มีอยู่/มีกิน/มีคุณค่า “เรืองศักดิ์ คงโสภาดี” นักศึกษา CIBA-DPU “กล้าท้าฝันปั้นชุมชนสู่ความยั่งยืน” ให้งดงามมีมูลค่าเหมือนดั่งผ้าไหมเชียงใหม่
รู้จัก “เรืองศักดิ์ คงโสภาดี” นักศึกษาปี 3 หลักสูตรบริหารธุรกิจ “การเงิน การลงทุน และเทคโนโลยีการเงิน” วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CIBA-DPU) ได้รับรางวัลชมเชยระดับประเทศ จากการเข้าโครงการ “Chicken Run Camp Young Business Leaders for Sustainability ESG 2023” เพื่อนำเสนอแผนธุรกิจกระตุ้นยอดขายผ้าไหม จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ผู้สูงวัย มี “รายได้เพิ่มขึ้น” และ “มีคุณค่า” โดยมี ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์ รองคณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ
ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์ กล่าวว่า วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี เห็นความสำคัญของการพัฒนาบัณฑิต เพื่อตอบโจทย์โลกแห่งการทำงานและอนาคต จึงได้ริเริ่มพัฒนาหลักสูตรที่ผสมผสานการวัดผลลัพธ์การเรียน(Learning outcomes) ของกลุ่มวิชาเกณฑ์และวิชาเอกของทั้ง 7 หลักสูตร อันได้แก่ หลักสูตรการบัญชี หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หลักสูตรการตลาดยุคดิจิทัล หลักสูตรการจัดการ หลักสูตรธุรกิจระหว่างประเทศ หลักสูตรบริหารธุรกิจ วิชาการเงิน เทคโนโลยีการเงินและการลงทุน และวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ หลักสูตรระบบสารสนเทศเพื่อธุรกิจดิจิทัล เพื่อให้ทราบได้ว่า นักศึกษามีความรู้และความสามารถตามผลลัพธ์การเรียนรู้
จากออกแบบหลักสูตรกระบวนการสอนแบบการศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์ (Outcome-based education) โดยนักศึกษาที่จบจาก วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี จะมี “สมรรถนะแห่งนักบริหารธุรกิจและการบัญชียุคดิจิทัล: CIBA Core Competency ” เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในห้องเรียนให้สอดคล้องกับผลลัพธ์ทางการศึกษา นักศึกษามี ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ การเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกแง่มุมของโลกธุรกิจยุคดิจิทัล อันได้แก่ การเป็นผู้นำสร้างและพัฒนาการจัดการรูปแบบธุรกิจสมัยใหม่ (Managerial Leadership), การบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่ (Modern Business Management), การปรับตัวในเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการวิเคราะห์ข้อมูล (Professional Adaptability and Data Analytics) และการสื่อสารเชิงธุรกิจ (Interpersonal Business Communication)
ฃเรืองศักดิ์ คงโสภาดี” นักศึกษาปี 3 หลักสูตรบริหารธุรกิจ “การเงิน เทคโนโลยีการเงินและการลงทุน” หนึ่งในนักศึกษาผู้เดินตามฝันการเป็นนักบริหารมืออาชีพ ได้กล่าวถึงไอเดียธุรกิจ เมื่อล่วงเลยวัย “อายุมากขึ้น” กำลังแรงงานและไอเดียต่างถดถอยน้อยลงตาม “รายได้” ย่อมไม่พุ่งสูงเหมือนเดิม ฉะนั้นในสังคมเราหลายต่อหลายคนเลยเผลอมองข้ามใน “คุณค่า” ของผู้สูงวัยที่ผลิตสินค้าชุมชนอย่างปฏิเสธไม่ได้
อย่างไรก็ตาม “ทุกชีวิต” วัฏจักรก็เป็นเช่นนี้ ที่ต้องมีทั้งยามรุ่งเรืองและยามต้องการคนช่วยเหลือ ซึ่ง “เรืองศักดิ์ คงโสภาดี” ก็ได้กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาช่วยเหลือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและคำนึงถึงผู้อื่น
“มากน้อยแค่ไหนผมไม่รู้ว่าแผนธุรกิจที่ผมทำจะได้ผล แต่ที่แน่ๆ มันช่วยให้ยอดขายชาวบ้านดีขึ้น เพราะตั้งแต่เด็กๆ ผมชอบสงสารคน 5 บาท 10 บาท ข้ามสะพานลอยมีคนจรนั่งขอทานก็ให้ คือพอให้แล้วมันมีความสุข มันมีความภูมิใจ ผมก็เลยชอบสมมุติว่าเรารวย เป็นเศรษฐี มีเงินล้นฟ้าเราคงช่วยเขาได้มากกว่านี้” นักศึกษาหนุ่มวัย 21 ปี กล่าวเริ่มบทสนทนา
คือ “การเงินและบัญชี” ที่จะช่วยให้คนรอบตัวมีชีวิตที่ดี
เส้นทางชีวิตที่เติบโตท่ามกลางนิสัยแคร์คนรอบข้างและอยากให้ทุกคนนั้นมีชีวิตที่ดี ซึ่งสำหรับ “เรืองศักดิ์” แล้วแต่ก่อนคิดว่ามีเพียงวิธีเดียวที่จะช่วยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น นั้นก็คือ “ต้องมีเงินและร่ำรวย” ด้วยเหตุๆ นี้จึงทำให้หนุ่มน้อยหน้าใสตรงหน้าเลือกเบนเข็มชีวิตเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีด้านการเงินและการลงทุน
“ตอนแรกเรียนปวส. คอมพิวเตอร์ธุรกิจ เพราะติดเกม อยากเล่นคอมฯ ชอบมาก จะได้แบบเล่นแล้วเป็นข้ออ้างแม่ได้ เรื่องความฝันตัวเองยังไม่รู้ ไม่ได้คิดตัวเองจะต้องทำงานอาชีพอะไร ตอนนั้นคือตามเพื่อนล้วนๆ อย่างน้อยก็มีเพื่อนแล้วอุ่นใจ ทีนี้เวลาไปเล่นต้องไปที่ร้านเพราะบ้านไม่มีคอม ก็เสียทั้งค่าเช่าเครื่องรายชั่วโมงและเราก็ยังเติมเกมหนักอีก ปีๆ หนึ่งมานั่งคิด 1-2 หมื่น มันก็เป็นจุดเปลี่ยนจะเล่นยังไงให้มีเงินด้วย และมันก็จังหวะเหมาะพอดีเกม Ragnarok เล่นแล้วขาย Item แลกเป็นเงินจริงได้ มันก็เริ่มทำให้ผมสนใจเรื่องเงินๆ ทองๆ การลงทุน ต่อมาก็ค้นหาความรู้ในเว็บไซต์ แล้ว Facebook พอสนใจเรื่องนี้ อัลกอริทึมมันดึงเรื่องคล้ายๆกัน เด้งขึ้นมาเพียบ ก็เจอทั้งการเทรด Forex และ How to วิธีสร้างรายได้ง่ายๆ ซึ่งตอนนั้นยังแยกแยะวิธีการลงทุนที่ดีไม่ออก”
“ผมเลยผูกทั้งสองอย่างคือ เล่นคอมฯ ได้สนุกด้วยและได้เงินเป็นของแถม ซึ่งเราก็จะสามารถทำตามนิสัยที่ชอบช่วยเหลือคน อย่างเวลาเดินขึ้นสะพานลอยคนยากไร้ คนไร้บ้าน ก็จะคอยให้เงินให้เขาได้มีเอาไว้ซื้อข้าวเท่าที่ช่วยได้ 10-20 บาท ค่าขนมไปกินโรงเรียนจากแม่ ดังนั้นอาชีพที่ผมจะทำและต้องเรียนคือ เรื่องของการเงินและการลงทุน หลังจากนั้นจึงเจอ CIBA และเลือกที่จะเข้าเรียนที่นี้ เพราะมีชื่อเสียงเด่นในทางด้านการสร้างนักธุรกิจ”
และวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี “CIBA” ก็ไม่ทำให้ผิดหวังและพาเข้าใกล้ไปสู่เป้าหมายยิ่งขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าเป็นผู้กู้ของกองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งกรณีเป็นผู้กู้รายใหม่ขั้นตอนการยื่นเรื่องจะยากกว่าคนที่เคยกู้ตั้งแต่ชั้นม.ปลาย หรือ ปวส. ที่อาจารย์และเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเรื่อง กยศ. หากเป็นคนที่พอมีความรู้ด้านการเงิน จะเข้าใจว่า การกู้เป็นโอกาสที่ดีมากๆ และ อัตราดอกเบี้ยก็ต่ำมาก
“มหาวิทยาลัยอื่นๆ จะไม่ค่อยรับ แต่ที่นี้ให้คำแนะนำและช่วยเต็มที่แล้วก็ใช้เวลาไม่นาน เราก็รู้สึกเขาอยากให้เราได้โอกาสเข้าถึงการศึกษา นอกจากนี้ที่นี้ก็ใส่ใจเด็กมีวิชาปรับพื้นฐานก่อนเปิดเทอมให้ได้เตรียมความพร้อมทั้งเนื้อหาและการเปลี่ยนสถานที่ ตอนนั้นผมเฝ้ารอมากเพราะคนเราเวลาเริ่มสนใจมันก็อยากจะลงมือ อยากยังไงก็ได้เพื่อให้ได้ทำไวๆ เรื่องการเป็นคนรวยที่อยากช่วยเหลือสังคม”
Territory แห่งการแบ่งปัน
เรืองศักดิ์ เสริมว่า “ข้อดี” ต่อมาในวิทยาลัยฯ คือเรื่องของ “สภาพแวดล้อม” ที่ร่มรื่น และ “ความใส่ใจ” ในเด็กนักศึกษา มุ่งเน้นการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning การมีส่วนร่วมกันและกัน ทำให้ยิ่งเรียนยิ่งสนุกและยิ่งอยากรู้เพิ่มตลอดเวลาทั้งในห้องเรียน-นอกห้องเรียน โดยเฉพาะ “ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์” ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนรายวิชานวัตกรรมการจัดการปฏิบัติการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ที่มักจะคอยแนะนำและส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ
“อาจารย์ทุกคนที่ CIBA ทลายกำแพงความห่างเหินกัน คือถ้าถามทั้งห้องนักศึกษาจะบอกอาจารย์สอนดีมาก ทำ Power Point ก็เข้าใจง่าย สงสัยตรงไหนไม่ถามในห้องเรียนก็ทักไปถามในไลน์กลุ่มที่ตั้งกันในรุ่นตั้งช่วงสมัคร อาจารย์ก็จะตอบกลับเราตลอด และพอเข้าถึงง่ายเวลามีปัญหาเช่นเรื่องส่วนตัว เด็กก็กล้าที่จะปรึกษา แบบผมตอนนั้นพอรู้ว่าอาจารย์จบจากเมืองจีน ผมเองนักศึกษาใหม่ก็สอบถามเขาเรื่องการปรับตัวและใช้ชีวิตยังไงให้มีความสุขและประสบความสำเร็จ”
นอกจากนี้ยัง “ทันสมัยและทันต่อสถานการณ์” ในเรื่องของหลักสูตร เช่น รอบปี 2566 มีกระแสการหลอกให้ร่วมลงทุน ทางคณะฯ จะเชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์วิธีการจัดการความเสี่ยงมาให้ความรู้เรื่องควบคู่กับจรรยาบรรณของนักการเงินในทันที ขณะที่ในคณะอื่นๆ ที่ DPU ก็พบว่าเช่นเดียวกัน โดยใน 1 อาทิตย์ มักจะพบว่ามี 1-3 กิจกรรมที่น่าสนใจตลอด ล่าสุดก็ได้ไปดู 'เชฟกระทะยักษ์' ของคณะการโรงแรม ที่เป็น Influencer มาแชร์ประสบการณ์ว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้ได้ หรืองาน 'เปิดโลกกิจกรรม New Style New Inspiration' ที่มีเปิดร้านค้าของฝ่ายกิจการนักศึกษา ที่ปลูกฝังให้นักศึกษาแสดงความสามารถพิเศษและแลกเปลี่ยนส่งต่อองค์ความรู้ที่สนใจเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม
“ตอนนั้นได้ร่วมกิจกรรมค่าย Chicken Run Camp Young Business Leaders for Sustainability ESG 2023 ซึ่งเมื่อ ดร.คุณากร ทราบข่าวจาก อาจารย์ศศิภา อธิสินจงกล ผู้ชำนาญการ ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงได้นำมาบอกข่าวโครงการเยาวชนคนรุ่นใหม่ไฟแรงมาร่วมนำเสนอไอเดียเพื่อช่วยสังคม สร้างรากฐานการเป็นผู้พัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน อันนี้กิจกรรม CIBA โดยตรง ผมก็คิดว่าเหมาะกับผม เพราะต่อให้เราสำเร็จแต่ถ้าไม่มีโลกเหลือให้อยู่ความสำเร็จมันก็เท่านั้น ก็เลยเข้าร่วม และคือทางคณะฯ สนับสนุนเต็มที่ มีรถรับ-ส่งตั้งแต่วันแรกยันวันจบกับให้ยืมNotebook ให้ไปร่วมกิจกรรมทำแผนธุรกิจ วันที่ 23-29 สิงหาคม ซึ่งพี่มะห์ นาตยา เลขาหลักสูตรฯ ช่วยดูแลจัดการให้เป็นอย่างดี ประทับใจเลยครับ”
“เริ่มตั้งแต่เข้าไปช่วยชุมชนยกระดับและพัฒนาให้มีความรู้ ช่วยเพิ่มความภาคภูมิใจให้กับผู้สูงอายุว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีคุณค่า สร้างทัศนคติใหม่ให้ชาวบ้านว่าผ้าไหม OTOP เรา ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ตอนนี้อาจจะแค่ทำการตลาดไม่ตรงจุด เราก็จะไปช่วยเชื่อมชุมชนเข้ากับดีไซน์เนอร์ จากนั้นเราสร้างแพลตฟอร์ม 'ประมูล' เพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นสินค้าแฮนด์เมคที่มีชิ้นเดียวในโลก มีเอกลักษณ์เฉพาะ ต่อมาสอดแทรกเรื่องความยั่งยืนการใช้ทรัพยากรให้มีคุณค่ามาก ชี้ให้เขาเห็นว่า 'เศษผ้าไหม' ที่เหลือรวบรวมและทำเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ สมนาคุณลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้เกิดความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) เกิดการซื้อซ้ำอะไรต่างๆ การสนับสนุนคนเล็กคนน้อยหรือชุมชนเป็นเรื่องดี ทำให้ลุงๆ ป้าๆ ในชุมชนจะมีรายได้มากขึ้นเพิ่มเท่าตัว จนโปรเจคนี้ได้รับรางวัลชมเชย” เรืองศักดิ์ กล่าว
เป้าหมายต่อไป ก.ล.ต.
นักศึกษาทางการเงินปีที่ 3 บอกเป้าหมายฝันของชีวิต คือ อยากจะเข้าทำงานที่ “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” หรือ “ก.ล.ต. โดยหน้าที่ของ ก.ล.ต. ส่วนหนึ่งนอกจากจะกำกับและพัฒนาตลาดทุนแล้ว ยังมีส่วนที่ช่วยส่งเสริมการให้ความรู้ต่าง ๆ อีกมากมาย โดยรวมๆ อารมณ์เหมือนตำรวจการเงิน” เรืองศักดิ์ ระบุ อนาคตหลังจะเรียนจบในปีหน้านี้
“อย่างการตรวจสอบเรื่องราวในตลาดทุนที่ไม่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย พวก "แชร์ลูกโซ่" หลอกลงทุน เว็บไซต์ปลอมที่หลอกให้คนลงทุนที่ระบาดหนักเลยช่วงนี้ ยิ่งยุคนี้ข้าวยากหมากแพงผมเห็นข่าวยิ่งสงสาร เพราะเงินนั้นอาจจะเป็นเงินทั้งชีวิตของเขา มันเศร้านะ เราก็อยากจะช่วยสกัดเรื่องตรงนี้ มันเป็นความสุขและความสบายใจของผม ดังนั้นจากวันที่ผมเลือกเรียนที่ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จนถึงวันนี้ เป็นช่วงที่ผมจะเสริมสร้างความเป็นนักบริหารธุรกิจในตัวผม ฝึกความละเอียดรอบคอบ ตั้งเป้าหมายในอนาคตเพื่อให้ทราบว่า อนาคตที่ตัวเองอยากเป็นคืออะไรกันแน่” เรืองศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี