ไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองผ่าน Policy Forum “โค้งสุดท้าย สว. โอกาสเปลี่ยนประเทศไทย?” ชี้ประชาชนมีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลง รอร่าง รธน.ฉบับใหม่ พร้อมชวนติดตามการทำงานของ สว.
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 67 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ร่วมกับสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ภาคประชาสังคม และนักวิชาการจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จัดเวทีเสวนาเชิงนโยบาย Policy Forum ในหัวข้อ “โค้งสุดท้าย สว. โอกาสเปลี่ยนประเทศไทย?” เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับประชาชนภาควิชาการ และภาคประชาสังคมจากทุกภูมิภาค ให้ได้บทสรุปเป็นข้อเสนอและเจตนารมณ์ส่งต่อความคาดหวังของประชาชนไปยังกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงสุดท้าย
ในช่วงที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีรับฟังเสียงประชาชนในระดับภูมิภาค 4 เวที ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ผ่านรายการฟังเสียงประเทศไทย เพื่อให้ความรู้และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น สะท้อนความต้องการ และรวบรวมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคุณสมบัติ สว. ที่ประชาชนต้องการ ซึ่งจากภาพรวมแสดงให้เห็นว่า ประชาชนยังมีความหวัง ตั้งตารอ สว. ที่ตั้งใจรับฟังเสียงของประชาชนและกล้าพูดเพื่อประชาชน รวมถึงยังคาดหวังกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทย
สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สว. ในระดับภูมิภาคที่ผ่านมาว่า ระบบและกฎเกณฑ์ของการเลือกตั้ง สว. บังคับให้ภาคประชาชนต้องรวมกลุ่มจัดตั้ง หาพวกพ้องทั้งภายในกลุ่มอาชีพเดียวกันและต่างกันเพื่อให้สามารถเลือกคนที่ดีที่สุดเข้าไปทำหน้าที่ในสภา ซึ่งทราบกันดีว่าด้วยศักยภาพของภาคประชาชนและฝ่ายการเมืองมีศักยภาพในการรวมกลุ่มที่ต่างกัน จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเลือกตั้งและส่งผลให้ภาคประชาชนมีโอกาสเข้าไปนั่งตำแหน่ง สว. ได้น้อยลง
ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า สว. ที่ได้จากการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความหลากหลายทั้งจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ กลุ่มการเมืองและอื่น ๆ ซึ่งสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนในแต่ละกลุ่มได้หลายหลากมากขึ้น แต่ปัญหาหลักคือ สว. ชุดนี้ จะเป็นตัวแทนของใคร แม้จะบอกว่าเป็นแทนกลุ่มอาชีพ เพราะกลุ่มอาชีพเลือกมา แต่ระดับสุดท้ายคือการเลือกไขว้ ไม่ได้มาจากกลุ่มอาชีพของตัวเองอีก สิ่งนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของ สว. ชุดนี้ เมื่อ สว. ไม่ได้มาจากประชาชน จะตอบโจทย์ ตอบสนองประชาชนไหม? แต่ด้วยอำนาจและหน้าที่ของ สว. มิใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อีกทั้งยังมีสมาชิกสภาผู้ราษฎร (สส.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่ในกระบวนการการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงแสดงให้เห็นว่าอำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่หายไปจากมือของประชาชน
สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า จากผลสำรวจความเห็นของประชาชน สิ่งสำคัญหลัก ๆ ที่ประชาชนอยากเห็นต่อจากนี้พบว่า คือการกลั่นกรองกฎหมาย การให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบรัฐบาลผ่านการตั้งกระทู้และเปิดอภิปราย รวมถึงการใช้อำนาจกรรมาธิการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน จึงมีความมุ่งหมายที่จะรวบรวมเสียงสะท้อนของประชาชนในประเด็นคุณสมบัติของ สว. ชุดใหม่ รวมถึงความคาดหวังในการเข้าไปทำหน้าที่ตัวแทนประชาชน สรุปเป็นสมุดปกขาว หรือ White Paper ส่งไปถึงกระบวนการเลือก สว. ชุดใหม่ อีกทั้งยังเสนอให้ว่าที่ สว. ชุดใหม่ติดตามความคิดเห็นด้านกฎหมายผ่าน “LawLink” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายอีกด้วย
“จาก White Paper นี้ไม่ได้ให้ท่านเฉย ๆ แต่เราจะติดตามว่าท่านได้ดำเนินการตามที่พวกเราคาดหวังหรือไม่” สติธร กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับช่วงสุดท้ายของการเสวนา ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว ไทยพีบีเอส กล่าวสรุปว่า แม้รูปแบบการเลือก สว. จะดู “ไม่ค่อยน่ารัก” แต่ยังมีความหวัง โดยมีคีย์เวิร์ดหนึ่งที่ขอยกขึ้นมาจากวงเสวนาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า “อย่าทำให้เราผิดหวัง” แสดงว่ายังมีความหวัง ส่วนเรื่องการมีบ้านใหญ่ และการจัดตั้ง ในตอนแรกคิดว่าคงไม่มีใครให้ความสนใจ แต่สิ่งที่เห็นในปัจจุบันกลับพบว่าตอนนี้หลายฝ่ายให้สนใจกับประเด็นนี้ และกล่าวปิดท้ายว่า เวทีนี้ให้ความสำคัญกับกระบวนการ แต่ก็คาดหวังว่า ว่าที่ สว. จะพูดคุยกันว่าจะทำอะไร สะท้อนวิสัยทัศน์ออกมา ซึ่งถือเป็นความคาดหวังและเป็นแนวโน้มที่ดี
ติดตาม เจาะลึก ทุกความคืบหน้าของกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ทางข่าวไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และทาง https://www.thaipbs.or.th/Senate2567 หรือร่วมจับตาอนาคตประเทศไทย ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการของนโยบายรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลแพลตฟอร์ม Policy Watch เพื่อเป็นสื่อกลางในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน ที่ https://policywatch.thaipbs.or.th/
ติดตามข่าวสารและเนื้อหาจากไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, LinkedIn
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี