“วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก” สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันของการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงการลงนามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรืออนุสัญญาแรมซาร์ ที่จัดขึ้น ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 ดังนั้น วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จึงถือเป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ในทุกๆปี สำนักเลขาธิการอนุสัญญาแรมซาร์ได้กำหนดกรอบความคิดและหัวข้อสำหรับการรณรงค์ เนื่องในวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2566 มีกรอบความคิดและหัวข้อสำหรับการรณรงค์ฯ คือ “ถึงเวลาแล้วสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ” หรือ “It’s time for wetland restoration”
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกประจำปี พ.ศ. 2566 ณ วัดคงคาราม (วัดบน) ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีนายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เป็นประธานเปิดงาน มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 200 คน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อาทิ จังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดชลบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลและสำนักงานเทศบาลในพื้นที่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ภาคีบางปะกง และสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำในวงกว้าง
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การอนุรักษ์ ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ และลำน้ำสาขา” มีการบรรยายการนำความรู้ด้านการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) มาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมีวิทยากรร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนมุมองจากกรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย และตัวแทนภาคีเครือข่ายบางปะกง นอกจากนี้ มีกิจกรรมการสร้างความตระหนักในการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น การปล่อยพันธุ์ปลาและพันธุ์ปูท้องถิ่นลงแม่น้ำบางปะกง การปลูกป่าชายเลน การสร้าง บ้านปลา รวมถึงการเก็บขยะบริเวณพื้นที่ริมฝั่งน้ำบางปะกง
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ นำเสนอบทบาทของกรมทรัพยากรน้ำกับการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ และตัวอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำที่กรมทรัพยากรน้ำร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟู อาทิ พื้นที่ชุ่มน้ำบึงสีไฟ จ.พิจิตร พื้นที่ชุ่มน้ำหนองหาน กุมภวาปี จ.อุดรธานี พื้นที่ชุ่มน้ำหนองหาร จ.สกลนคร เป็นต้น มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย นำเสนอภาพถ่ายที่สะท้อนถึงวิถีชุมชนกับพื้นที่ชุ่มน้ำ กรมควบคุมมลพิษ นำเสนอข้อมูลและหลักการการแยกขยะที่ถูกวิธี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำเสนอแบบจำลองของสัตว์ที่อาศัยบริเวณริมป่าชายเลน ภาคีบางปะกง ร่วมจัดแสดงวิถีชีวิตชุมชน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงผลผลิตพื้นถิ่นที่ได้จากการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด และบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด นำเสนอโครงการ “มิซุอิกุ: สอนน้องรักษ์น้ำ” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน โดยมีกรมทรัพยากรน้ำร่วมเป็นหนึ่งในภาคี
นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการนำแนวทางการแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หรือ NbS มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งถือเป็นแนวทางในการสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวให้แก่ชุมชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในระยะยาว ปัจจุบันสถานการณ์พื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกหลายแห่งมีความเสื่อมโทรม และถูกบุกรุกคุกคามจากการพัฒนาของสังคมมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลายลง โดยปราศจากความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญ ขาดการวางแผน และการใช้ประโยชน์ที่ถูกต้อง ความเสื่อมโทรมเหล่านี้เองเป็นสาเหตุให้เกิดความสูญเสียอื่น ๆ ตามมาในอนาคต
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องลงมือทำเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านั้น กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านพื้นที่ชุ่มน้ำ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 มีบทบาทหลักในการดำเนินการเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีหน้าที่ในการกำกับ ดูแล และเสนอแนะมาตรการ หลักเกณฑ์ รวมถึงวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะและพื้นที่ชุ่มน้ำ อีกทั้ง ยังมีสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 - 11 ที่ประจำอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ต่อไป”
นายวิชา นรังศรี ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย ให้ข้อมูลว่า “แม่น้ำบางปะกง จัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2552 โดยแม่น้ำบางปะกงเกิดจากการไหลมาบรรจบกันของลำน้ำใหญ่ 2 สาย คือ แควหนุมานและคลองพระปรง ไหลผ่านจังหวัดปราจีนบุรี มาบรรจบกับแม่น้ำนครนายกที่บริเวณ ต.บางแตน จ.ปราจีนบุรี จากนั้นไหลผ่านมายัง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีคลองท่าลาดไหลมาสมทบ ที่หน้าวัดปากน้ำโจ้โล้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ไปสิ้นสุดที่อ่าวไทย ซึ่งมีความยาวรวมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 240 กิโลเมตรโดยประมาณ แม่น้ำบางปะกงไหลผ่านพื้นที่ต่างๆกว่า 50 ตำบล ส่งผลให้ชุมชนริมน้ำสองฟากฝั่งมีทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรพืชและสัตว์น้ำ ที่เป็นสาธารณะมาใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และประกอบอาชีพในด้านต่างๆอย่างสมบูรณ์ จนเกิดเป็นองค์ความรู้สืบทอดต่อมาเป็นวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น
แต่ปัจจุบันการพัฒนาด้านต่างๆในภูมิภาคตะวันออก ทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การปศุสัตว์ การก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ การปล่อยของเสีย รวมถึงการรุกรานของวัชพืช ส่งผลให้แม่น้ำบางปะกง เกิดเหตุการณ์น้ำเสียปีละหลายครั้ง และเกิดเป็นประจำทุกปี ส่งผลให้ชนิดและประชากรสัตว์น้ำลดลงอย่างต่อเนื่องจนขาดศักยภาพในการฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม ดังนั้น ความร่วมมือจากคนในชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงเป็นความหวังที่สำคัญที่จะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำบางปะกง ให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมได้อีกครั้ง”
สำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาแรมซาร์ระบุถึงพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกที่ถูกทำลายไว้ว่าปัจจุบันมีพื้นที่มากกว่า 35% ถูกทำลายตลอดระยะเวลา 50 ปี การสูญเสียมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกส่วนจะร่วมกันสร้างความตระหนักและลงมือกระทำ ก่อให้เกิดปรากฎการณ์ระลอกคลื่นที่แผ่ออกไป สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำของทุกภาคส่วนต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี