บอร์ดบริหาร กฟก.เห็นชอบแต่งคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดเพิ่มเติมอีก 4 จังหวัด ทำให้ครบทั้ง 77 จังหวัด พร้อมลุยงานในพื้นที่ ทั้งการสนับสนุนกลุ่มอาชีพ ฟื้นฟูเกษตรกร และแก้หนี้สินให้สมาชิกทั่วประเทศ
นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่าจากกการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 โดยมีนายกุญชร สุธรรมวิจิตร เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารฯที่ประชุมเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดเพิ่มเติมอีก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดครบถ้วนทั้ง 77 จังหวัด
คณะอนุกรรมการฯ จังหวัดแต่ละจังหวัดมาจากการคัดสรรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคราชการ เอกชน และตัวแทนของเกษตรกร พร้อมทั้งหัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ สาขาจังหวัดเป็นเลขานุการคณะ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญ ดังนี้ 1. เสนอนโยบาย แผนงานและงบประมาณประจำปีของสำนักงานจังหวัด 2. กำกับดูแล ให้คำปรึกษา และแนะนำแก่สำนักงานสาขาจังหวัด 3. พิจารณาและดำเนินการเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนหรือเพิกถอนทะเบียนขององค์กรเกษตรกรทั้งในส่วนที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหาร 4. พัฒนายุทธศาสตร์การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และการจัดการหนี้ของเกษตรกรในสำนักงานจังหวัด 5. สนับสนุนการพัฒนาแผนและโครงการฟื้นฟูหรือแผนการจัดการหนี้ของเกษตรกรในสำนักงานจังหวัด 6.พิจารณากลั่นกรองแผนและโครงการฟื้นฟูหรือแผนการจัดการหนี้ของเกษตรกร ในสำนักงานจังหวัด เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร 7. ติดตามสนับสนุนแผนและโครงการฟื้นฟูหรือแผนการจัดการหนี้ของเกษตรกรในสำนักงานจังหวัด 8. ติดตามประเมินผลแผนและโครงการฟื้นฟู หรือแผนการจัดการหนี้ของเกษตรกรในสำนักงานจังหวัด 9. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของกองทุน 10. ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการ คณะกรรมการบริหาร หรือคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรมอบหมาย
จะเห็นได้ว่าคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดมีบทบาทเป็นอย่างมากในพื้นที่สาขาจังหวัด ซึ่งจะต้องพิจารณากลั่นกรองข้อมูลของเกษตรกรสมาชิกเริ่มจากการขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร การขึ้นทะเบียนหนี้ ไปจนถึงการเสนอแผนและโครงการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร การชำระหนี้แทนเกษตรกร ดังนั้นภาระงานต่าง ๆ ในพื้นที่ สาขาจังหวัดจะมีคณะอนุกรรมการฯ ช่วยกลั่นกรอง และตอนนี้คณะกรรมการบริหารฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว ทำให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีกลไกในการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกันทั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาจังหวัด ทำให้บรรลุเป้าหมายตามตั้งไว้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังได้มีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะกรรมการบริหาร กฟก. ในคราวประชุมครั้งที่ 47/2567 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ในส่วนของการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดน่าน โดยให้ยืนตามมติเดิม พร้อมยังได้อนุมัติเปลี่ยนแปลงกลุ่มเป้าหมายและงบประมาณโครงการสรุปบทเรียนการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรเพื่อเป็นกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้งได้มีส่วนร่วมในการถอดบทเรียน ปัญหา อุปสรรคในการจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรจากครั้งที่ผ่านมา นำไปสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี