นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศการเกษตร ได้มุ่งภารกิจการจัดทำและให้บริการข้อมูล ซึ่งต้องอาศัยฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และมีรายละเอียดในระดับพื้นที่ครอบคลุมกิจกรรมการเกษตรทั่วประเทศ ดังนั้น สศก. จึงได้มีแนวคิดการจัดทำข้อมูลพื้นฐานของสินค้าเกษตรที่สำคัญภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กิจกรรมการจัดทำข้อมูลกรอบตัวอย่างสำหรับการสำรวจ (Sampling for List Frame Survey) โดยอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ผลักดันให้ อกม. มีบทบาทหน้าที่สร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตร เพื่อยกระดับศักยภาพและพัฒนาสู่การสร้างรายได้ โดยกำหนดเป้าหมายสำรวจที่มีอยู่ทุกหมู่บ้านทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศประมาณ 75,000 หมู่บ้าน รวม 26 ชนิดสินค้า พืช ปศุสัตว์ และประมง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง มันสำปะหลังโรงงาน สับปะรดปัตตาเวีย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียนลำไย มะม่วงน้ำดอกไม้ มะพร้าวผลแก่ สุกร โคเนื้อ ไก่เนื้อ เป็ดเนื้อ โคนม ไก่ไข่ เป็ดไข่ กระบือ ไก่พื้นเมือง กุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกราม กุ้งขาวแวนนาไม ปลาดุก ปลานิลหรือปลาทับทิม และปลากะพงขาว
กิจกรรมภายใต้โครงการฯดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรและ อกม.ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่จัดเก็บหรือรายงานข้อมูลการเกษตร ผ่านระบบFrame-asa ที่ได้พัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในการลงทะเบียนผู้ปฏิบัติงาน การบันทึกข้อมูลที่สำรวจ และการจ่ายค่าตอบแทน โดยทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านในการถ่ายทอดวิธีการดำเนินงานภาคสนามในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งนอกจากตอบโจทย์เพื่อบรรลุเป้าหมายของกิจกรรมแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรและลดระยะเวลาในการปฏิบัติงานจัดทำข้อมูลสารสนเทศการเกษตรของเจ้าหน้าที่ภาครัฐอีกด้วย
การดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้กำหนดเป้าหมาย 14,271 หมู่บ้าน โดยผลการดำเนินงาน อกม. ได้รายงานและบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูลรวม 14,270 หมู่บ้าน (ร้อยละ 99.99 ของเป้าหมาย) รวม 18 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสระบุรีลพบุรีพระนครศรีอยุธยานนทบุรี นครนายกปราจีนบุรีฉะเชิงเทราสระแก้วจันทบุรีตราด ระยองชลบุรีสมุทรปราการกำแพงเพชรพิจิตร นครสวรรค์อุทัยธานีและเพชรบูรณ์ อย่างไรก็ตาม จากรายงานข้อมูลในระบบ พบว่าหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่หรือใกล้กับเขตเทศบาลซึ่งเป็นเขตเมือง บางพื้นที่จะไม่มีรายงานกิจกรรมการเกษตร ซึ่งพบว่าเป็นหมู่บ้านที่ประกอบกิจกรรมการเกษตรอื่นนอกเหนือจากข้อมูลของสินค้าที่จัดเก็บ ทั้งนี้ เมื่อรวมกับผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งดำเนินการ 26 จังหวัด 15,996 หมู่บ้าน พบว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในพื้นที่ภาคใต้และภาคกลาง รวม 44 จังหวัด 30,266 หมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สศก. จะยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมายให้ครอบคลุมเพิ่มเติมอีก 26,000 หมู่บ้าน ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน ซึ่งหลังจากที่ได้จัดเก็บข้อมูลครบทุกหมู่บ้านที่มีกิจกรรมการเกษตรตามเป้าหมาย สศก.มีแผนที่จะพัฒนาฐานข้อมูลให้สามารถเรียกใช้ข้อมูลระดับหมู่บ้านสำหรับการลงพื้นที่สำรวจของเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันในเวลาเดียวกัน และสามารถใช้ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับต่างๆเพื่อให้ข้อมูลสารสนเทศการเกษตรมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ รวมถึงพัฒนารายงานผลข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถใช้ประโยชน์ได้สะดวก และตรงตามความต้องการต่อไป ท่านที่สนใจต้องการสอบถามข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร โทร. 02561 2870 อีเมล prcai@oae.go.th
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี