เมื่อเวลา 17.15 น.วันที่ 15 ธันวาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 (The Ninth Princess Chulabhorn International Science Congress) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงโรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพ เสด็จเข้าห้องแกรนด์บอลรูม พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเอกสารการประชุมและของที่ระลึกแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการจัดการประชุมฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเอกสารการประชุมและของที่ระลึกแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ต่อจากนั้น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมฯ
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุมฯ เสร็จแล้ว ทอดพระเนตรวีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และวีดิทัศน์น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2530 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และจัดต่อเนื่องมาแล้ว 8 ครั้ง เนื้อหาหลักของการประชุมแต่ละครั้งสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาการของโลก และเพื่อเป็นเวทีให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความร่วมมือซึ่งกันและกัน รวมถึงเผยแพร่ผลงานวิจัยใหม่ๆ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญ ที่จะเน้นถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี กับการแก้ปัญหาความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว ตามแนวคิด "สุขภาพหนึ่งเดียว" (One Health) โดย องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ซึ่งเป็นแนวคิดและวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพแนวทางใหม่ ที่ได้รวมแนวทางปฏิบัติและความสัมพันธ์ของสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย