ช่วงนี้ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร พ่อ-ลูก มีอะไรให้ลุ้น
ทั้งเสี่ยง ทั้งเสียว
เอาเฉพาะกรณีของบิดา คือ นายทักษิณ ชินวัตร
1. นัดฟังคำสั่งศาลฎีกาฯ กรณีชั้น 14
วันนี้ 30 เมษายน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์
เพื่อฟังคำสั่งตามคำร้องที่นายชาญชัยได้ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 เพื่อขอให้ไต่สวนกรณีที่กรมราชทัณฑ์อนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องคำพิพากษาจำคุก 8 ปี ในคดีทุจริตก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษเหลือ 1 ปี ได้ออกจากเรือนจำไปเข้ารับการรักษาตัวที่ห้องวีไอพี ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
ซึ่งนายชาญชัยเห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89, 89/2(1) (2) และมาตรา 246 และไม่อาจอ้างกฎกระทรวงเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ลงวันที่ 25 ก.ย.2563 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 55 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เพราะขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 27 ม.ค. 2568 ศาลฎีกาฯ นัดให้ชาญชัยไปฟังคำสั่งในคำร้องคดีดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อถึงตอนฟังคำสั่ง ศาลฎีกาฯ อ่านคำสั่งว่า เนื่องจากคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาดำเนินการ จึงให้เลื่อนฟังคำสั่ง โดยไม่ได้มีการไม่รับคำร้องไว้แบบ 2 รอบก่อนหน้านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้นายทักษิณ ชินวัตร แสดงความเห็นล่าสุด ระบุว่า ไม่กังวลอะไรทุกอย่างว่าไปตามกระบวนการ
แต่แน่นอน ย่อมมีการคาดการณ์กันไปต่างๆ นานา
ศาลฎีกาฯ อาจยกคำร้อง หรือศาลอาจจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ทุกฝ่ายย่อมไม่อาจก้าวล่วงอำนาจศาล
แม้เคยมีกรณีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. เคยติดคุก จนกระทั่งมีคำสั่งให้ปล่อยตัวออกมาแล้ว แต่ในปี 2564 ศาลฎีกาให้นับโทษจตุพรต่อในคดีที่ถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฟ้องเรื่องหมิ่นประมาท ทำให้นายจตุพรต้องกลับไปเข้าคุกอีก 11 เดือน 16 วัน แต่นั่นก็เป็นคนละประเด็นข้อกฎหมายกัน
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาธิปัตย์ เคยกล่าวถึงสาเหตุที่ไปยื่นเรื่องนี้
ระบุว่า ส่วนของตนที่ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องย้อนไปในการยื่นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 เรื่องพฤติกรรมซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ ไล่ตั้งแต่ส่งตัวเข้าเรือนจำ และออกจากเรือนจำมา รพ.ตำรวจ ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์มีอำนาจส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษานอกเรือนจำ แต่มีปัญหาต้องพิจารณาคือเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กรณีการชี้ขาดปัญหานี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงยกคำร้องไม่มีการไต่สวน ซึ่งหากเป็นเรื่องการทุจริตหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ ก็ต้องไปผ่านขั้นตอนของ ป.ป.ช. และไปต่อที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
จากนั้น ในวันที่ 15 ก.พ. 2567 ตนได้ยื่นเรื่องเป็นครั้งที่ 2 คราวนี้เป็นเรื่องข้อกฎหมายล้วนๆ เพราะมีกฎหมายระบุว่า การส่งผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำต้องแจ้งให้ศาลทราบ จึงถามไปว่าเป็นอำนาจศาลหรือกรมราชทัณฑ์ ซึ่งศาลก็แจ้งว่าไม่มีการมาขอ แบบนี้ก็เท่ากับเป็นอำนาจของศาล
ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิฯ อาญา) มาตรา 246 ว่าด้วยเรื่องการทุเลาโทษ และเคยมีตัวอย่างคดีเกิดขึ้นแล้ว เป็นกรณีหญิงตั้งครรภ์ร้องเรียนกรณีอธิบดีกรมราชทัณฑ์ไม่ให้ส่งตัวออกไปพักรักษานอกเรือนจำ แต่สุดท้ายศาลมีคำสั่งให้นำตัวออกไปรักษาโดยใช้เหตุเรื่องทุเลาโทษ คดีนี้สู้กันถึงชั้นฎีกา และศาลได้วางบรรทัดฐานว่าการทุเลาโทษตาม ป.วิฯ อาญา มาตรา 246 ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีมาตรการทุเลาโทษก่อนบังคับคดีเท่านั้น หมายถึงจะใช้การทุเลาโทษก่อนหรือหลังบังคับคดีก็ได้
แต่เรื่องนี้กฎหมายจะมีความแตกต่างกันอยู่ หากเป็นมาตรการทุเลาโทษตาม ป.วิฯ อาญา จะถือว่าระหว่างออกไปนอกเรือนจำไม่ถือว่ากำลังถูกจำคุก แตกต่างกับการใช้อำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ (ทั้งฉบับเดิมปี 2479 และฉบับปัจจุบันคือปี 2560) โดยมีกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 ซึ่งเริ่มยกร่างกันในปี 2551 สมัยที่ สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเมื่อรัฐบาลนายสมัครพ้นไป รัฐบาลชุดต่อมาที่ นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็น รมว.ยุติธรรม ก็หยิบร่างกฎกระทรวงนี้มาทำต่อ ซึ่งปัจจุบันกฎกระทรวงฉบับนี้ยังไม่ได้ถูกยกเลิก โดยในหมวด 2 การขังตาม ป.วิฯ อาญา ม.246 ในข้อ 24 ระบุว่า “ให้ผู้ดูแลสถานที่ขังสอบถามผู้ถูกขังในเรื่องอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของสภาพร่างกายและจัดทำบันทึกในเบื้องต้น หากพบว่ามีอาการเจ็บป่วยหรือเห็นว่าจะต้องได้รับการรักษาเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว ต้องรีบจัดการให้ผู้ถูกขังได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในกรณีที่ผู้ถูกขังตามวรรคหนึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษานอกสถานที่ขัง ให้ผู้ดูแลสถานที่ขังนำตัวผู้ถูกขังไปรักษาพยาบาลยังสถานพยาบาลที่ใกล้เคียงได้และให้รายงานต่อศาลซึ่งสถานที่ขังนั้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจ” ดังนั้น ก็ต้องรายงานต่อศาลด้วย
การที่ วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า เมื่อศาลสั่งขังแล้วที่เหลือเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ รวมถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ก็เคยให้ความเห็นว่า ป.วิฯ อาญา ม.246 หากไม่ขอก็ไม่เกี่ยวกับศาล เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ แต่ตามระเบียบก็บอกอยู่ว่าให้แจ้งต่อศาล ดังนั้น รมว.ยุติธรรม ตอบแบบขัดต่อกฎหมายของตนเอง
ส่วนที่ไปอ้างถึงกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ที่ออกตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 นั้น ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ก็ระบุว่าการออกกฎกระทรวงต้องไม่ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ที่สำคัญคือทั้งนายวิษณุ และ พ.ต.อ.ทวี รู้หรือไม่ว่า กฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 ยังไม่ได้ถูกยกเลิก ยังมีผลบังคับใช้อยู่
“อันนี้ทำผิดกันเยอะ ถ้าไม่เกิดเรื่องนี้ก็ไม่ได้ค้นตัวนี้ออกมาใช้กัน แล้วก็รู้กันอยู่ไม่ใช่ไม่รู้ คนที่ปฏิบัติจริงคือราชทัณฑ์ เพราะใช้ระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมออกให้ราชทัณฑ์ ถ้าปัจจุบัน (กฎกระทรวงปี 2563) ที่เอาคุณทักษิณไป มันมีอยู่ 2 โรคเอง เป็นโรคสุขภาพจิต หรือโรคติดต่อ ไม่บอกว่าโรคไหล่เอียงหรืออะไรทั้งสิ้น แต่อันนี้ (กฎกระทรวงปี 2552) เป็นโรคไหนก็แล้วแต่ เอาไปรักษาเลย แต่ไปแจ้งให้ศาลรู้ ถ้าแจ้งให้ศาลรู้ศาลจะไต่สวนทันที หรือจะไม่ไต่สวน แต่ต้องแจ้งก่อน” นายชาญชัย กล่าว
นี่คือประเด็นที่มาที่ไปของการร้องต่อศาลฎีกา และกำลังลุ้นกันในวันนี้
2. แพทยสภา
การประชุมบอร์ดใหญ่แพทยสภา วันที่ 8 พ.ค.นี้
ติดตามว่า คณะกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจฯ จะสามารถสรุปผลการสอบสวนส่งเข้าที่ประชุมใหญ่แพทยสภาในวันดังกล่าวได้หรือไม่
หรือจะต้องเลื่อนออกไปอีก
หลังก่อนหน้านี้เลื่อนมาแล้วเมื่อ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา
3. ป.ป.ช.
การไต่สวนของ ป.ป.ช. อาจรอผลสอบ-มติของแพทยสภาที่จะออกมา เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลสำคัญในไต่สวนคดีของ ป.ป.ช.
เพราะจะเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักว่านายทักษิณป่วยหนักจริงหรือไม่?
ป.ป.ช.ชุดใหญ่เป็นองค์คณะไต่สวน ผลสรุปของแพทยสภา แม้จะยังไม่สรุปบทลงโทษแพทย์ แต่ถ้าชี้ว่ามีการฝ่าฝืนจริยธรรม ก็ย่อมจะมีผลต่อรูปคดีของ ป.ป.ช.
4. นายเชาว์ มีขวด ทนายความ มองกรณีศาลฎีกาฯ ว่ามีอำนาจที่จะไต่สวนได้
ระบุว่า ก่อนหน้านี้นายชาญชัย เคยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 และเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2567 ศาลมีคำสั่งยกคำร้องทั้งสองเรื่องโดยไม่ต้องไต่สวน
โดยให้เหตุผลว่าเมื่อศาลออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว การบังคับโทษและอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่ต้องไต่สวน
นายชาญชัยจึงยื่นคำร้องอีกเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งเดิม และขอให้รับคำร้องไว้ไต่สวนและมีคำสั่งบังคับโทษจำคุกให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุด และศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 30 เม.ย.นี้
“สำหรับกรณี การป่วยทิพย์และติดคุกทิพย์ของนายทักษิณ ตนเคยเรียกร้องไปที่ป.ป.ช.และอัยการสูงสุด ในฐานะที่เป็นโจทก์ฟ้องคดีนายทักษิณถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง ว่านายทักษิณไม่ได้ต้องคำพิพากษาจำคุกตามคำพิพากษาของศาลจริง แต่ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด นิ่งเฉยไม่กล้าใช้สิทธิ ที่พึงกระทำ ทำให้ประชาชนต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องกันเอง
หากมองกรณีคำร้องของนายชาญชัย เป็นไปได้สูงที่ ศาลจะสั่งว่านายชาญชัยไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาล
แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลเช่นนี้ ประกอบกับกรณี ปัญหาการรับโทษจำคุก ตามคำพิพากษาของนายทักษิณเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคมกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองสามารถใช้อำนาจของศาล รับคำร้องไว้ ไต่สวนได้
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองจะใช้อำนาจที่ตนเองมีอยู่หรือไม่ ถ้าศาลใช้อำนาจรับ กรณีนี้ ไว้ไต่สวน นายทักษิณคงหนีความจริงไม่พ้น ต้องกลับเข้าไปติดคุก ในเรือนจำ ได้เรียนรู้เสียทีว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง คนพยายามยุติความเป็นธรรมเพื่อตัวเองอาจทำได้แค่ชั่วคราว สุดท้ายมีราคาที่ต้องจ่ายตามพฤติกรรมของตัวเอง” – นายเชาว์กล่าว
5.อย่างไรก็ตาม ดร.เสรี วงษ์มณฑา โพสต์ข้อความสั้นๆ เตือนไว้ด้วยว่า
“ถ้า 29 ยังไม่หนี
วันพรุ่งนี้คงไม่มีอะไร
ที่ร้องก็ร้องไป แต่ทำอะไรเขาคงไม่ได้
เขาคือคนที่ใหญ่สุดในประเทศไทย
สลิ่มหวังอะไรคงไม่ได้หรอกนะ”
สรุป วันนี้ รอดูว่า ศาลจะมีคำสั่งอย่างไร? ทุกฝ่ายต้องน้อมรับ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี