การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ในปี 2024 หรือ APEC Economic Leaders' Week (AELW) ที่จัดขึ้นที่กรุงลิมา ประเทศเปรู ระหว่างวันที่ 10-16 พฤศจิกายน 2024 ภายใต้ธีม "Empower. Include. Grow." โดยประธานาธิบดีดีนา โบลูอาร์เตของเปรู เป็นประธานการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา
ประเด็นสำคัญใน APEC 2024
1.การค้าและการลงทุนเพื่อการเติบโตที่ครอบคลุม ผู้นำของแต่ละประเทศจะหารือแนวทางในการทำให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างโปร่งใสและทั่วถึง โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับภูมิภาคสู่ระดับโลก รวมถึงการขจัดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน
2.นวัตกรรมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจโลก เทคโนโลยีดิจิทัลจะถูกนำมาใช้เป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือกลุ่มเศรษฐกิจเปราะบาง เช่น กลุ่มที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทางการ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสเข้าถึงตลาดโลกอย่างเท่าเทียมกัน
3.การเติบโตที่ยั่งยืนเพื่อพัฒนาที่มั่นคง การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวจะเป็นหัวใจสำคัญของการหารือในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
นอกจากนี้ การประชุมยังประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญอื่น ๆ เช่น การประชุมสุดยอดซีอีโอ APEC (APEC CEO Summit) ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2024 และการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศและการค้าของ APEC ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2024
บทบาทของจีนใน APEC 2024
จีนเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก APEC ที่มีบทบาทสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะในด้านการค้า การลงทุน และนวัตกรรม เทคโนโลยี ซึ่งเป็นหัวใจหลักของนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งมุ่งสร้างเครือข่ายการค้าและการพัฒนาระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียและละตินอเมริกา ในที่ประชุมนี้ จีนจะเสนอแนะการส่งเสริมการค้าเสรี การลดกำแพงภาษี และการลงทุนที่มีความยั่งยืน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งยังมุ่งสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และละตินอเมริกา ในด้านการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
จีนได้มีบทบาทเด่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เช่น การลงทุนในระบบ 5G และเทคโนโลยีคลาวด์เพื่อส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวจีนคาดว่าจะเสนอแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการใช้พลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนา
ในการประชุมเอเปคเช้าวันที่ 15 พฤศจิกายน ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ "การยึดมั่นแห่งยุคสมัย ร่วมกันส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของโลก" ในการประชุมผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลิมา ประเทศเปรู
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ชี้ให้เห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิกได้มีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งในการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นประชาคมร่วมอนาคตแห่งผลประโยชน์ด้วยกัน ในเวลาเดียวกัน โลกได้เข้าสู่ยุคใหม่แห่งความปั่นป่วนและการเปลี่ยนแปลง การโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับบททดสอบที่รุนแรงสวนกับกระแสหลัก และอาจเกิดการถอยหลังได้ หากไม่พยายามที่จะก้าวย่างไปข้างหน้าต่อ จำต้องร่วมกันตัดสินใจว่า เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกควรก้าวย่างไปในทิศทางใด อีกทั้ง ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังคงจะเป็นหัวจักรในการส่งเสริมการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกัน และสร้างอีก " 30 ปีทอง" แห่งการพัฒนาเอเชีย-แปซิฟิกต่อไป
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ชี้ให้เห็นว่าการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 ได้วางแผนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นและครอบคลุม และมุ่งส่งเสริมความทันสมัยแบบจีน จีนยังคงจะดำเนินการปฏิรูปที่ลงลึกยิ่งขึ้น อัดฉีดแรงขับเคล่อนที่แข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจโลกต่อไป การพัฒนาของจีนจะแยกออกจากเอเชียแปซิฟิกไม่ได้ จีนจะสร้างผลประโยชน์ต่อเอเชียแปซิฟิกต่อไป ขอแต่เราปฏิบัติตามจิตวิญญาณของการเชื่อมต่อแบบเปิดกว้าง มหาสมุทรแปซิฟิกก็สามารถกลายเป็นช่องทางสู่ความเจริญรุ่งเรืองและการเติบโตได้ ขอให้เราเสริมสร้างความสามัคคีและกระชับความร่วมมือ ร่วมกันเผชิญหน้ากับความท้าทายของโลก ผนึกกำลังมากขึ้นเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของโลกและสร้างอนาคตที่ดีงามยิ่งขึ้นของมนุษยชาติ
การประชุม APEC 2024 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในการเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก และบทบาทของจีนก็สะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนในระยะยาว
เรียบเรียงโดย ดร.กฤตติกา เศวตอมรกุล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร / รองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี