักดันทั้งในระบบและภาคประชาชน เพื่อให้รัฐบาลนำความจริงทั้งหมดออกมาเปิดเผย และเร่งดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม เพื่อยุติวังวนแห่งการปล่อยผ่านความผิดพลาดที่นำไปสู่ความเสียหายใหญ่หลวงเช่นนี้ เพราะความเงียบ เท่ากับการสมรู้ร่วมคิด และความล้มเหลวในการพิทักษ์ความจริง เท่ากับการทรยศคดโกงความเชื่อมั่นต่อประชาชน”
5. จะเห็นว่า ทั้งบริษัทออกแบบ บริษัทควบคุมงานก่อสร้าง สตง. ผู้ตรวจรับงานและอนุมัติให้แก้แบบ หรือแม้แต่กิจการร่วมค้าที่เป็นผู้รับเหมาบริษัทหลักคือ ITD ทั้งหมดล้วนแต่เป็นไทย
น่าแปลกใจว่า ภาครัฐพยายามปั่นกระแสไปจับคดีนอมินีจีนของ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องบริษัทไทย และเจ้าหน้าที่รัฐไทย ยังไม่ถูกดำเนินคดีอะไรกันเลย
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี