ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกการดำเนินชีวิต แอปพลิเคชันที่ได้รับการพัฒนาขึ้นถือเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการการเงิน การเรียนรู้ หรือแม้แต่การทำงาน แอปพลิเคชันเป็นตัวช่วยยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยฟีเจอร์ทันสมัยและใช้งานง่าย กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้ ที่ต้องการปรับตัวให้ทันโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การนำแอปพลิเคชันเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันไม่เพียงแค่ทำให้การทำงานและการจัดการต่าง ๆ ง่ายขึ้น แต่ยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและประหยัดเวลาให้กับผู้ใช้ในทุก ๆ วัน ประกอบกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากระบบเมือง สู่การพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น อย่างเช่นในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมีวิทยาเขตตั้งอยู่ ดังนั้นเพื่อเป็นการบริการวิชาการ สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น รวมถึงจังหวัดสุพรรณบุรีมีนโยบายในการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต มีความเชี่ยวชาญที่เป็นอัตลักษณ์ในด้านการท่องเที่ยวและการบริการ จึงมีแนวคิดในการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้กับจังหวัดสุพรรณบุรี
ดร.สมจินต์ ชาญกระบี่ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทองกล่าวว่า จังหวัดสุพรรณบุรีมีพื้นที่ทำการเกษตรได้อย่างหลากหลาย ประกอบกับความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมและประเพณีอันเป็นลักษณะเด่นของจังหวัดที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล ส่งผลให้คนท้องถิ่นสามารถยอมรับในวัฒนธรรมที่หลากหลาย ภูมิปัญญาที่แตกต่างจึงมีการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งนับเป็นต้นทางของการผลิต การแปรรูปเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในรูปของยารักษาโรค เวชสำอาง และได้ขยายผลการดำเนินงานทั่วทั้งจังหวัด คนสุพรรณบุรีมีความเป็นศิลปินในสายเลือด เป็นเมืองแห่งสายธารดนตรีที่ทุกคนให้การยอมรับสุพรรณบุรีว่ามีความโดดเด่น และเป็นอัตลักษณ์ของดนตรีสุพรรณบุรีทั้งเพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต และเพลงสตริงป็อบร็อกจังหวัดสุพรรณบุรีจึงมีศักยภาพในการนำทรัพยากรที่มีที่มีเอกลักษณ์และ อัตลักษณ์ของพื้นที่มาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นทิศทางใหม่ที่เป็นทางเลือกสำหรับจังหวัดสุพรรณบุรีสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีจุดหมายเพื่อการสนทนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม และเชื่อว่าจะช่วยให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือของการทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าของความหลากหลายในวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมแรงให้กับการตระหนักรู้ในคุณค่าของชุมชนของตนเองแล้ว โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.อู่ทอง) เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษประเภทประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้เมืองโบราณอู่ทองและพื้นที่ขยายผล เป็นเมืองสร้างสรรค์ทั้งการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิม เพื่อให้การดำเนินการของสำนักงานพื้นที่พิเศษ ๗ บรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงกำหนดนโยบายการจัดการอย่างยั่งยืน ด้วยการมุ่งพัฒนาบริหารจัดการ และรณรงค์ให้พื้นที่พิเศษดังกล่าวดำเนินกิจกรรมภายใต้หลักการความยั่งยืน (Sustainability) โดยครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อให้สามารถบรรลุนโยบายข้างต้น ทางด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรรณรงค์ให้บุคลากรในองค์กร ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการจัดงานลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในด้านสังคม องค์กรให้ความรู้และสร้างความตระหนักด้านความยั่งยืนในการจัดงานร่วมกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และชุมชน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ องค์กรสนับสนุนใช้สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการจากชุมชน
ดร.สมจินต์ ชาญกระบี่ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการพัฒนาแอปพลิเคชันร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์นี้ให้กับจังหวัดสุพรรณบุรี จะนำมาซึ่งการผลักด้านนโยบาย และตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ ช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนให้ประสบความสำเร็จ โดยจะนำร่องจากการสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวให้เกิดความเป็นรูปธรรมจนเป็นแบบอย่างกระจายออกไปสู่ชุมชนอื่นๆในจังหวัดสุพรรณบุรีที่หยิบยกวิถีและมรดกทางวัฒนธรรมที่ชุมชนนั้นมีอยู่พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
อาจารย์เธียรรัตน์ ฉัตรภัทรพล อาจารย์ประจำโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (หัวหน้าคณะผู้วิจัยการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้กับจังหวัดสุพรรณบุรี) กล่าวว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มช่วยในการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับนักท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรีมีแนวคิดเริ่มต้นมาจากในปัจจุบันรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลง นักท่องเที่ยวมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น ทั้งการเลือกแหล่งท่องเที่ยวและการเลือกเส้นทางการท่องเที่ยว การวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการสำรวจและรวบรวมข้อมูลรูปแบบการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว และความต้องการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อนำสู่การวิเคราะห์และออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวภายในจังหวัดสุพรรณบุรี รวมถึงการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มช่วยในการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับนักท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรีสำหรับสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดสุพรรณบุรีให้มีประสิทธิภาพต่อไป โดยการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ต้นแบบจังหวัดสุพรรณบุรี ใช้กรอบแนวคิดของการกำหนดเส้นทางท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามกำหนดเวลาที่กำหนด มีองค์ประกอบจากความต้องการของนักท่องเที่ยวอย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการและความเพลิดเพลินในการเดินทาง โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มฯ มุ่งเป้าพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถทำงานได้ตามข้อกำหนด ประกอบด้วย การพัฒนาข้อกำหนดโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ การพัฒนาข้อกำหนดในการทำงานของแฟลตฟอร์ม โดยกรอบแนวคิดการทำงานของแพลตฟอร์มฯ ดังนี้
-แพลตฟอร์มฯ จะต้องสามารถใช้งานได้จากอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของนักท่องเที่ยว
-แพลตฟอร์มฯ จะต้องสามารถวิเคราะห์และกำหนดเส้นทางท่องเที่ยวพร้อมกับระบุแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ตามเงื่อนไขที่สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยพิจารณาจากเงื่อนไขที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของนักท่องเที่ยว ความต้องการของนักท่องเที่ยว สอดคล้องและเหมาะสมระหว่างแหล่งท่องเที่ยวกับนักท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับเงื่อนไขสำหรับการท่องเที่ยวที่เหมาะสมที่สุด
-แพลตฟอร์มฯ สามารถสืบค้นและระบุแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดสุพรรณบุรีที่อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ได้จากการวิเคราะห์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว และเป็นการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ของจังหวัดสุพรรณบุรี ส่งผลให้ภาพรวมของการท่องเที่ยวของจังหวัดสุพรรณบุรีมีประสิทธิภาพมากขึ้น
-แพลตฟอร์มฯ จะต้องให้ข้อมูลของเส้นทางท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่อยู่ในเงื่อนไขของการประมวลผลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจเลือกเส้นทางสำหรับการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว
นายวีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุพรรณบุรีกล่าวว่าจังหวัดสุพรรณบุรีมีการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ อยู่ไม่ไกลกรุงเทพ ที่ผ่านมาการท่องเที่ยว พื้นฐานการท่องเที่ยวเราไม่เป็นรองใคร แต่ขาดการบูรณาการร่วมกัน และส่งเสริมผลักดันอย่างจริงจังในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงนักท่องเที่ยว การที่มี แอปพลิเคชันจะนำมาช่วยส่วนนี้ได้ เรายังต้องการนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มีเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่บุคลากรเรายังขาดทักษะทางด้านภาษา ที่จะสื่อสารให้กับนักท่องเที่ยวต่างๆเหล่านี้นะครับการให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวต่างๆตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญนะครับ ผมเชื่อมั่นว่าแอปพลิเคชันจะสามารถนำมาช่วยให้นักท่องเที่ยวมีความสนใจมากขึ้นแล้วก็จะสร้างความมั่นใจว่าข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษให้ศึกษาก่อนครับถ้าการท่องเที่ยวเราแข็งแรงมันจะช่วยส่งเสริมส่งเสริมเรื่องสินค้าทางการเกษตรของเราได้ด้วย ที่เราคุยกันว่าเราอยากจะผลักดันเกษตรมูลค่าสูงนะครับปัญหาก็คือว่าเราไม่มีตลาด การท่องเที่ยวจะทำให้เราประชาสัมพันธ์สิ่งนี้ออกไปได้ สามารถสร้างตลาดที่แข็งแรงเพิ่มมากขึ้นให้กับเกษตรกร และตัวนักท่องเที่ยวเองจะช่วยสื่อสารทางด้านการเกษตรของเราออกไปให้ต่างชาติรู้จัก และยิ่งปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการประกอบการตัดสินใจเป็นการที่จะไปเที่ยวในแต่ละที่ในแต่ละที่ทำให้พักที่สุพรรณบุรีให้นานขึ้น มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเนี่ยถ้าเราได้แอปพลิเคชั่นมาอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องสำคัญและจริงๆผมคิดว่าถ้าสุพรรณบุรีถ้านักท่องเที่ยวแข็งแรงเนี่ยมันจะช่วยเศรษฐกิจจังหวัดได้เยอะมากนะครับ
อาจารย์เธียรรัตน์ ฉัตรภัทรพล อาจารย์ประจำโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (หัวหน้าคณะผู้วิจัยการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้กับจังหวัดสุพรรณบุรี) กล่าวเพิ่มเติมว่าแอปพลิเคชันออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรีจะช่วยวิเคราะห์และเลือกเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวจากปัจจัยต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นจากการศึกษา พร้อมทั้งให้ข้อมูลในรายละเอียดต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อให้นักท่องเที่ยวนำไปใช้สำหรับการตัดสินใจเลือกเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้ โดยแอพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการวิจัย "การพัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยในการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับนักท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี" ที่ได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่มีการพึ่งพาตนเองในการวางแผนเส้นทางการท่องเที่ยวมากขึ้น สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชัน และดาวน์โหลดคู่มือการใช้งานได้ที่ เว็ปไซต์http://www.thmdusit.com หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โทรศัพท์ 02-244-5769 โทรสาร 02-244-5769
การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็น “การเดินทางที่มุ่งสู่ประสบการณ์ที่มีส่วนร่วมและแท้จริง ด้วยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในศิลปะ มรดก หรือลักษณะพิเศษของสถานที่ และเป็นการเชื่อมโยงกับผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานที่" เป็นการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของท้องถิ่น วิถีชีวิต ภูมิปัญญา ศิลปะวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ จากต้นทุนในพื้นที่เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายสิ่งที่มีให้ลดลงไป และไม่ใช่กิจกรรมที่เน้นรายได้แต่เป็นกิจกรรมที่เน้นคุณค่า เป็นการอนุรักษ์สิ่งเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไปจึงขอเชิญชวนผู้ในสนใจแวะมาท่องเที่ยวที่จังหวัดสุพรรณบุรี และใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี