วิถีเกษตรกรไทย‘ไม่’ยั่งยืน ต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่ง สวนทางราคาผลผลิตโดนควบคุม โดย : อัปสร พรสวรรค์
อะไรก็ตามที่กระทบกับปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชนในชาติล้วนเป็นประเด็นร้อนทั้งสิ้น เช่นเดียวกันคนไทย นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงขณะนี้ เรื่องราคาอาหารการกินทั้งหมู ไก่ ไข่ และสินค้าอุปโภคปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงกับค่าครองชีพและคุณภาพชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้รัฐบาลต้องเต้นเป็นพิเศษและต้องชั่งน้ำหนักอย่างดีให้สมประโยชน์ทั้งภาคการผลิตและการบริโภค
นอกจากนี้ วิกฤตสงครามและภัยแล้งในแหล่งปลูกธัญพืชสำคัญของโลก เป็นปัจจัยผลักดันต้นทุนการผลิตสำคัญโดยเฉพาะราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ให้ทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือ ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ปรับสูงอยู่ที่ 110 เหรียญสหรัฐ/บาเรล (ณ วันที่ 2 มีนาคม 2565) และยังสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีการคาดการณ์ว่าหากสงครามยืดเยื้อราคาจะปรับสูงเกินกว่า 150 เหรียญสหรัฐ/บาเรล ขณะที่ รัสเซียและยูเครน ยังเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดรายใหญ่ของโลก มีสัดส่วนรวมกัน 29% และ 19% ของการผลิตโลกตามลำดับ
มาดูสินค้าอาหาร 3 รายการ ที่เป็นประเด็นร้อนของรัฐบาลขณะนี้ คือ หมู ไก่ และไข่ไก่ ซึ่งเป็นโปรตีนหลักที่ได้รับความนิยมอย่างมากของคนไทย ที่ผู้เลี้ยงสัตว์ดังกล่าวต้องแบกภาระขาดทุนสะสมไม่แตกต่างกันจากต้นทุนพลังงานและต้นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและอาจจะยืดยาวขึ้นอยู่กับภาวะสงครามจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ที่ผ่านมาแม้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงเพราะหมูขาดจากโรคระบาด ASF รัฐบาลและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรได้ร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาจนทุเลาลง จนราคาหมูหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับลดลงจากราคาที่ตรึงไว้ 110 บาท/กก. ตั้งปลายเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา ล่าสุด (วันที่ 2 มีนาคม 2565) ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 86-88 บาท/กก. อีกทั้งผู้บริโภคร่วมมือหันไปบริโภคเนื้อไก่และโปรตีนจากเนื้อประเภทอื่นแทนเพื่อลดความต้องการในตลาดลง ราคาขายปลีกก็ปรับลงอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการใช้หลักการเศรษฐศาสตร์พื้นฐานของกลไกตลาดแก้ปัญหา win-win กันทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค
สำหรับ ไข่ไก่ สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ประกาศปรับราคาไข่ไก่คละเป็น 3.20 บาท/ฟอง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา เทียบกับราคาประกาศครั้งก่อนที่ 3.00 บาท/ฟอง ด้วยต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากปัจจัยหลักทั้งพลังงานและวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยล่าสุด สมาคมฯ ประกาศตรึงราคาไข่ไก่ที่ 3.10 บาท/ฟอง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของคนไทย ส่วนไก่เนื้อกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการห้ามขึ้นราคาและมีการตรวจสอบสต๊อกของผู้เลี้ยงที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป
ปัญหาหลักของเกษตรกรภาคปศุสัตว์ไทยตอนนี้ คือ ราคาขายผลผลิตไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง เนื่องจากต้นทุนผลิตสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคาขายถูกกำกับและควบคุมโดยภาครัฐ แทนที่จะให้กลไกการตลาดทำงาน เช่น ราคาไข่ไก่ เป็นหนึ่งในดัชนีวัดราคาอาหารที่ราคาปรับไม่ได้มาก หากพิจารณาที่คุณค่าทางอาหารไข่ไก่เป็นโปรตีนคุณภาพสูงที่ราคาถูกที่สุด เกษตรกรภาคปศุสัตว์จึงย่ำอยู่กับที่หรือเดินถอยหลัง ไม่สามารถเดินหน้าสู่การผลิตอย่างยั่งยืนได้
ประเด็นดังกล่าว จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น กากถั่วเหลืองนำเข้าจากสหรัฐฯ เกิดภัยแล้ง ปริมาณกากถั่วเหลืองลดลง ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น จึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าหากปรับภาษีนำเข้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรในประเทศ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาปรับสูงขึ้นจาก 8-9 บาท/กก. เป็น 10-11 บาท/กก. หรือประมาณ 20-30% รวมถึงข้าวสาลีที่สูงขึ้น 43% จากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่ทำให้ต้นทุนเนื้อสัตว์สูงขึ้น จำเป็นต้องแก้ปัญหาทั้งสองด้านให้สมดุลอยู่ได้ทั้งสองฝ่าย
เมื่อภาครัฐเข้าใจปัญหา หันหน้าเข้าหากัน และนำระบบการค้าไปสู่เสรี โดยใช้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดแทนการควบคุมราคาสินค้า น่าจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของเกษตรกรไทยให้หลุดพ้นจากภาวะขาดทุนสะสม วิถีเกษตรกรไทยสู่ความยั่งยืน ให้คนไทยมีอาหารมั่นคงเพียงพอและเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสมตลอดไป
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี