"ในหลวง-พระราชินี"เสด็จโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 เวลา 15.14 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร โดยเสด็จในการนี้ด้วย โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีการ เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ท่าวาสุกรี
เมื่อเสด็จฯ ถึงยังสะพานฉนวนประจำท่าเที่ยบเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กราบบังคมทูลพระกรุณารายงาน จำนวนเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ รวมถึงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ
จากนั้นเวลา 15.20 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือโท สมบัติ จูถนอม ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนฝีพายประจำเรือพระที่นั่ง แล้ว ว่าที่นาวาเอก คมสันต์ ศรีหลง นายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เข้าเทียบสะพานฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แล้ว พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการแจ้งนายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ให้ยาตราขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ต่อมาเวลา 15.22 น.เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เคลื่อนออกจากท่าวาสุกรีเพื่อเข้าริ้วขบวนยาตราขบวนไปยังท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม ขณะนั้นกองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงชัยเฉลิมพลชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังฆ์ แพรงอน แตรฝรั่งปี่และกลองชนะประจำเรือพระราชพิธีประโคมขึ้นพร้อมกัน
สำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ในปี 2567 นี้ กองทัพเรือดำเนินการจัดรูปขบวนตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยจัดรูปขบวนเรือ แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย มีกำลังพลประจำเรือ ในทุกริ้วขบวน จำนวน 2,412 นาย ใช้เรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ รวมถึงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ซึ่งระยะทางจากฉนวนน้ำท่าวาสุกรี ถึงฉนวนน้ำท่าหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม รวม 3.9 กิโลเมตร
โดยมีเจ้าพนักงานเห่เรือ 2 นาย เรือโทสุราษฎร์ ฉิมนอก และ พันจ่าเอกพูลศักดิ์ กลิ่นบัว สังกัดกรมการขนส่งทหารเรือ ใช้กาพย์เห่เรือพระราชพิธี 4 บทประพันธ์โดย พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ประกอบด้วย บทสรรเสริญพระบารมี บทบุญกฐิน บทชมเรือ และบทชมเมือง
ทั้งนี้ ตามโบราณราชประเพณี ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และที่เป็นการพระราชพิธี ซึ่งได้ประกอบการมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย และสืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ และได้มีมาจนปัจจุบัน แต่เดิมกระบวนพยุหยาตราสถลมารค (บก) หรือชลมารค (น้ำ) เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองเข้ามาประดิษฐาน การต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ และการพระบรมศพ เป็นต้น
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2500 ซึ่งเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้น และได้จัดให้มีขบวนเรือพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูป ไตรปิฏก และพระสงฆ์ แห่ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นการเฉลิมฉลอง ขบวนครั้งนี้เรียกว่า "ขบวนพุทธพยุหยาตรา" การจัดรูปขบวนเรือคล้ายรูปขบวนพยุหยาตราน้อย แต่ไม่ครบ เนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง มาสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพิธีครั้งสำคัญการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562
ในการเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นประเพณีที่มีมายาวนาน นับเป็นความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย ที่มีประเพณีอันงดงามและเป็นที่ประจักษ์ แก่สายตาของชาวต่างชาติ และในวันนี้ปวงชนชาวไทยจะได้รับชมความสวยงาม และความยิ่งใหญ่ของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการจัดงานเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นี้อีกครั้งหนึ่ง
จากนั้นเวลา 16.08 น.เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เทียบสะพานฉนวนน้ำ หน้าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เจ้าพนักงามพระราชพิธีเชิญผ้าพระกฐินจากบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชไปรอทูลเกล้าฯ ถวาย ในพระอุโบสถฯ
ต่อมาเวลา 16.12 น.เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เข้าเทียบท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จขึ้นท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กราบบังคมทูลพระกรุณารายงาน พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเฝ้าฯ รับเสด็จที่บริเวณปลายฉนวนน้ำ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จขึ้นสะพานฉนวนน้ำหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ไปยังพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับผ้าไตรจากเจ้าพนักงานศุภรัตทรงวางผ้าไตรเหนือพานแว่นฟ้าซึ่งตั้งอยู่หน้าอาสน์สงฆ์ใกล้เจ้าอาวาส ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานพระอุโบสถ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 2
ทรงหยิบผ้าห่มสำหรับพระประธานที่วางอยู่บนผ้าไตรพระราชทานเจ้าพนักงานภูษามาลา เจ้าหน้าที่กรมการศาสนากราบบังคมทูลรายงาจำนวนพระสงฆ์ จบแล้วทรงหยิบผ้าไตรที่พานแว่นฟ้านั้นพาดระหว่างพระกร ทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐินทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน ทรงวางผ้าไตรไว้บนพานแว่นฟ้าที่เดิม แล้วทรงประเคนผ้าไตรและเทียนปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์รูปที่ 2 เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีกฐินกรรมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จไปทรงถวายเครื่องบริวารพระกฐินแด่พระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสร็จแล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายเกียรติวิสุทธิ์ เพ็ชรหมื่นไวย ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ กราบบังคมทูลเบิกผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินบำรุงวัดเข้าเฝ้าฯ รับพระระระทานของที่ระลึก ตามลำดับ แล้วเสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์
เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว เนื้อทองคำ และเนื้อเงิน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 7 นิ้ว เนื้อทองคำ และเนื้อเงิน แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบราชินี และถวายและถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 3.5 นิ้ว เนื้อทองคำและเนื้อเงิน แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
ต่อมาเสด็จออกชานหน้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาพระพุทธนามิตร (พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 2) แล้วเสด็จฯ ไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงวางพุ่มดอกไม้และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ แล้วเสด็จไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
สำหรับการถวายผ้าพระกฐินหลวง เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะและเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก โดยจะเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ รวมทั้งพระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯ แทนพระองค์นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ 16 พระอาราม ที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทาน คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 12 พระอาราม จังหวัดนครปฐม จำนวน 1 พระอาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 2 พระอาราม และจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1 พระอาราม