เมื่อเวลา 17.11 น.วันที่ 12 ธันวาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะพระพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานในประเทศไทย เป็นการชั่วคราว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายหาญ จื้อเถียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประจำประเทศไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการดำเนินการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำสำนักนายกรัฐมนตรี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการจัดงานฯ และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ
เมื่อเสด็จเข้าพลับพลาพิธีทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ทรงศีล แล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ
จากนั้นทรงจุดไฟจากโคมไฟฟ้า แล้วพระราชทานเจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญไปตั้งที่มณฑปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) แล้วเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังมณฑปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุฯ เสด็จขึ้นมณฑปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ณ หน้าห้องกระจก ชั้น 3 ทรงวางพุ่มดอกไม้ แล้วเสด็จลงจากห้องกระจก ชั้น3 มายังมาณฑปฯ ชั้น 2 ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระบรมสารีริกธาตุทรงกราบ
ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จลงจากมณฑบที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก (พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก) เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงทำนุบำารุงศาสนาทั้งปวง โดยทรงเกื้อกูลค้ำจุนพระพุทธศาสนาภายใต้พระบรมโพธิสมภาร และเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการอุปถัมภ์กิจการของศาสนา ด้วยพระราชหฤทัยอันเข้าใจอย่างลึกซึ้งในความสำคัญของศาสนา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านศาสนานานัปการ ด้วยความเลื่อมใสและพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา กับทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองและธำรงไว้อย่างมั่นคงถาวรสืบไป
“พระเขี้ยวแก้ว” หรือ “พระธาตุเขี้ยวแก้ว” หรือ “พระทาฐธาตุ” คือ พระทันตธาตุส่วนที่เป็น “เขี้ยว” ของพระพุทธเจ้า จัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น ซึ่งตามตำนานพระเขี้ยวแก้ว จากพระไตรปิฎกภาษาบาลี ได้กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์”
ปัจจุบันมีพระเขี้ยวแก้วเพียง 2 องค์บนโลกมนุษย์เท่านั้น คือ “พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา” ประเทศศรีลังกา และ “พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย” ประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เคยอนุญาตให้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้ายไปประดิษฐานยังประเทศต่างๆ รวม 6 ครั้ง
โดยเมื่อปี พ.ศ.2545 พระเขี้ยวแก้วองค์นี้เคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวครั้งแรกในประเทศไทย ที่ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา 5 ธันวาคม 2545
ทั้งนี้ เนื่องเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568 รัฐบาลจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งองค์พระเขี้ยวแก้วมีความยาวประมาณ 1 นิ้ว ประดิษฐานในพระสถูปทองคำประดับอัญมณีล้ำค่าตามลักษณะศิลปกรรมแบบจีน มาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวอันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในด้านต่าง ๆส่งเสริมคำว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนได้เข้าสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ณท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 - 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 07.00 - 20.00 น.