พสกนิกรปีติเฝ้าฯชื่นชมพระบารมี
‘ในหลวง-ราชินี’
เสด็จฯถวายผ้าพระกฐินวัดอรุณฯ
โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
ส่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง
“ในหลวง-พระราชินี” ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เสด็จฯทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามฯพสกนิกรจากทั่วสารทิศสวมเสื้อสีเหลืองเฝ้าฯรอชื่นชมพระบารมีเนืองแน่นตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่างปลื้มปีติเมื่อเห็นเรือพระที่นั่งเคลื่อนผ่าน และส่งเสียงถวายพระพร “ทรงพระเจริญ”ดังกึกก้อง
เมื่อเวลา 15.14 น. วันที่ 27 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังท่าวาสุกรี เพื่อประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร โดยเสด็จในการนี้ด้วย
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงท่าวาสุกรี กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทะ ประธานรัฐสภา และนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เฝ้าฯ พระบาทรับเสด็จฯ
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ไปยังสะพานฉนวนประจำท่าเทียบเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ องคมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าฯรับเสด็จ จากนั้นพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนเรือและกำลังพล เสร็จแล้ว เวลา 15.20 น. เสด็จฯประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี โอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
นายเรือตีกรับ ฝีพายถวายบังคม พลเรือโท สมบัติ จูถนอม ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนฝีพายประจำเรือพระที่นั่ง ว่าที่นาวาเอก คมสันต์ ศรีหลง นายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากนั้น พลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการ แจ้งนายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ให้ยาตราขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ต่อมาเวลา 15.22 น. เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เคลื่อนออกจากท่าวาสุกรี เพื่อเข้าริ้วขบวนยาตราขบวนไปยังท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม ขณะนั้นกองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงชัยเฉลิมพลชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังฆ์ แตรงอน แตรฝรั่งปี่และกลองชนะประจำเรือพระราชพิธีประโคมขึ้นพร้อมกัน
สำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ในปี 2567 กองทัพเรือจัดรูปขบวนตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยจัดรูปขบวนเรือ แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย มีกำลังพลประจำเรือ ในทุกริ้วขบวน 2,412 นาย ใช้เรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ รวมถึงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ซึ่งระยะทางจากฉนวนน้ำท่าวาสุกรีถึงฉนวนน้ำท่าหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม รวม 3.9 กิโลเมตร มีเจ้าพนักงานเห่เรือ 2 นาย เรือโทสุราษฎร์ ฉิมนอก และ พันจ่าเอกพูลศักดิ์ กลิ่นบัว. สังกัดกรมการขนส่งทหารเรือ ใช้กาพย์เห่เรือพระราชพิธี4 บทประพันธ์โดย พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ประกอบด้วย บทสรรเสริญพระบารมี บทบุญกฐิน บทชมเรือ และบทชมเมือง
จากนั้นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเคลื่อนจากท่าวาสุกรีตามชลวิถีท้องน้ำเจ้าพระยา ไปยังท่าวัดอรุณราชวราราม ตลอดเส้นทางเสด็จฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปตามลำน้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรพสกนิกรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จตลอดเส้นทาง เมื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เคลื่อนผ่านจุดใด พสกนิกรที่เฝ้าฯรอรับเสด็จฯตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต่างพร้อมโบกธงปลิวไสว พร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง พร้อมยกมือถือขึ้นบันทึกภาพและคลิปวิดีโอ ต่างปลาบปลื้มปีติที่ได้มาเฝ้าฯ รับเสด็จในครั้งนี้
เวลา 16.08 น. เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เทียบสะพานฉนวนน้ำ หน้าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญผ้าพระกฐินจากบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชไปรอทูลเกล้าฯ ถวาย ในพระอุโบสถฯ เมื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เข้าเทียบท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯขึ้นท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กราบบังคมทูลพระกรุณารายงาน พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหมนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเฝ้าฯ รับเสด็จที่บริเวณปลายฉนวนน้ำ
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์เทียบ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จขึ้นสะพานฉนวนน้ำ หน้าวัดอรุณราชวราราม
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จฯไปยังพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับผ้าไตรจากเจ้าพนักงานศุภรัตทรงวางผ้าไตรเหนือพานแว่นฟ้าซึ่งตั้งอยู่หน้าอาสน์สงฆ์ใกล้เจ้าอาวาส ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานพระอุโบสถ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 2 ทรงหยิบผ้าห่มสำหรับพระประธานที่วางอยู่บนผ้าไตร พระราชทานเจ้าพนักงานภูษามาลา ทรงหยิบผ้าไตรที่พานแว่นฟ้าพาดระหว่างพระกร ทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐินทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน ทรงวางผ้าไตรไว้บนพานแว่นฟ้าที่เดิม แล้วทรงประเคนผ้าไตรและเทียนปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์รูปที่ 2 เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีกฐินกรรมแล้ว เสด็จ ฯไปถวายเครื่องบริวารพระกฐินแด่พระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐินทรงหลั่งทักษิโณทก
เสร็จแล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายเกียรติวิสุทธิ์ เพ็ชรหมื่นไวย ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ กราบบังคมทูลเบิกผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินบำรุงวัดเข้าเฝ้า ฯ รับพระระระทานของที่ระลึก ตามลำดับ แล้วเสด็จ ฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์
เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 9 นิ้วเนื้อทองคำ และเนื้อเงิน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายพระพุทธนฤมิตร(จำลอง) ขนาดหน้าตัก 7 นิ้ว เนื้อทองคำ และเนื้อเงิน แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบราชินี และถวายและถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 3.5 นิ้ว เนื้อทองคำและเนื้อเงิน แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
ต่อมาเสด็จฯออกชานหน้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาพระพุทธนามิตร(พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 2 แล้วเสด็จฯไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงวางพุ่มดอกไม้และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ แล้วเสด็จไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯกลับ
ทร.บวงสรวง-ไหว้แม่ย่านางเรือพระราชพิธี
ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 09.09 น. ที่อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พลเรือเอกจิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานพิธีบวงสรวงและเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือพระราชพิธี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กำลังพลประจำเรือและเจ้าหน้าที่ ในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย กองทัพเรือได้จัดพิธีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ในพื้นที่ต่างๆ โดยในส่วนของพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือพระราชพิธี ได้จัดขึ้นในพื้นที่อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ซึ่งเป็นพื้นที่จอดเรือพระที่นั่ง และเรือรูปสัตว์ เมื่อพนักงานอ่านโองการ บวงสรวงแม่ย่านางเรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธี ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้ง 52 ลำจบ ประธานในพิธีได้มอบพวงมาลัยให้ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่ง และนายเรือพระที่นั่ง ทั้ง 4 ลำ และมอบพานพวงมาลัยนำไปบูชาแม่ย่านางเรือ ดังนี้ ผู้แทนนายเรือ เรือรูปสัตว์ 10 ลำ 1 พาน ผู้แทนนายเรือ เรือดั้ง 22 ลำ 1 พาน ผู้แทนนายเรือ เรือแซง 7 ลำ และเรือตำรวจ 3 ลำ 1 พาน ผู้แทนนายเรือ เรือแตงโม เรืออีเหลือง เรือทยานซล เรือเสือคำรนธุ์เรือทองขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น 1 พาน
สำหรับพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ เป็นพิธีที่ชาวเรือมีความเชื่อกันมาแต่โบราณว่า เรือทุกลำ มีแม่ย่านางเรือสิงสถิตอยู่ คอยปกปักรักษา คุ้มครองป้องกันอันตรายทั้งปวงที่จะเกิดแก่เรือ ก่อนออกเรือทุกครั้งหรือการนำเรือไปใช้งาน จึงมักกระทำพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ หรือบูชาแม่ย่านางเรือก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ ถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันต่อเนื่องมาตราบจนปัจจุบัน
ปชช.พร้อมใจรอรับเสด็จฯในหลวง-ราชินี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณสวนสันติชัยปราการ ประชาชนพร้อมใจใส่เสื้อสีเหลือง มารอเฝ้าฯรับเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามรสชวรมหาวิหาร ซึ่งประชาชนเฝ้าจับจองพื้นที่เต็มตลอด 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท่าวาสุกรี ผ่านสะพานพระราม 8 ไปจนถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นระยะทาง 4 .2 กิโลเมตร ดังนี้ 1. ธนาคารแห่งประเทศไทย2. ใต้สะพานพระราม 8 – ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย3. Side-walk สวนสันติชัยปราการ – สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 4. ลาน 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์5. ลานปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์6. ท่าช้าง 7. สวนนาคราภิรมย์8. ท่าเตียน9. ท่าเรือวัดโพธิ์ 10. ใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี)11. สวนหลวงพระราม 812. ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า (ฝั่งธนบุรี) 13. สวนสุขภาพฯ โรงพยาบาลศิริราช14. อุทยานสถานพิมุข15. วัดระฆังดุสิตาราม (รร.สตรีวัดระฆัง)16. อู่ทหารเรือธนบุรี17. หอประชุมกองทัพเรือ/ลานทัศนาภิรมย์18. วัดอรุณราชวราราม
ชาวบ้านตจว.แห่จองพื้นที่ตั้งแต่ตี3
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แต่ละพื้นที่ที่เปิดให้ประชาชนมานั่งชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีเจ้าหน้าที่จิตอาสาคอยดูแลอำนวยความสะดวก และแจ้งให้ประชาชนที่ทยอยเข้าพื้นที่มาใหม่ทราบว่า ที่นั่งโซนด้านหน้าและตรงกลางเต็มหมดแล้ว จะนั่งรอชมได้บริเวณแถวหลังและเก้าอี้ที่ยังว่างอยู่ฝั่งซ้ายและขวา ซึ่งสำนักงานเขตบางพลัด นำเก้าอี้เข้ามาเสริมโดยรอบทางเดินริมน้ำไว้รองรับ ทั้งนี้ บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี ตั้งแต่ช่วงเช้า ประชาชนสวมเสื้อเหลืองมาจับจองพื้นที่รอชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคต่อเนื่อง โดยกลุ่มแรกเดินทางมาจากจังหวัดหนองบัวลำภู และจองเก้าอี้ตรงด้านหน้า ตั้งแต่ 03.00 น. ส่วนใหญ่บอกตรงกันว่า ตั้งใจอยากมาชมพระราชพิธีด้วยตาตนเองสักครั้งในชีวิต และหวังจะได้ชื่นชมพระบารมี โดยจะไม่ลุกจากเก้าอี้ไปไหน เตรียมข้าวเหนียวหมูปิ้งและเสบียงอาหารไว้แล้ว
กทม.ติดจอLED-เครื่องขยายเสียงพร้อม
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่เขตบางพลัดทำให้ทราบว่า จุดนี้เป็นไฮไลต์ที่ประชาชนให้ความสนใจ เพราะเป็นจุดเริ่มตั้งต้นของขบวนเรือที่จะได้ชมเรือพระราชพิธีอย่างใกล้ชิด โดยกรุงเทพมหานคร อำนวยความสะดวกติดตั้งจอ LED พร้อมเครื่องขยายเสียง 14 จุด รวม 18 จอ อยู่ในพื้นที่การดูแลของ 6 เขต คือ เขตดุสิต พระนคร บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ และธนบุรี นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้วีลแชร์ โดยทำทางลาดรองรับประมาณ 40 ที่นั่ง ณ จุดชมสวนสันติชัยปราการ ที่ตรงนั้นรองรับได้ 1,500 ที่นั่ง
ปชช.ใส่เสื้อเหลืองแห่จองพื้นที่ตั้งแต่ตี3
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เวลา 11.00 น. บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี ซึ่งมีเก้าอี้รองรับประชาชนได้ถึง 4,000 ที่นั่ง มีประชาชนจำนวนมากทุกเพศทุกวัย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางมาจากทั่วสารทิศทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด เข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อรับชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคตั้งแต่ตี 3 และรอเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ โดยประชาชนส่วนใหญ่พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลือง อีกทั้ง ยังมีการเตรียมความพร้อมด้วยการพกร่ม เสื้อกันฝน หมวกและพัดลมขนาดเล็ก ประชาชนต่างยิ้มแย้มด้วยความปีติยินดี
โดยรอบจุดรับชม มีจุดบริการอาหารพระราชทาน ซึ่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ คอยแจกจ่ายอาหารบรรจุกล่องและน้ำดื่มบรรจุขวด มีจุดบริการน้ำดื่ม ดูแลโดยสำนักการระบายน้ำ สุขาเคลื่อนที่ โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อม มีจุดบริการทางการแพทย์จากศูนย์บริการสาธารณสุข 31 เอิบ-จิตร ทังสุบุตรและกระทรวงสาธารณสุขคอยดูแลให้บริการ กรมแพทย์ทหารเรือรับหน้าที่ดูและให้บริการทางการแพทย์กับกำลังพลที่ร่วมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้
นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานเขตบางพลัด สำนักงานเขตต่างๆ บริเวณฝั่งธนบุรี สำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร สำนักการโยธา สถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ หน่วยงานดับเพลิงในพื้นที่ การไฟฟ้านครหลวง จิตอาสาพระราชทานและจิตอาสาอื่น จากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คอยอำนวยความสะดวกตั้งแต่จัดสถานที่ ดูแลความปลอดภัยไปจนถึงให้ข้อมูลกับประชาชนที่มารับชมพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค
สวนสันติฯ-ท่าเตียนเต็มตั้งแต่เช้า
อีกด้าน บริเวณสวนสันติชัยปราการ เจ้าหน้าที่จัดเก้าอี้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยารองรับประชาชนได้มากกว่า 1,500 ที่นั่ง ในการเข้าร่วมชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งบริเวณสวนสันติชัยปราการนั้น มีเจ้าหน้าที่คัดกรองประชาชน ตรวจสอบอาวุธ ก่อนเข้าสถานที่ พร้อมทั้งมีจิตอาสาพระราชทานคอยแจกจ่ายน้ำดื่ม อาหารพระราชทาน กาแฟฟรีแก่ประชาชนที่เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ ยังจัดเตรียมรถสุขาเคลื่อนที่ และอาสาสมัครกู้ภัยร่มไทรดูแลประชาชนใกล้ชิด ซึ่งมีชาวไทย และต่างชาติ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ พร้อมใจกันสวมเสื้อสีเหลืองมาจับจองที่นั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วงเช้าเนืองแน่น ถึงแม้สภาพอากาศร้อนระอุ และแม้ที่นั่งจะเต็มทั่วบริเวณ แต่ประชาชนก็ไม่ย่อท้อ นำเสื่อที่เตรียมมาด้วยปูนั่งบนพื้น และบางส่วนนำเก้าอี้พกพาขึ้นมากางเพื่อรับชมพิธี ขณะที่เจ้าหน้าที่นำจอโปรเจ็กเตอร์มาติดตั้ง บริเวณสวนสันติชัยปราการ เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมทั้งความงดงามของขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในจุดต่างๆอย่างใกล้ชิด ทั้งยังเตรียมที่นั่งสำหรับคนพิการที่นั่งวีลแชร์คอยอำนวยความสะดวกต่อการรับชมอีกด้วย
เช่นเดียวกับ จุดนั่งชมบริเวณท่าเตียน เจ้าหน้าที่จัดเก้าอี้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยารองรับประชาชนได้ประมาณ 450 ที่นั่ง โดยตรวจคัดกรองประชาชนเบื้องต้นก่อนเข้าจุดรับชม ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งมีประชาชนทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ มาเป็นครอบครัว มาส่วนตัว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาชมไม่ขาดสาย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากกรมมหาดเล็ก 904 ตำรวจ สน.พระราชวัง ตำรวจท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่เทศกิจ และจิตอาสา ตชด. รวมถึงหน่วยแพทย์ ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร คอยอำนวยความสะดวก มีอาหาร เครื่องดื่ม ให้บริการประชาชนเช่นกัน ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ปรับภูมิทัศน์ และประดับตกแต่งด้วยไม้ประดับไว้อย่างสวยงาม เตรียมพร้อมดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่จัดพระราชพิธี ทั้งนี้ บริเวณจุดชม ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่ท่าเตียน มีทัศนียภาพตรงข้ามวัดอรุณราชวราราม ซึ่งเด่นสง่างามอย่างยิ่ง ทำให้การจับจองพื้นที่เต็มอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงสาย
สธ.จัดทีมดูแลปชช.รับเสด็จฯ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อดูแลประชาชนที่จะเดินทางมาเฝ้ารอรับเสด็จในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางมาประมาณ 1 หมื่นคน กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนประมาณ 48 หน่วยงาน อาทิ การแพทย์ฉุกเฉิน ทีมดูแลสุขภาพจิต ทีมควบคุมโรค ทีมอำนวยการ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรรวม 271 คน ซึ่งทีมแพทย์ได้สำรวจสถานล่วงหน้า ในช่วงซ้อมใหญ่ วันที่ 15 และ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อประเมินสถานการณ์ เส้นทาง หากเกิดกรณีฉุกเฉินจะดูแลมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดรักษาพยาบาลเบื้องต้น 19 จุด กระจายในพื้นที่โดยรอบ หากเกินศักยภาพ ได้ประสานโรงพยาบาล รับส่งต่อไว้ 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลตากสิน โดยหน้าที่จะเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ เวลา 10.00 น.