นายกรัฐมนตรีชื่นชมในกิจกรรมของ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacitที่ชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่สวมใส่ผ้าไทยแสดงพลัง Soft Power ด้านหัตถศิลป์ไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงจัดกิจกรรมเดินสายตามสถาบันการศึกษาสร้างให้เกิดเป็นเครือข่ายคนรักงานศิลปหัตถกรรมไทย “Friend of sacit” ร่วมกับเหล่า KOL ศิลปินดารานักร้องพร้อมอวดโฉม-แชร์รูป-โชว์ไอเดียในสื่อโซเชียลมีเดียผ่านแคมเปญ“Gen Z มีดีให้อวด” หวังสร้างให้คนรุ่นใหม่สืบสานอัตลักษณ์ภูมิปัญญาไทยคู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน
ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 สิงหาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชมจุดแสดงนิทรรศการของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย(องค์การมหาชน) หรือ sacit(อ่านว่าศักดิ์สิทธิ์)หน่วยงานสังกัดภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีภารกิจในการสืบสาน สร้างสรรค์ส่งเสริมและสื่อสารงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมศิลปหัตถกรรมไทยไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้นจึงได้จัดกิจกรรมภายใต้แคมเปญ “Gen Z มีดีให้อวด” โดย sacitชวนวัยรุ่นใส่ผ้าไทยไปยังสถานศึกษาต่าง ๆ เนื่องในโอกาส “วันผ้าไทยแห่งชาติ” และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม
สืบสานผ้าไทย ให้เป็นที่ประจักษ์มายาวนาน จากสิ่งทอท้องถิ่นที่สูญหายไปให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
น้องฟ้าใส ด.ญ. ปารณัท บุญชูวิทย์ อายุ 11 ปี โรงเรียนสารสาสน์วิเทศ , น้องชีตาห์ ด.ญ. ณิชมน ชินธาดาพงศ์ (ชีตาห์) อายุ 13 ปี เรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ , น้องมันตรา ด.ญ. ธมนต์ชิตา นามกูล อายุ 13 ปี โรงเรียน The Essence School และน้องมาวิว นางสาวเบญญาภา อุตตมะรูปอายุ 15 ปี โรงเรียนโยธินบูรณะ เป็นตัวแทนที่เข้าร่วมแคมเปญ “Gen Z มีดีให้อวด”ร่วมกับเยาวชนในโรงเรียนต่างๆ ทำให้ได้มีโอกาสได้ลองสวมใส่ผ้าไทย ซึ่งเป็นผ้าทอมือ มีทั้งการสวมใส่ผ้าซิ่นหรือผ้านุ่งตามแบบดั้งเดิม หรือการสวมใส่ผ้าทอมือที่ถูกนำมาปรับดีไซน์ให้ร่วมสมัยสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เด็กๆยังได้ร่วมWorkshop ทดลองทอผ้าด้วยกี่ขนาดเล็ก เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงในการทดลองทำงานหัตถกรรมไทย และได้เห็นถึงความวิริยะอุตสาหะของผู้ทอ เกิดความประทับใจในกระบวนการ องค์ความรู้ ภูมิปัญญาผ้าทอไทย ที่มีความละเอียดประณีตและสวยงาม เกิดความรักความภาคภูมิใจในความเป็นไทยนอกจากนี้ยังเป็นการใช้เครื่องมือสื่อดิจิทัลในการเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ โดยผู้ร่วมกิจกรรมถ่ายภาพสวมใส่ชุดผ้าไทยแบบ 360 องศาและการถ่ายภาพกับห้องจำลองห้องแต่งตัวชุดผ้าไทยกระดาษ เผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย พร้อมติด #Friendofsacit และ #GenZมีดีให้อวด ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งTiktok , Facebook , Instagram และ Threads เพื่อสร้างเครือข่ายและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและเชิญชวนสังคมนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของงานหัตถศิลป์ไทย รวมทั้งสร้างความนิยมงานศิลปหัตถกรรมให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นกระบอกเสียงด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยไปยังสังคมไทยอย่างกว้างขวางมากขึ้น
เด็กๆยังได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยในการเป็นต้นแบบ Soft Power สวมใส่ผ้าไทย อาทิ ผ้าฝ้ายหมักโคลนย้อมครามธรรมชาติจากภาคอีสาน , ผ้าปาเต๊ะ ภาคใต้ และผ้าซิ่นต๋าของกลุ่มไทยวนภาคเหนือซึ่งแต่ละคนได้มาแปลงโฉมสวมใส่ชุดผ้าไทยที่มีเสน่ห์แตกต่างกันตามภูมิภาค มีความสวย น่ารัก สดใส สะท้อนให้เห็นว่าผ้าไทยแบบดั้งเดิมเมื่อถูกนำมาสวมใส่ในสาวน้อยวัยใสก็ออกมาดูสวยงาม สดใส แล้วชวนออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาทิ ตามรอยลิซ่าที่วัดมหาธาตุ , ปั่นจักรยานชมวิว, ให้อาหารน้องช้างที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด และปิดท้ายด้วยการไปทดลองทำหัตถกรรมไทย จักสานปลาตะเพียนซึ่งถือว่าแคมเปญนี้ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สร้างความแปลกใหม่ให้กับเด็กๆ ทุกคนต่างตกหลุมรัก
ผ้าไทยมากขึ้น เพราะตลอดทั้งวันจะมีอากาศร้อนแค่ไหน ผ้าฝ้ายที่สวมใส่ใส่สบายสามารถระบายความร้อนได้ดี เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งกับภูมิปัญญาของไทยอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ในการสื่อสารให้งานศิลปหัตถกรรมไทยให้โดนใจคนรุ่นใหม่นั้น ทาง sacitยังได้ส่งเสริมให้เกิดเป็นเครือข่ายคนรักงานศิลปหัตถกรรมไทย “Friend of sacit” ร่วมกับเหล่า Key Opinion Leader(KOL)ศิลปินดารานักร้องชื่อดัง โดยล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา “เลดี้ปราง” หรือคุณกัญญ์ณรัณวงศ์ขจรไกล โชว์พลังSoft Power ผ้าไทยโกอินเตอร์ ผ่านการนำเสนอศิลปหัตถกรรมไทยในมุมมองใหม่ตามแลนด์มาร์กสำคัญและแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผ่านการถ่ายแฟชั่นผ้าไทยร่วมสมัย ดีไซน์สวยเก๋ สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกางเกงมวยผ้าไทย จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่คนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมากซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และเป็นความลงตัวที่ชวนให้เกิดกระแสบอกต่อได้อีกด้วยซึ่งก็สอดรับกับนโยบาย Soft Power เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยอาศัยจุดแข็งด้านหัตถศิลป์ไทยซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมของไทย สร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีประชาคมโลก
sacit ยังคงมุ่งมั่นขยายกิจกรรม Friend of sacitออก Roadshow ไปตามสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้าง Friend of sacitในกลุ่ม Gen Z ให้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในก้าวสำคัญของงานศิลปหัตถกรรมไทยสู่อนาคต เกิดกลุ่มคนที่รักและชื่นชอบในงานศิลปหัตถกรรมไทยและขยายออกไปไม่รู้จบ กลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ จนกลายเป็นวัฒนธรรมการใช้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย เกิดเป็น Soft Power ด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยที่เข้มแข็งและยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี