เมื่อเวลา 15.27 น.วันที่ 22 มกราคม 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเสด็จออก ณ บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้าย เนื่องในเทศกาลตรุษจีน พุทธศักราช 2566
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน ธูป ที่โต๊ะเครื่องสังเวย ทรงจุดธูปหางแล้วทรงปักที่เครื่องสังเวย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปหางแล้วทรงปักที่เครื่องสังเวย จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงกราบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงกราบ เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเผากระดาษเงิน กระดาษทอง สมควรแก่เวลา จึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
"พระราชพิธีสังเวยพระป้าย" เริ่มมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 ดังรายละเอียดปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 7 ตอนที่ 37 หน้า 324 วันที่ 14 ธันวาคม จุลศักราช 1890
"พระราชพิธีสังเวยพระป้าย" หรือ "การแต้มป้ายตามพิธีจีน" ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวจีนที่ดีงาม สำหรับพระป้ายนั้น ชาวจีนเรียกว่า "เกสิน" หมายถึง ป้ายชื่อของบรรพบุรุษ บุพการี ที่ตั้งไว้สำหรับบูชาประจำบ้าน เป็นประเพณี ธรรมเนียมจีน ที่เคารพนับถือ กตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ
การบวงสรวง บูชา เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ปฏิบัติ และครอบครัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีขึ้น และได้เป็นพระราชพิธีสำคัญในช่วงตรุษจีนของทุกปีจวบจนถึงปัจจุบัน
- 006