29 เม.ย. 2568- นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช. คนเสื้อแดง โพสต์ข้อความว่า “การเผาบ้านเผาเมืองไม่ได้เกิดจากคนเสื้อแดง จัดให้มีบิ๊กคลีนนิ่งเดย์เพื่อทำลายพยานหลักฐานเอาผิดศอฉ.กับรบ.อภิสิทธิ์ให้เกลี้ยงไม่เหลือหรอ”
อ่านแล้วก็ได้แต่คิดว่า “ไอ้นี่แม่งเหวงไม่หาย” 555...
ในรายงานการค้นหาความจริง โดยคณะกรรมการชุด ดร.คณิต ณ นคร ระบุว่า
การเผาสถานที่ในกรุงเทพมหานคร
ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มนปช. ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ถึง ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ อาคารต่างๆ ในจังหวัดกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จํานวน ๓๗ แห่ง โดยเป็นสถานที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ๓ แห่ง คือ การไฟฟ้านครหลวง พระรามที่ ๔ สํานักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ ๑๕ แห่ง คือ ประกอบไปด้วยธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย ๗ แห่ง ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ๒ แห่ง ธนาคารนครหลวงไทย ๒ แห่ง ธนาคารกสิกรไทย ๑ แห่ง ธนาคารออมสิน ๑ แห่ง และธนาคารไทยพาณิชย์ ๑ แห่ง สถานประกอบธุรกิจของเอกชน นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์อีก ๑๙ แห่ง
ทั้งช่วงก่อนและระหว่างการชุมนุมมีการปราศรัยจากแกนนํา นปช. บางคน ปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมทําการเผาอาคารสถานที่หลายครั้ง เช่น
- “ถ้าพวกคุณยึดอํานาจ พวกผมเผาทั่วประเทศ เผาไปเลยพี่น้อง ผม รับผิดชอบเอง แล้วใครจะจับใครจะอะไรมาเอากับผม ถ้าคุณยึดอํานาจ เผา” และ “ใครอยู่ใกล้ตรงไหนก็ ตกใจตรงนั้น เช่นอยู่ใกล้เซ็นทรัลเวิลด์ก็ตกใจเซ็นทรัลเวิลด์ ใกล้เกษรก็ตกใจเกษร ใกล้พารากอนก็ตกใจ พารากอน ถ้าทหารหลายหมื่นคนเข้ามา คนหลายหมื่น คนเป็นแสน ต่างคนต่างวิ่ง ต่างคน
ต่างตกใจ ชนข้าวของในห้างเขาระเนระนาดไปหมด แล้วคนเสื้อแดงตกใจวิ่งชนของแพงเท่านั้นนะครับ”
- “พี่น้องนัดกันคราวหน้า ถ้ารู้ว่า เขาจะปราบปราม ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก มาด้วยกัน ขวดแก้วคนละใบ มาเติมน้ำมันเอาข้างหน้า บรรจุให้ได้ ๗๕ ซีซี ถึง ๑ ลิตร ถ้าเรามาหนึ่งล้านคนในกรุงเทพมหานคร มีน้ำมันหนึ่งล้านลิตร รับรองว่า กทม.เป็นทะเลเพลิงอย่างแน่นอน”
- “นึกว่ายุทธวิธีแบบนี้จะทําให้พี่น้องแตกฉานซ่านเซ็นกลับบ้าน ไอ้เรื่องแตกกลับบ้าน เป็นไปได้ แต่จะบอกให้รู้ไว้ว่า ไฟจะลุกท่วมทั่วตารางนิ้วของประเทศไทย”
- “ขอให้เสื้อแดงซึ่งอยู่ต่างจังหวัด ฟังภารกิจดังต่อไปนี้ ให้ไปรวมตัวกัน อยู่ที่ศาลากลาง รอเวลาให้มีการปราบเมื่อไหร่ ตัดสินใจได้ทันที ทุกจังหวัดให้ไปศาลากลาง ฟังสัญญาณ จากที่นี่ จอมืดเมื่อไหร่แสดงว่ามีการปราบแล้ว พี่น้องมีดุลพินิจจัดการได้ทันที”
ส่วนการชุมนุมคู่ขนานของนปช. เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๓ ในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น ขอนแก่น อุดรธานี เชียงใหม่ เชียงราย ลําปาง น่าน อุบลราชธานี และนครสวรรค์ โดยมีการถ่ายทอดสัญญาณการออกอากาศของสถานีพีเพิลแชนแนล(พีทีวีหรือสถานีประชาชน) ซึ่งรายงานสดการชุมนุมใหญ่จากกรุงเทพมหานคร และการถ่ายทอดการโฟนอิน
ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไปยังเวทีปราศรัยตามจังหวัดต่างๆ ด้วยการชุมนุมคู่ขนานในต่างจังหวัดดําเนิน ไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเรียกระดมผู้ชุมนุมและแจ้งถึงสถานการณ์การชุมนุมในกรุงเทพมหานครให้ผู้ชุมนุมรับทราบผ่านสถานีวิทยุชุมชนของกลุ่มผู้สนับสนุน นปช. ในจังหวัดต่างๆ ทั้งนี้พบการปราศรัย ในการชุมนุม นปช. ทั้งในกรุงเทพมหานคร ต่างจังหวัด รวมถึงการปราศรัยผ่านวีดีโอลิงก์ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ในลักษณะที่เป็นการชี้นําและสั่งการให้ผู้ชุมนุมไปชุมนุมกันที่ศาลากลาง หากเกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร โดยในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ พบว่าผู้ชุมนุม นปช. ได้ ชุมนุมที่ศาลากลางหลายจังหวัด และเกิดเหตุการณ์เผาศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และมุกดาหาร และมีความพยายามเผาศาลากลางจังหวัดเขียงใหม่นั้นแต่โดนขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ แต่มีการเผาบ้านของนายสุรชัย จงรักษ์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่จนได้รับความเสียหายทั้งหลัง
ข้อสังเกต
๑) ต่อข้อสังเกตที่ว่าเจ้าหน้าที่ทหารเผาหรือไม่นั้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กระทําหรือเกี่ยวข้อง โดยพบว่ามีการพยายามวางเพลิงและไฟเริ่มไหม้อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ช่วงเวลาหลัง ๑๔.๐๐ น. ไม่นานหลังแกนนํา นปช.ประกาศยุติการชุมนุม ซึ่งยังมีผู้ชุมนุม อยู่ในบริเวณแยกราชประสงค์ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยไม่มีการห้ามปรามหรือขัดขวางจากกลุ่มผู้ชุมนุม แต่อย่างใด โดยเกิดขึ้นก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยแรกจะสามารถเคลื่อนจากแยกเพลินจิตเข้าไปถึงแยกราชประสงค์ได้ในเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. แต่ได้รับคําสั่งให้ถอนกําลังกลับทันทีเนื่องด้วยเหตุผล ด้านความปลอดภัย ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้ในเวลาหลัง ๒๑.๐๐ น.
๒) ต่อข้อสังเกตที่ว่าการเผาสถานที่ต่างๆ เป็นการวางแผนโดย นปช. หรือไม่ พบว่าผู้เกี่ยวข้องบางส่วนมีการเตรียมอุปกรณ์วางเพลิงและมีการวางเพลิงอย่างมีการจัดตั้ง เช่น การเผาศาลากลางขอนแก่นมีกลุ่มบุคคลคลุมหน้าเข้าไปเผาศาลากลาง แต่ไม่พบหลักฐานว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับแกนนํา นปช. การวางเพลิงบริเวณปากซอยงามดูพลี น่าจะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการของคนชุดดํา การวางเพลิงศาลากลางและสถานที่ในต่างจังหวัด เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี มุกดาหาร และเชียงใหม่ น่าจะเกิดจากการยุยงโดยสถานีวิทยุชุมชนบางแห่ง
๓) ต่อข้อสังเกตที่ว่าการเผาสถานที่ต่างๆ เกิดจากภาวะจลาจลอันเป็นผลจาก การปลุกเร้าในการปราศรัยระหว่างการชุมนุมอันยาวนานและความไม่พอใจที่แกนนํายุติการชุมนุม หรือไม่นั้น พบว่าสภาพการปลุกเร้าดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ทําให้ผู้ชุมนุมบางส่วนพร้อมที่จะก่อความรุนแรง ด้วยการเข้าไปเผาหรือร่วมเผาอาคารสถานที่ต่างๆ ดังนั้น เมื่อมีผู้ชุมนุมหรือบางคนพยายามวางเพลิง จะโดยเตรียมการมาหรือไม่ก็ตาม จึงมีผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นเข้าร่วมปฏิบัติการด้วย เชื่อว่าสภาพดังกล่าวเป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้สถานการณ์การวางเพลิงลุกลามและรุนแรงยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม พบว่า ในจุดเกิดเหตุบางแห่งมีผู้ชุมนุมหรือชาวชุมชนบางส่วนเช่น บริเวณบ่อนไก่ได้พยายามห้าม ปรามและช่วยกันดับเพลิงแต่ถูกขัดขวางโดยผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งและบางกรณีมีการขัดขวางโดยคน ชุดดําที่ยิงปืนเข้าใส่ชาวชุมชนที่พยายามดับเพลิง เช่น กรณีเพลิงไหม้ที่ปากซอยงามดูพลี ตรงข้ามชุมชนบ่อนไก่ เป็นต้น นี่คงพอจะเตือนความจำ “นายเหวง” ให้ทุเลาความเหวงลงได้บ้าง
ยังไม่รวมว่า เหวง โตจิราการ, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธุ์ ยังถูกศาลแพ่ง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ 1762/2554 เวลา 09.45 น. วันที่ 16 ต.ค. 2562 คดีที่
นายประสงค์ กังวาฬวัฒนา เจ้าของกิจการอาคารพาณิชย์ ย่านอนุสาวรีย์ชัย เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน), นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, กระทรวงมหาดไทย,นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และอดีต รมว.กลาโหม ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. และ นพ.เหวง โตจิราการแกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-10 ฐานละเมิดเรียกค่าหาย และผิดตามสัญญาประกันภัย
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องยืน จำเลยที่ 1 ถึง 7 แต่พิพากษาให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ จำเลยที่ 8-10 (แกนนำนปช.) ร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,509,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลฎีกาได้พิพากษาใจความว่า แก้ให้จำเลยที่ 8-10 ร่วมกันชำระค่าอาคารพาณิชย์ที่พิพากษาพร้อมทรัพย์สินที่โจทก์เสียหาย จำนวน 21,356,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พ.ค. 2553 เป็นต้นไป
ที่อยากรู้ก็คือ จนถึงวันนี้ ตู่-เต้น-เหวง ได้ชดใช้ไปแล้วหรือยัง?
จิตกร บุษบา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี