วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดโครงการสื่อสารสร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์งานประกันสังคมให้กับแรงงานอิสระและอาสาสมัครแรงงานในพื้นที่ กทม. โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม อาสาสมัครแรงงาน เครือข่ายประกันสังคมมาตรา 40 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการดังกล่าว ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ รัชดา กรุงเทพมหานคร
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าการอบรมโครงการสื่อสารสร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์งานประกันสังคม ในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นดำเนินการตามเป้าหมาย ภายใต้นโยบาย “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจแรงงานไทยมั่งคง” ที่ถือเป็นส่วนสำคัญโดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัครแรงงาน เครือข่ายประกันสังคมในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สิทธิประโยชน์ รวมทั้ง ส่งเสริมให้แรงงานอิสระได้รับสวัสดิการในทุกด้าน อาทิ การคุ้มครองด้านสุขภาพ ให้ได้รับค่าชดเชยตั้งแต่วันแรกเมื่อแพทย์สั่งหยุดงาน เมื่อจ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อนไข ด้านสังคม
ด้านอาชีพ และด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ขยายสิทธิการกู้ซื้อบ้านให้ครอบคลุมกับผู้ประกันตนทุกมาตรา จึงอยากให้ส่งเสริมการสร้างการรับรู้ให้กับอาสาสมัครแรงงาน เครือข่ายประกันสังคม ในพื้นที่สามารถนำไปขยายถึงผู้อาศัยในชุมชนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 1.72 ล้านคน โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดถึง 5 กรณี เช่น กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุดถึง 90 วัน กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน ได้รับสูงสุดตลอดชีวิต กรณีเสียชีวิตได้รับเงินค่าทำศพสูงสุด 50,000 บาท กรณีชราภาพได้เงินบำเหน็จ และกรณีสงเคราะห์บุตรได้รับเงินรายเดือนตั้งแต่บุตรแรกเกิดจนถึงอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมยังมีโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง/มีสิทธิ์ได้วงเงินกู้ซื้อบ้านหรือซื้อที่ดินปลูกบ้านได้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีมีความมั่งคงและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจต่อไป
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวนกว่า 11 ล้านคน มีตัวแทนเครือข่ายประกันสังคม จำนวนกว่า 25,000 คน และเครือข่าย “บวร” กลุ่มสมาชิกบ้าน วัด โรงเรียน และโรงงาน จำนวน 247,000 คน ทั่วประเทศ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร การสร้างการรับรู้และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจด้านการประกันสังคมให้ประชาชน อาสาสมัครแรงงาน เครือข่ายแรงงานในพื้นที่ได้รับทราบ จึงได้จัดให้มีโครงการสื่อสารสร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์งานประกันสังคมในวันนี้
ด้าน นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเสริมว่า สำนักงานประกันสังคมต้องการเน้นย้ำความสำคัญของประกันสังคมมาตรา 40 ที่ให้การคุ้มครองแก่แรงงานนอกระบบ และเพิ่มพูนศักยภาพของเครือข่ายประกันสังคมให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ ให้สามารถขยายผล รณรงค์ให้แรงงาน ภาคอิสระเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น สำหรับการจัด “โครงการสื่อสารสร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์งานประกันสังคม” ถือเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ถึงการมีส่วนร่วมของเครือข่ายประกันสังคม เช่น การให้บริการรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 การรับสมัครเครือข่ายประกันสังคม การอภิปรายร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการประกันสังคมมาตรา 40 การออกร้านจำหน่ายสินค้าของเครือข่ายประกันสังคม การจัดนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของภาคีเครือข่ายอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี