โลตัส ร่วมกับ ม.ขอนแก่น เพิ่มมูลค่าให้อาหารที่จำหน่ายไม่หมด บริจาคให้เกษตรกรใช้เลี้ยงแมลงโปรตีน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งหน้าสู่เป้าลดขยะอาหารเป็นศูนย์ภายในปี 2030
โลตัส ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต่อยอดโครงการกินได้ไม่ทิ้งกันของโลตัส เพื่อลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030 (Zero food waste to landfill by 2030) โดยการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดจากโลตัส 30 สาขาในจังหวัดขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงแมลงโปรตีน (Black Soldier Fly - BSF) นำร่องสนับสนุนเครือข่ายเกษตรกรภาคอีสาน 24 ราย ช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ทางการเกษตรกว่าครึ่ง เตรียมขยายผลสู่การสนับสนุนเกษตรกรทั่วไทย
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะธุรกิจค้าปลีกแบบ omni-channel ที่มุ่งเน้นการจำหน่ายอาหารคุณภาพสูง โลตัส ตระหนักถึงบทบาทของเราในการช่วยลดขยะอาหาร โดยเริ่มจากภายในธุรกิจของเราเอง ภายใต้เป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เรามุ่งหน้าลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030 โลตัส ได้เริ่มบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดจากสาขาของเราตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ภายใต้โครงการ กินได้ไม่ทิ้งกัน โดยเริ่มนำร่องจากโลตัสสาขาใหญ่ในกรุงเทพและปริมณฑล โดยร่วมมือกับมูลนิธิ SOS ในการนำอาหารส่วนเกินที่ยังรับประทานได้ ส่งมอบให้ผู้ที่ยากไร้ แทนการทิ้งให้กลายเป็นขยะอาหารซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โลตัส เดินหน้าขยายโครงการไปสู่พื้นที่อื่น ๆ รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรในการหาทางออกในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้ว อาทิ โครงการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับสวนสัตว์ โครงการทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหาร รวมถึงการร่วมมือในครั้งนี้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการนำอาหารส่วนเกิน อาทิ ผัก ผลไม้ และอาหารสดประเภทอื่น ๆ จากโลตัส 30 สาขาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริจาคให้กับเกษตรกรในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อนำไปใช้เป็นอาหารในการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน (Black Soldier Fly – BSF) ซึ่งเป็นแมลงที่ปลอดภัยต่อพืชและชุมชน ไม่เป็นพาหะนำโรค และตัวหนอนยังมีคุณค่าทางอาหารสูงทั้งโปรตีน โอเมก้า วิตามินและแร่ธาตุ นำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ตลอดวัฏจักรหนอน-ดักแด้-แมลง สามารถเสริมทดแทนอาหารสัตว์สำเร็จรูป และมูลหนอนยังนำไปเป็นปุ๋ยชีวภาพได้
ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โลตัส ได้บริจาคอาหารส่วนเกินเพื่อนำไปเลี้ยงแมลงโปรตีนแล้วกว่า 10,000 กิโลกรัม คิดอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักเนื้อหนอน (อัตราแลกเนื้อ) เท่ากับกว่า 3,400 กิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรสามารถนำหนอนเหล่านี้เสริมในอาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ไปได้กว่า 50% นอกจากนี้ยังได้ปุ๋ยจากมูลหนอนอีกกว่า 2,200 กิโลกรัม และซากแมลงโปรตีน ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ด้วยเช่นกัน ความตั้งใจของเราคือการขยายผลโครงการแมลงโปรตีนไปสู่กลุ่มเกษตรกรอื่น ๆ เพื่อนำแมลงโปรตีนและผลพลอยได้ไปใช้ในการเกษตร รวมถึงศึกษาแนวทางต่อยอดการใช้ประโยชน์จากแมลงโปรตีนทางการเกษตรเพิ่มเติมต่อไป”
ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “โครงการแมลงโปรตีน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแมลงสำหรับผลิตโปรตีนทางเลือกให้กับชุมชนเป็นอาชีพและพึ่งพาตนเอง ลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ สร้างผู้ประกอบการให้เกิดธุรกิจใหม่ภายใต้ ‘BCG Economy Model’ และพัฒนาให้เป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปัจจุบันมีโรงเรือนต้นแบบการวิจัยและการผลิตแมลงอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ซึ่งเป็นต้นแบบของการผลิตแมลงโปรตีนเพียงแห่งเดียวในขณะนี้ ที่สามารถผลิตแมลงโปรตีนที่มีปริมาณและคุณภาพสูงได้ตลอดทั้งปี และมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรหรือผู้สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน โดยความร่วมมือกับโลตัสในครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางความยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะประสานและคัดเลือกเกษตรกรในเครือข่ายที่เลี้ยงหนอนแมลงโปรตีนให้พื้นที่ต่าง ๆ ในการรับบริจาคและจัดสรรอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายจากสาขาของโลตัส และช่วยให้คำแนะนำเกษตรกรด้านวิชาการและเทคนิคของกระบวนการเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีน รวมถึงร่วมมือกับโลตัสในการขยายผลของโครงการต่อไป”
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดขยะอาหารในธุรกิจของโลตัส
• ในปี พ.ศ. 2560 โลตัส เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าแรกในประเทศไทย ที่เริ่มบริจาคอาหารส่วนเกินที่จำหน่ายไม่หมด ให้ผู้ที่ยากไร้ โดยร่วมมือกับมูลนิธิ SOS ภายใต้โครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน”
• ภายใต้กรอบการทำงาน Target, Measure, Act โลตัส เป็นธุรกิจแรกในประเทศไทย ที่เริ่มวัดและเปิดเผยปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2562 โดยมีปริมาณขยะอาหาร (food waste absolute tonnage) ลดลงอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี
• โลตัส บริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร
o ต้นน้ำ วางแผนการเพาะปลูกร่วมกับเกษตรกรภายใต้โครงการรับซื้อผลผลิตตรง เพื่อให้เกษตรกรปลูกผักตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ เพื่อไม่ให้เหลืออาหารส่วนเกินและลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด, ใช้รถควบคุมอุณหภูมิขนส่งผักและผลไม้ จากแหล่งเพาะปลูกสู่ศูนย์กระจายสินค้าและสาขา ลดการสูญเสียอาหารในระหว่างการขนส่ง
o กลางน้ำ สินค้าป้ายเหลือง ลดราคาสินค้าเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้ากลับไปรับประทาน แทนการทิ้งให้เป็นขยะอาหาร, บริจาคอาหารส่วนเกินทั้งแบบที่ยังรับประทานได้ (edible surplus food) และแบบที่รับประทานไม่ได้แล้ว (inedible surplus food) ให้กับมูลนิธิและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพิ่มมูลค่า แทนการทิ้งให้เป็นขยะอาหาร
o ปลายน้ำ ร่วมงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการลดขยะอาหาร ทั้งในธุรกิจและในครัวเรือน
• ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน โลตัส ได้บริจาคอาหารส่วนเกินที่ยังรับประทานได้ไปแล้วทั้งหมด 2.8 ล้านมื้อ ให้ผู้ยากไร้และมูลนิธิต่าง ๆ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี