หลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ธุรกิจไทย-จีนรุ่นที่ 1 จัดบรรยายหัวข้อ คนรุ่นใหม่กับอนาคตการค้าไทย-จีน โดย ประธานฯ หอการค้าไทย-จีน
หลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ธุรกิจไทย-จีน รุ่นที่ 1 (Young Executive Program) ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับหอการค้าไทย-จีน โดยมีรายการจับจ้องมองจีน และ China Media Group ร่วมสนับสนุนได้อบรมผู้เรียนในหัวข้อ คนรุ่นใหม่กับอนาคตการค้าไทย-จีน โดย นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ให้ความรู้ในประเด็นเกี่ยวกับ การค้าไทย-จีน ว่ามีบทบาทสำคัญต่อกันและกันในภาพรวมเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะเมื่อไทยเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21” หรือ บีอาร์ไอ (BRI) ของจีน คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และเข้าใจบริบทโลกสมัยใหม่ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางในอนาคต ด้วยพฤติกรรมการบริโภค เทคโนโลยี และแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะพัฒนาและยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศ และเสริมสร้างโอกาสทางการค้าไทย-จีนได้ในหลายมิติ
นายณรงค์ศักดิ์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทจีนในเศรษฐกิจว่า สำหรับบทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลก มีตัวชี้วัดที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจจีน เช่น ขนาดเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ การลงทุนและอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านขนาดเศรษฐกิจ การเพิ่มบทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลก เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1978 ในยุคของ เติ้ง เสี่ยวผิง ด้วยนโยบาย “การปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศของจีน” เพื่อพลิกโฉมประเทศจีน เป็นชาติสังคมนิยมที่ทันสมัย โดยการดำเนินโครงการสร้างความทันสมัยแก่ประเทศจีน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การทหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาแต่ละด้านให้เจริญก้าวหน้าถึงระดับมาตรฐานโลกในปลายศตวรรษที่ 20 และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ของจีนในปี ค.ศ. 2001 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเปิดประเทศและเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านขนาดเศรษฐกิจ โครงสร้างการผลิต และการค้าระหว่างประเทศ จนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจจีนเมื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เมื่อปี ค.ศ. 2001 จีนมีขนาดเศรษฐกิจ เป็นอันดับ 6 ของโลก มีมูลค่าจีดีพีประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนขยายตัว อยู่ที่ประมาณ 7-8% ต่อปี ส่งผลให้จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าจีดีพีถึง 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ / รองจากสหรัฐฯ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก มีมูลค่าจีดีพี 28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบันนี้
นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีน ยังมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจของ 30 ประเทศในเอเชียรวมกัน ซึ่งมีมูลค่ารวม 16.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ขนาดเศรษฐกิจ 30 ประเทศในเอเชียรวมกัน น้อยกว่าขนาดเศรษฐกิจจีน 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ)
ส่วนด้านการค้าระหว่างประเทศ หากพิจารณาการส่งออกของจีน เมื่อปี ค.ศ. 2001 คิดเป็นประมาณ 20% ของ จีดีพี โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เสื้อผ้า ของเล่น และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีราคาถูกมากขึ้น เนื่องจากจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับต้นๆ ของสินค้าแรงงานที่ผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำ แต่ในปี ค.ศ. 2024 การส่งออกของจีน คิดเป็นประมาณ 35% ของจีดีพี สินค้าส่งออกสำคัญ คือ อุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และรถยนต์ไฟฟ้า จีนจึงกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก และมีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเสื้อผ้า
ประเทศจีนยังเป็นตลาดนำเข้าขนาดใหญ่ สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน เหล็ก และสินค้าเกษตรกรรม จากการที่จีนมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ที่มีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการเปลี่ยนแปลง
พฤติกรรมการบริโภคผ่านช่องทางดิจิทัล ส่งผลให้การบริโภคสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ
ด้านการลงทุนและอุตสาหกรรม เมื่อปี ค.ศ. 2001 จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีบทบาทในฐานะ “โรงงานของโลก” มีการพึ่งพาตลาดส่งออกของประเทศตะวันตก แต่ในปัจจุบัน เศรษฐกิจจีน เปลี่ยนไปสู่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและบริการ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และพลังงานสะอาด และการลงทุนของรัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) เพื่อเชื่อมต่อจีนกับประเทศต่างๆทั่วโลก
หากพูดถึงโครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งครบรอบ 10 ปี เมื่อปี ค.ศ. 2023 มีประเทศต่างๆมากถึง 150 ประเทศ และกว่า 30 องค์การระหว่างประเทศที่ได้ลงนามความร่วมมือในโครงการบีอาร์ไอ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสูงของโครงการในระยะที่ 2 ด้วยการบรรจุเป็น 1 ใน 8 แผนปฏิบัติการของจีน เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจโลก และไทย ยังคงเป็นส่วนสำคัญในโครงการนี้ โดยเฉพาะในฐานะศูนย์กลางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมไทย-ลาว-จีน ซึ่งจะเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค
นอกจากนี้ จีนยังเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนอันดับต้นๆ ของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งส่วนมากเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะและวัสดุ พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น
สำหรับบทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลกนั้น จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดคือ นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศของจีน ในปี ค.ศ. 1978 ทำให้จีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ เข้าสู่ยุคที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจของจีนมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ระบุว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีส่วนสนับสนุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามจีนยังต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯและประเทศตะวันตก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงในด้านความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-จีน ถึงความสัมพันธ์ที่ยาวนาน และมีความผูกพันกันในหลายมิติ ส่วนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและจีน ในวาระครบรอบ 50 ปี ในปีนี้ ถือเป็นปีทองแห่งมิตรภาพ ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง ตลอดปี 2568 นี้
ประเทศจีนจึงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) การค้าระหว่างไทย-จีน มีมูลค่าการค้ารวม 105,623 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.94 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย
จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย (รองจากสหรัฐฯ) มีสัดส่วนร้อยละ 11.69 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย มีมูลค่า 32,240 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ 6 ประเภท ได้แก่ ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ไม้ ยางพารา เป็นต้น
โดยสินค้าเกษตรกรรมของไทย ร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดส่งไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นผลจากการที่จีนได้เปิดตลาดและขยายขอบเขตการนำเข้าผลไม้ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆของไทย จีนจึงเป็นแหล่งนำเข้า อันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 25.55 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของไทย มีมูลค่า 73,382 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกล่าวได้ว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ของไทยเป็นการนำเข้ามาจากประเทศจีน) โดยโครงสร้างสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ หมวดสินค้าทุน 37% หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป 36% หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค 18% หมวดสินค้ายานยนต์และอุปกรณ์การขนส่ง ประมาณ 4%
นอกจากนี้ ไทย ยังมีรายได้จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งไม่ใช่ทัวร์ศูนย์เหรียญ และมีการใช้จ่าย 5-6 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจีน เดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 6,733,162 คน สร้างรายได้ กว่า 300,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 17-18% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งหมด แต่รายได้จำนวนนี้ ไม่ได้สะท้อนถึงการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีน
การค้าระหว่างประเทศไทยและจีนนั้น ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และการใช้ประโยชน์ภายใต้กรอบข้อตกลง RCEP ในการอำนวยความสะดวกทางการค้า ช่วยลดอุปสรรคทางภาษี ลดระยะเวลาในการดำเนินพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าบางรายการ และส่งเสริมการค้าระหว่างไทย-จีน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร (เช่น ยางพารา ทุเรียน และข้าวหอมมะลิ) สินค้าอาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทยไปยังจีน ซึ่งมีแนวโน้มที่ดียิ่งขึ้น
ในทางกลับกัน รัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกของมณฑลต่าง ๆ มายังอาเซียน และประเทศไทย โดยการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงอาร์เซป ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศของจีนกับอาเซียน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์
ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศไทยและจีนนั้น มีหลายปัจจัยที่เป็นความท้าทาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยที่ถือว่าเป็นโอกาส เช่น การส่งเสริมความร่วมมือ BRI ร่วมกัน การส่งเสริมการรค้าระหว่างไทยและจีน และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนระหว่างไทยและจีน ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-จีน
นายณรงค์ศักดิ์ ได้กล่าวถึงบทบาทของนักธุรกิจรุ่นใหม่ในอนาคตการค้าไทย-จีน ว่าการที่ประเทศจีน เป็นตลาดที่มีคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง และเป็นกลุ่มซื้อง่าย เพราะเป็นสังคมไร้เงินสดที่นิยมการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยและจีนก็ได้มีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ และสร้างการเชื่อมโยงผ่านเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวก ทำให้ลดต้นทุนด้าน โลจิสติกส์ การค้าและการลงทุน ถือได้ว่าเป็นโอกาสของไทยในการขยายการค้าไปยังประเทศจีน
แต่ความท้าทายในการเข้าสู่ตลาดจีน มีหลายประเด็น เช่น การแข่งขันในตลาดจีนที่เข้มข้นที่จีนประกาศใช้นโยบายยกเว้นภาษีศุลกากร แก่ประเทศกำลังพัฒนา จะทำให้ตลาดจีนมีการแข่งขันสูงยิ่งขึ้น, ความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและนโยบายของจีนที่เกิดขึ้นบ่อย
อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจรุ่นใหม่ของไทย มีศักยภาพสูงในการผลักดันการค้าไทย-จีนให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านมูลค่าการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ จากจุดเด่นของนักธุรกิจรุ่นใหม่ เช่น ความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ การสื่อสารและความเข้าใจวัฒนธรรม การสนับสนุนการค้าอย่างยั่งยืน การส่งเสริมสินค้าที่มีอัตลักษณ์ไทย การเข้าใจข้อกำหนดและกฎหมายของจีน และการพัฒนาเครือข่ายทางธุรกิจ ซึ่งสามารถขยายความได้ดังนี้
1 ความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ
นักธุรกิจรุ่นใหม่ มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ เช่น e-Commerce แพลตฟอร์มออนไลน์ และ AI ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดจีนที่ใหญ่และมีศักยภาพสูง และสามารถเชื่อมโยงกับผู้บริโภคชาวจีนได้โดยตรง เช่น Tmall, JD.com, TikTok เป็นต้น
นอกจากนี้ การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพและเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ และการสร้างแบรนด์สินค้าที่มีอัตลักษณ์ไทย เช่น อาหารไทย, สินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อเจาะตลาดจีนที่มีอำนาจในการซื้อที่เพิ่มขึ้น และมีความต้องการสินค้าคุณภาพสูงและแตกต่าง จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าส่งออกของไทย
2 การสื่อสารและความเข้าใจนวัตกรรม
นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทางภาษาและความเข้าใจในวัฒนธรรมจีน สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งขึ้นระหว่างธุรกิจไทยและจีน การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพช่วยลดความเข้าใจผิดและสร้างความไว้วางใจในคู่ค้าระยะยาว
นอกจากนี้ นักธุรกิจรุ่นใหม่ สามารถนำมาตรการป้องกันการปลอมแปลงสินค้า หรือ สินค้าลอกเลียนแบบ มาใช้ อย่างเช่น ระบบคิวอาร์ โค้ด ตรวจสอบสินค้าของแท้แบบ 1 ชิ้นต่อ 1 รหัส ติดบนตัวสินค้า โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ด้วยการสแกนคิวอาร์ โค้ด ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือพิจารณากรอกรหัสบนเว็บไซด์ของบริษัท เป็นต้น
3 การสนับสนุนการค้าอย่างยั่งยืน
นักธุรกิจรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จึงสามารถผลักดันสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงกับแนวโน้มความต้องการบริโภคชาวจีนในปัจจุบัน
4 การเข้าใจข้อกำหนดและกฎหมายของจีน
การค้าหรือการลงทุนกับจีน จำเป็นต้องศึกษาเรื่องภาษีศุลกากร และข้อกำหนดด้านมาตรฐานของสินค้าอย่างละเอียด รวมถึงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีน เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบเพื่อไม่ให้สินค้าถูก
5 การส่งเสริมสินค้าที่มีอัตลักษณ์ไทย
นักธุรกิจรุ่นใหม่ ยังมุ่งเน้นการส่งออกสินค้าที่มีเอกลักษณ์ไทย เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าเกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง และเครื่องประดับ เพื่อเจาะตลาดจีนที่มีอำนาจการซื้อเพิ่มขึ้น และมีความต้องการสินค้าคุณภาพสูงและแตกต่าง
6 การพัฒนาเครือข่ายทางธุรกิจ
นักธุรกิจไทยรุ่นใหม่ส่วนมาก ไม่มีข้อจำกัดในการสื่อสารทางภาษาและการใช้เทคโนโลยี จึงสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรในจีน ผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติทั้งในประเทศจีนและประเทศไทย; การเข้าร่วมประชุมสัมมนา เช่น การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก การประชุมสัมมนาทางเศรษฐกิจและโอกาสทางการค้าการลงทุนในประเทศจีน ตามที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลของมณฑลต่าง ๆ
หลังจากจบการบรรยาย ผู้อบรมกลุ่มกิเลนได้แบ่งปันประสบการณ์ให้ผู้เข้าอบรมท่านอื่นๆ ในด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของไทยและจีนต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี