คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ 4 สถาบันอุดมศึกษาไทย จัดเสวนา “ทิศทางอิสลามศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย” ระดมแนวคิดและกำหนดทิศทางของอิสลามศึกษาในยุคสมัยใหม่
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาการอิสลาม วิทยาเขตปัตตานี จัดการประชุมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ทิศทางอิสลามศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย” โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำที่เปิดสอนหลักสูตรด้านอิสลามศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางและความท้าทายของการจัดการศึกษาอิสลามในบริบทของสังคมร่วมสมัย โดยมีพญ. เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความคาดหวังของกระทรวง อว. ต่อทิศทางการจัดการศึกษาและวิจัยด้านอิสลามศึกษาในประเทศไทย” ซึ่งมี รศ.ดร.มูฮัมหมัดอาฟีฟี อัซซอลีฮีย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาการอิสลามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม กล่าวรายงาน และมีผศ. ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รวมถึงคณะผู้บริหารและแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมอัลอัยยูบีย์ ชั้น 5 อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ คณะวิทยาการอิสลามวิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอิสลามศึกษาในระดับอุดมศึกษาในฐานะกลไกสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยกระทรวงฯ มุ่งสนับสนุนการบูรณาการองค์ความรู้ทางศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและตอบโจทย์อนาคตของประเทศ
ขณะที่ ผศ. ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวด้วยว่า เวทีในครั้งนี้ไม่เพียงเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสถาบัน แต่ยังมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในระดับอุดมศึกษาไทยให้เกิดเอกภาพและประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในด้านงบประมาณ การบริหารจัดการ และวิชาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้เรียนและสังคมโดยรวม สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาไทยในการร่วมกันกำหนดอนาคตของอิสลามศึกษาให้เท่าทันยุคสมัย เป็นพลังสร้างสรรค์ และยั่งยืนในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดทิศทางที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการศึกษาอิสลามให้มีคุณภาพ ทันสมัย และตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ภายในการประชุมเสวนาวิชาการได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก ได้แก่ ช่วงที่ 1 การนำเสนอแนวทางการจัดการศึกษาและวิจัยอิสลามศึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 สถาบัน ประกอบด้วย ผศ.ดร.มูหัมมัดรอฟลี แวหะมะ คณบดีคณะวิทยาการอิสลาม ม.อ. ปัตตานี,ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกริก,รศ.ดร.มูฮามัสสกรี มันยูนุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และ รศ.ดร.อานิส พัฒนปรีชาวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยประเด็นหลักของการนำเสนอ ได้แก่ สถานการณ์ปัจจุบันของการศึกษาอิสลาม ความท้าทายในการรักษาอัตลักษณ์ทางศาสนา การพัฒนาหลักสูตรที่สอดรับกับสังคมสมัยใหม่ และโอกาสของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ และช่วงที่ 2 การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดเวทีถาม-ตอบ และระดมแนวคิดจากผู้เข้าร่วมเสวนา ทั้งจากภาควิชาการและภาคปฏิบัติ เพื่อสรุปข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาอิสลามศึกษาในอนาคต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี