ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดอบรมโครงการ “DPU AI Powered Education” ติดอาวุธอาจารย์ พัฒนาหลักสูตร-การสอนด้วย AI รองรับการเรียนรู้แห่งอนาคต ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “ โครงการ AI-Powered Education” เรื่องเทคนิคการใช้ AI มาช่วยงานด้านการเรียนการสอนสำหรับอาจารย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการและเตรียมความพร้อมให้คณาจารย์ในการออกแบบหลักสูตรที่สอดรับกับยุคดิจิทัล เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ อาคาร 2 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ผศ. ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า “ โครงการ AI-Powered Education นี้ เป็นกระบวนการต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนการสอนและวิจัย เพื่อเตรียมความพร้อมของคณาจารย์ในการออกแบบหลักสูตรที่ทันสมัยสอดรับกับยุคดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการศึกษา คณาจารย์สามารถนำข้อมูลและเทคโนโลยี AI มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการนำ Gen AI มาใช้ในการออกแบบเนื้อหาใหม่ๆ การนำ AI applications มาช่วยในการสร้าง Assignments การพัฒนา Teaching materials การสร้าง AI teaching assistants เฉพาะในรายวิชา รวมทั้งการสร้าง engagement ใน class และการวิเคราะห์ผู้เรียน”
“ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ส่งเสริมให้อาจารย์และนักศึกษาได้มีการใช้ AI มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 ในรายวิชา Capstone projects โดยนักศึกษาในทุกหลักสูตร จะเรียนรู้ในการประยุกต์ AI application ในกระบวนการ Design thinking ที่เป็นการทำงานและเชื่อมโยงความคิดร่วมกัน ระหว่างมนุษย์และ AI ในแต่ละ step ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ที่คำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainability) ในขณะที่ AI สามารถนำความสามารถต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล และระบบอัตโนมัติมาใช้ การรวม AI เข้ากับการออกแบบเชิงความคิดของมนุษย์ จะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้และใช้ประโยชน์ AI ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการสร้าง Solutions มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็น AI use cases ของอาจารย์และนักศึกษา อันจะเป็นก้าวสำคัญในการเรียนรู้กระบวนการผสมผสานการทำงานของมนุษย์และ AI เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
“ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมุ่งหวังให้บัณฑิตที่จบการศึกษา สามารถใช้ AI ได้เหมือนมีผู้ช่วยที่เป็น AI buddy ที่สามารถช่วยให้การทำงานบางอย่างรวดเร็วมากขึ้น สามารถหา Idea ใหม่ได้เร็วขึ้น รวมทั้งการใช้ AI ในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงาน โดยมหาวิทยาลัยยังปลูกฝังแนวคิดสำคัญในการประยุกต์ AI ในการทำงาน ว่า AI สามารถช่วยให้งานหลายอย่างง่ายขึ้นและเร็วขึ้นก็จริงอยู่ แต่ AI ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความถูกต้องของข้อมูล นั่นหมายความว่างานบางอย่างที่ข้อมูลเน้นความถูกต้องและเที่ยงตรง เช่น งานเกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ หรืองานพัฒนาแนวคิดเชิงวิชาการและวิจัย เรายังคงต้องใช้ Human ในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล นอกจากนี้ผู้ใช้จะต้องคำนึงถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณในการใช้ AI เช่น ไม่นำ AI มาใช้ในทางที่ผิดหรือเป็นอันตรายต่อสังคม หรือในการนำผลงานที่ได้จาก AI มาใช้งานยังจะต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มา เป็นต้น”
สำหรับการอบรมครั้งนี้มุ่งเสริมสร้างความรู้และทักษะด้าน AI สำหรับคณาจารย์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.สุขยืน เทพทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ การวิจัย การพัฒนาทุนมนุษย์ และองค์กรด้วย AI ได้มาแชร์ความรู้การใช้ AI ออกแบบและปรับปรุงหลักสูตร , ใช้ AI ช่วยเขียนงาน , ใช้ AI สร้างงานนำเสนอ (Presentation), ใช้ AI สร้างกราฟิกและ วิดีโอ , ใช้ AI สำหรับจัดทำชุดการเรียนรู้ออนไลน์ (E-Learning) ,ใช้ AI ในการออกข้อสอบและตรวจข้อสอบ และต่อยอดการใช้ AI แบบมือโปรซึ่งมั่นใจว่าผู้เข้าอบรมทุกท่านจะได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างแท้จริง
นายฐาปกรณ์ จำปาใด หัวหน้าแผนกสื่อนวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน เปิดเผยว่า AI ไม่ใช่แค่เพียงกระแส แต่กำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ปัจจุบันองค์กรจำนวนมากเลือกใช้ AI แทนแรงงานมนุษย์ในหลายตำแหน่งงาน ส่งผลให้ผู้ที่มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการขององค์กรมีมากขึ้น และ หลายองค์กรเริ่มพิจารณาว่าผู้สมัครงานมีทักษะด้าน AI หรือไม่ ซึ่งการใช้ AI สามารถช่วยให้งานสำเร็จได้เร็วขึ้น แม้ตอนนี้อาจจะยังมีข้อเสียของการใช้ AI อยู่บ้าง แต่ภาพรวมยังรู้สึกว่าการใช้งาน AI มีประโยชน์และคุ้มค่ากับการใช้มาก ดังนั้นการมาถึงของยุค AI เชื่อว่าจะมาอย่างแน่นอน
“โครงการ AI-Powered Education นี้ได้เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI เพราะเดิมทีสังคมเคยมองว่า AI อาจเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ จึงเกิดความกังวล ซึ่งอยากจะให้มองว่าเมื่อครั้งที่ Google เริ่มเข้ามามีบทบาทในการหาข้อมูลในการศึกษา หลายฝ่ายเคยกังวลว่า Google จะทำให้ผู้เรียนต้องพึ่งพาใช้หาข้อมูลมากเกินไป และ ไม่เข้าห้องสมุด ซึ่งตอนนั้นสุดท้าย Google ก็กลายเป็นที่ยอมรับในวงการการศึกษา สามารถใช้เสิร์ชหางานทางวิชาการได้ไม่แพ้การไปหยิบหนังสือในห้องสมุด และเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ ดังนั้นแทนที่เราจะปิดกั้นการใช้ AI เหมือนอดีตที่เคยเป็น เรากลับควรนำเทคโนโลยี AI นี้มาปรับใช้กับการศึกษา ให้เด็กได้เรียนรู้และใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ”
นายฐาปกรณ์ อธิบายต่อว่า โครงการ AI-Powered Education ได้ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมให้อาจารย์ใช้ AI เป็น “บัดดี้” ในงานด้านการเรียนการสอนและงานวิจัย โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการคิดหลักสูตร การออกแบบโครงสร้างรายวิชา ไปจนถึงการสร้างกิจกรรมและงานมอบหมาย AI จะถูกนำมาใช้ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การทำวิจัย วางแผนการเรียนการสอน การสร้างสื่อการสอน (Material) และการออกแบบแบบฝึกหัด (Assignment) เพื่อช่วยอาจารย์ในฐานะ “สมองที่สอง”
อาจารย์ธัญญภัสร์ ภูมิทรัพยเวทย์ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน กล่าวว่า “การเรียนรู้ AI ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยให้ผู้ใช้ตามทันและสามารถนำไปปรับใช้พัฒนาได้อย่างเต็มที่ อาจารย์มีหน้าที่นำพานักศึกษาไปสู่อนาคต ซึ่งแน่นอนว่านักศึกษาในอนาคตจะต้องใช้ AI อาจารย์จึงควรใช้ AI ให้เป็นและ มีความรู้ความเข้าใจ AI ก่อน เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้และแนวทางการใช้งานที่ถูกต้องแก่ผู้เรียน”
อาจารย์ธัญญภัสร์ เพิ่มเติมอีกว่า AI มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่สิ่งสำคัญคือการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพและต้องไม่ล้าหลังต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทุกคนที่อยู่ในยุคนี้ ไม่เพียงแค่อาจารย์ แต่ทุกคนที่ใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลต้องก้าวให้ทัน AI หากปรับตัวไม่ทันอาจทำให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ดังนั้นการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือสิ่งจำเป็น การอบรม AI ของ DPU ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้คณาจารย์สามารถปรับตัวและพัฒนาการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและระบบการศึกษาทั้งหมดในอนาคต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี