สทน.ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ ITER โครงการนิวเคลียร์ฟิวชันระดับโลก
เพื่อต่อยอดการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันของไทยอย่างเป็นรูปธรรม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเยือน ITER International Fusion Energy Organization และ Institute of Magnetic Fusion Research (IRFM), French Alternative Energies and Atomic Energy Commission (CEA) ณ เมืองคาดาราช สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เพื่อทอดพระเนตรความก้าวหน้าการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน ITER (International Thermonuclear Experimental Reactor) ณ ITER International Fusion Energy Organization รวมทั้ง ทอดพระเนตรการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันและเครื่องโทคาแมค WEST หรือ Tungsten (W) Environment in Steady – State Tokamak ณ IRFM, CEA โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้บริหารจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เฝ้าฯรับเสด็จ
ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. กล่าวว่า ตามที่ สทน.มีแผนงานในการวิจัยและพัฒนาพลังงานด้านนิวเคลียร์ฟิวชัน เพื่อมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันของภูมิภาคอาเซียน โดย สทน. ได้สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 15 แห่งในประเทศ ภายใต้เครือข่ายความร่วมมือทางพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน (CPaF) และได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ พร้อมทำกิจกรรมร่วมกับองค์กรด้านนิวเคลียร์ฟิวชันลำดับต้นๆ ของโลก อาทิ สถาบันพลาสมาฟิสิกส์ Institute of Plasma Physics, Chinese Academy of Science (ASIPP) สาธารณรัฐประชาชนจีน French Alternative Energies and Atomic Energy Commission (CEA) สาธารณรัฐฝรั่งเศส และ Nation Institute of Fusion Sciences (NIFS) ประเทศญี่ปุ่น กิจกรรมที่มีการดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง คือ การส่งบุคลากรด้านนิวเคลียร์ฟิวชันไปศึกษาและร่วมงานวิจัยในหน่วยงานทั้ง 2 แห่ง และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้กับบุคลากรของไทยในรูปแบบการฝึกอบรม นอกจากนั้นยังมีโครงการที่จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของประเทศไทย
ดร.พรเทพ เปิดเผยต่อว่า สำหรับโครงการ ITER หรือ International Thermonuclear Experimental Reactor เป็นโครงการทางวิศวกรรมระดับนานาชาติขนาดใหญ่เพื่อการวิจัยด้านนิวเคลียร์ฟิวชัน และจะเป็นการทดลองพลาสมาฟิสิกส์ในสนามแม่เหล็กขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ในปัจจุบันโครงการมีประเทศสมาชิกจำนวน 7 ประเทศและ 1 กลุ่มประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (28 ประเทศสมาชิก) รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ อินเดีย โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนานำเอาปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันมาพัฒนาเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกในอนาคต
โครงการ ITER เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2013 ที่เมืองคาดาราช ประเทศฝรั่งเศส และมีกำหนดแล้วเสร็จ พร้อมกับเริ่มเดินเครื่องเพื่อผลิตพลาสมาครั้งแรกในปี 2025 โดย ITER ได้รับการออกแบบให้สามารถผลิตพลังงานได้ถึง 500 เมกะวัตต์ เป็นเวลาประมาณ 20 นาที เมื่อใส่พลังงานความร้อนเข้าไปประมาณ 50 เมกกะวัตต์ (นั่นคือ สามารถผลิตพลังงานความร้อนจากพลาสมาได้เพิ่มขึ้น 10 เท่าจากพลังงานความร้อนที่ใส่เข้าไปเพื่อให้ความร้อนในการสร้างพลาสมา) หากโครงการนี้สามารถสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ องค์ความรู้ต่างที่ได้สามารถนำไปพัฒนาสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าในราคาถูกลงและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึก ความเข้าใจระหว่าง ITER International Fusion Energy Organization และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของไทยในด้านพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน โดย ITER เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของไทยเข้าร่วมการฝึกอบรมและดูงานเกี่ยวกับการพัฒนาและการทดลองพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน ณ ITER
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี