เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย - สสส. จัดกิจกรรม Healthy Organization Day ปีที่ 2 ขับเคลื่อนองค์กรสุขภาพดี (Healthy Organization) ผ่านหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพ (Health Leader) ในสถานที่ทำงาน และหลักสูตรเสริมทักษะเฉพาะด้าน เน้นย้ำปัจจัยแห่งความสำเร็จ “ผู้นำองค์กร-ทีมผู้นำสุขภาพ-กระบวนการดำเนินงาน-นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ“ เสริมด้วยพลังความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ร่วมสร้างสุขภาพคนในองค์กรให้ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมขยายผลต่อยอดผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงานให้เกิดขึ้นในองค์กรทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 67 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลการสถานการณ์กิจกรรมทางกายเพียงพอประเทศไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้ทิศทางการมีกิจกรรมทางกายของวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นวัยทำงาน ลดลง จาก 66.8% ในปี 2564 เป็น 65.8% ในปี 2565 เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จึงมีความจำเป็นต้องเร่งสร้าง “ผู้นำสุขภาพ” ให้เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรม/โครงการสร้างเสริมสุขภาพพนักงานในองค์กร นำไปสู่การเป็น “องค์กรสุขภาพดี” ทั่วประเทศ
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดทำโครงการมุ่งให้สถานที่ทำงาน / สถานประกอบการ เป็น “องค์กรสุขภาพดี” และจัดหลักสูตรอบรม “ผู้นำสุขภาพ” ในสถานที่ทำงาน เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ การปรับสภาพแวดล้อมในองค์กรให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ และกระบวนการออกแบบโครงการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้จริง ปัจจุบันได้จัดอบรมแล้ว 6 รุ่น มีผู้นำสุขภาพที่ผ่านเกณฑ์ได้รับใบประกาศนียบัตร รวม 282 คน จาก 100 องค์กร ทั่วประเทศ
ในวันนี้ เป็นการเปิดให้องค์กรที่ได้ดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพพนักงาน เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน นำเสนอผลการดำเนินงาน เพื่อขอรับ รางวัลเชิดชูเกียรติ Healthy Organization Award ส่งเสริมปัจจัยแห่งความสำเร็จ ในด้าน “ผู้นำองค์กร-ทีมผู้นำสุขภาพ-กระบวนการดำเนินงาน-นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ” ในกิจกรรม Healthy Organization Day ซึ่งกำหนดจัดเป็นประจำในวันศุกร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคมของทุกปี ปีนี้เป็นการจัดงานปีที่ 2 มีองค์กรที่ผ่านเกณฑ์ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจำนวน 25 องค์กร
รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ ประธานหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน รองประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวเสริมว่า การขับเคลื่อนให้เกิด “องค์กรสุขภาพดี” ในปี 2567 นี้ นอกจากองค์กรที่สนใจเข้ารับการอบรมกว่า 100 องค์กรแล้ว ยังได้รับการเสริมพลังความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเชิงนโยบายและการทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ ได้แก่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) องค์การอนามัยโลก ร่วมกับการนำเสนอสินค้าและบริการที่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภค จากองค์กรภาคเอกชน เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) บริษัท กาโตว์เฮ้าส์ จำกัด บริษัท สไมล์ เอฟเวอรี่เดย์ จำกัด ศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นต้น โดยจะมีแคมเปญสร้างเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงานในรูปแบบต่าง ๆ ทยอยเปิดตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นอกจากหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน เครือข่ายคนไทยไร้พุง ยังมีหลักสูตรอบรมใหม่ ที่จะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ ได้แก่ หลักสูตรส่งเสริมการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy + Active Meeting) สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประชุม เพื่อให้เกิดการประชุมที่บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย พร้อมกับการสร้างเสริมสุขภาพของผู้เข้าประชุม หลักสูตรการจัดชุดอาหารว่าง อาหารจัดเลี้ยงเพื่อสุขภาพ สำหรับผู้ให้บริการอาหารว่าง อาหารจัดเลี้ยงในการประชุม หลักสูตรออมสุขภาพ รับวัยอิสระ รองรับการดูแลสุขภาพรายบุคคล ต่อเนื่องตั้งแต่วัยทำงาน จนถึงวัยเกษียณอย่างมีสุขภาพดี โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ เครือข่ายคนไทยไร้พุง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Email : raipoong@gmail.com
“เพราะสุขภาพที่ดีของทุกคน นำมาซึ่งความมั่นคง และการเติบโดขององค์กร รวมทั้งส่งต่อความสุขที่ยั่งยืนสู่สังคม จึงขอเชิญชวนให้ทุกองค์กร ร่วมกันก้าวสู่การเป็นองค์กรสุขภาพดี Healthy Organization จากนี้ไปคนวัยทำงานในองค์กรต่างๆ จะแข็งแรงไปด้วยกัน” รศ.นพ.เพชร กล่าว
ศ.คลินิก นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา คณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่าเป็นนโยบายของสำนักงานฯที่ต้องการส่งเสริมสุขภาพผู้ประกันตน ที่เป็นผู้ประกันตนทั้งที่เป็นคนไทย และแรงงานต่างด้าวที่เข้าสู่ระบบประกันสังคม เราเน้นเรื่องสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงบริการ ซึ่งหากเป็นคนไทยสปสช.จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ แต่หากเป็นแรงงานต่างด้าวทางประกันสังคมจะเป็นคนจัดงบประมาณให้ สิทธิทั้งหมดนั้นเราทำเพื่อต้องการให้ผู้ประกันตนนั้นได้เข้าถึงบริการสุขภาพดี ในการคัดกรองว่ามีการเจ็บป่วยโรคต่าง ๆ หรือไม่ ถ้าหากพบว่าเป็นการเจ็บป่วยเราก็จะเอาเข้าสู่กระบวนการศึกษา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการให้การรักษาพยาบาล หน่วยบริการนั้นจะต้องขึ้นทะเบียนเรื่องส่งเสริมสุขภาพกับสปสช.ก่อน และเวลาเราไปตรวจ สปสช.ก็จะกำหนดว่ามีรายการอะไรบ้าง ก็จะตรวจตามนั้นทั้งหมด และยังมีสิทธิเพิ่มเติมอีก 14 รายการ เป็นโรคที่พบมากในผู้ประกันตนซึ่งเป็นวัยแรงงาน โดยเฉพาะขณะนี้เราเน้นโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือ โรคหัวใจหลอดเลือด เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหล่านี้ หรือหากเกิดแล้วจะดูแลอย่างไร
นพ.กฤษดา หาญบรรเจิด ผอ.กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเบาหวาน ความดัน เป็นต้นทางของโรคNCDsที่เป็นอันตรายต่อไปในอนาคต เช่น หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง ที่ทำให้เสียชีวิตเป็นหลัก รวมถึงการที่เราดูแลโรคไตเรื้อรังด้วย ปีนี้เป็นที่กระทรวงสาธารณสุขจะเดินหน้าเรื่องทศวรรษการป้องกันโรคไตเรื้อรัง ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องจัดการเรื่องโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย สำหรับแผนการจัดการโรค NCDs ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และสื่อมวลชนก็มีบทบาทที่ทำให้ประชาชน self care หรือความรอบรู้สุขภาพ มีความตระหนัก ให้ดูแลสุขภาพตนเอง จึงจะจัดการได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้โรคเบาหวาน ความดัน เป็นโรคอันตรายทำให้เกิดการตายก่อนวัยอันควร ทำให้เสียผลผลิต และเสียบุคลากรของประเทศไปมาก เราหวังว่าภายใน 3-5 ปี ประชาชนคนไทยจะมีเครื่องมือช่วย อาจมีแอพหมอพร้อมที่จะช่วยประชาชน บอกสถานะสุขภาพว่ามีความเสี่ยงแค่ไหน ควรจัดการอย่างไร เช่น ไปออกกำลังกายแบบไหน ตรวจสุขภาพที่ไหน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี