วันโรคหืดโลก หรือ world asthma day ปีนี้ตรงกับ 5 พ.ค. 2563 ภายใต้แนวคิดว่า enough asthma death เพื่อลดการเสียชีวิตจากโรคหืด เพื่อกระตุ้นให้บุคคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยและครอบครัว ได้ตระหนักถึงความสำคัญ สร้างความตื่นตัว ทราบอาการของโรค การรักษา ป้องกัน เพื่อลดการผลกระทบและการเสียชีวิตจากโรคหืด ซึ่งจากข้อมูลองค์การอนามัยโลกล่าสุด พบคนไทยเสียชีวิตจากโรคหืดถึง 6,808 ราย โดยคิดเป็น 7.76 รายต่อประชากร 1 แสนคน หรือ 1.3% ของคนที่เสียชีวิตทั้งหมด จัดเป็นอันดับที่ 76 ของโลก และอันดับที่ 5 ในอาเซียน และพบว่าโรคหืดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในคนไทยเป็นอันดับที่ 19
ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตในไทยปีละ 7,000คน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะว่าโรคนี้สามารถรักษาได้ หายได้ ถ้ารักษาเร็วมีโอกาสหายได้สูง โดยอัตราการเสียชีวิตในผู้ใหญ่จะมากกว่าเด็กประมาณ 5 เท่า และกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือคนไข้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เพราะการพ่นยาทำได้ยากกว่า อาการรุนแรงกว่า และหลายคนชินกับอาการหอบโดยที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคหืด
ภาวะอาการหอบ หลายคนจะเข้าใจว่าต้องเริ่มต้นด้วยการหอบ ซึ่งจริงๆแล้วอาการหอบ มักจะเริ่มต้นด้วย “การไอช่วงเวลากลางคืน” จึงได้จัดทำ แอพพลิเคชั่น “Asthma Care” เพื่อให้คนไข้สามารถสังเกตุอาการและดูแลตัวเองได้แม้ในยามฉุกเฉิน โดยมีแผนปฏิบัติการ “Asthma Action Plan” ซึ่งอยู่ในแอพพลิเคชั่นให้คำแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวและสังเกตอาการ
ทั้งนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยอาการของคนไข้โรคหืดอาการคล้ายกับโควิด-19 แต่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ในกรณีคนไข้โรคหืดมักมีอาการไออย่างเดียว มีน้ำมูกบ้างแต่ไม่มีไข้ ขณะที่โรคโควิด-19 มีไข้ถึง 60% เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว และอาการบ่งชี้ที่สำคัญ คือไม่ได้กลิ่นและไม่สัมผัสรส ตรวจสอบได้โดยให้คนไข้พ่นยาฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องหายจากอาการที่เกิดจากโรคหืด หากไม่หายและมีอาการข้างต้น มีข้อแนะนำให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19
ปัจจุบันทางสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ได้ออกข้อแนะนำการปฏิบัติ 5 ประการในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 อ้างอิงตามองค์การหืดโลก ดังนี้
1.ห้ามหยุดยา-ลดยา และต้องพ่นยาอย่างสม่ำเสมอ เพราะเสียงหอบกำเริบ (ลดการมาโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด)
2.หลีกเลี่ยงยาพ่นประเภทฝอยละออง หรือ Nebulization เนื่องจากมีโอกาสที่ผู้ป่วยโรคหืดที่ติดเชื้อโควิด-19 จะแพร่กระจายเชื้อได้ และแนะนำให้ใช้ยาพ่น MDI with spacers (อุปกรณ์พ่น) ทำให้ได้ริเริ่มโครงการ “หยุดหอบ ป้องกัน Covid-19 ด้วย Thai Kit Spacer” โดยแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาล 500 ถึง 600 แห่งทั่วประเทศ
3.คนไข้ต้องเข้าใจและมีแผนปฎิบัติการดูแลในยามฉุกเฉิน (Asthma Action Plan) โดยปกติสูตรการพ่นยาฉุกเฉิน ทุก 15 นาที x 3 ครั้ง ถ้าดีขึ้นพ่นห่าง 6 - 8 ชั่วโมงจนดีขึ้นไป 2-3 วัน ซึ่งคนไข้หลายคนจำผิด หรือจำไม่ได้ว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ต้องใช้ Asthma Action Plan (ใน Application : Asthma Care) ดูแลและสังเกตอาการที่บ้านด้วยตนเอง
4.หลีกเลี่ยงการทำหัตถการเป่าปอด ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ถึงแม้ว่าจะพบคนไข้โรคเกิดที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้มีจำนวนมากก็ตาม
5.การดูแลคนไข้ผ่าน Telemedicine โรคหืดสามารถที่จะตรวจดูอาการและรักษาผ่านทางไกลได้ โดยส่งยาไปที่บ้านหรือรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน
รศ.นพ.ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์ เลขาธิการสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวย้ำว่า การที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคหืด เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียง Enough Asthma Death แต่ต้องเป็น Zero Asthma Death เพราะโรคหืดสามารถรักษาได้ ถึงแม้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคจะมาจากพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม ถ้าผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ อีกทั้งคนไทยสามารถเข้าถึงยารักษาโรคหืดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีสิทธิ์การเข้าถึงยาตามระบบการรักษาโรค เช่น หลักประกันสุขภาพ ฯลฯ ความสำคัญจึงอยู่ที่การบริหารการใช้ยา และความรู้ความเข้าใจโรคหืดของคนไข้เอง
ทางสมาคมฯ จึงเตรียมการสื่อสารกับประชาชนทั่วไปผ่าน Digital Platform เร็วๆนี้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีความกังวลสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ขณะที่ข้อมูลผู้ป่วยโรคหืดที่ติดโควิด-19 ยังมีออกมาไม่มาก จากข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่า โรคหืดและภูมิแพ้ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด 19 แต่ลักษณะอาการของหืดกำเริบและปอดติดเชื้อจากโควิด 19 อาจคล้ายกัน ซึ่งการจำแนกกลุ่มอาการของโรคอาศัยการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพในอนาคต ทางสมาคมสภาองค์กรโรคหืดฯ ได้เตรียมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างแพทย์ผู้เชียวชาญในสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดูแลโรคหืดด้วย
ขณะเดียวกันทางสมาคมฯได้เผยแพร่วีดีทัศน์รณรงค์ “Enough Asthma Death” คุณศรีสกุล ฤทธิอินทร์ ตัวแทนผู้ป่วยโรคหืด เล่าประสบการณ์ว่าเกือบตายมาหลายครั้ง ถึงขั้นหายใจไม่ออกจนต้องเข้า ICU แต่ปัจจุบันสามารถอยู่ร่วมกับมันได้ จากที่ไม่เคยใช้บันไดขึ้นชั้น 2 ของบ้านมาร่วม 5-6 ปี ปัจจุบันสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ต้องค่อยๆเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การจุดธูปโดยไร้ควัน หรือการดูแลตัวเอง เช่น ออกกำลังกาย ตีปิงปอง จากน้ำหนัก 60 เหลือ 48 ก.ก. ทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ ไม่เครียด ที่สำคัญอย่าท้อ เพราะเราเอาชนะโรค และอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้
ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารและรูปภาพ ได้ที่: : https://shorturl.at/CGIOV
ท่านสามารถดาวน์โหลดวีดีทัศน์ ได้ที่ : https://www.shorturl.at/rPX25
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี