"ในหลวง-พระราชินี"เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุเท่า"พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568
เมื่อเวลา 17.11 น.วันที่ 14 มกราคม 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปในการพระราชพิธีสมมงคล (อ่านว่า สะ - มะ - มง - คน) พระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง เสด็จเข้าท้องพระโรง พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 1 ทรงกราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนพัดรองที่ระลึกพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี แด่พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ จำนวน 5 รูป
ต่อจากนั้น เสด็จเข้าห้องพระบรรทม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะเทวดารักษาพระมหาเศวตฉัตร และถวายราชสักการะพระแท่นราชบรรจถรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราช
จากนั้น เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพานทองสองชั้นบูชา พระพุทธรูปประจำพระชนมวารคู่พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9 และพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา
ต่อจากนั้น ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองลงยาราชาวดี และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยกราบถวายบังคมพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งประดิษฐานที่พระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองลงยารอง และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงกราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนพัดรองที่ระลึกพระราชพิธีสมมงคลฯ แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และสมเด็จพระราชาคณะ แล้วทรงยืนประเคนพัดรองที่ระลึกพระราชพิธีสมมงคลฯ แด่พระราชาคณะเจ้าคณะรอง พระราชาคณะ และพระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนา จนครบ 74 รูป เสร็จแล้ว พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว ทรงจุดเทียนดูหนังสือเทศน์พระราชทานแก่เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญไปปักที่จงกลธรรมาสน์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยที่หน้าพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร สำหรับพระบรมอัฐิทรงธรรม ทรงศีล พระราชญาณวัชรชิโนภาส ประธานสำนักศึกษาธรรมดอยธรรมนาวา ถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนา เรื่อง ติรัตนกถา จบแล้ว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ ทรงทอดผ้าไตร เที่ยวแรก 19 ไตร พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ และถวายพระธรรมเทศนา สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา
ต่อจากนั้น ทรงทอดผ้าไตรจนครบ 60 รูป พระสงฆ์สดับปกรณ์ เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบพระพุทธรูปประจำพระชนมวารคู่พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9 และพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา ทรงกราบถวายบังคมพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่หน้าพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสด็จออกจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 จัดขึ้นในวันที่ 14 มกราคม 2568 ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 26,469 วัน เป็นวันสมมงคลเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2279 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2352 การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบุพการี เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะทรงอนุสรณ์คำนึงถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชบุพการีในวาระต่างๆ เช่น วันครองสิริราชสมบัติเวียนมาพ้องกัน หรือวันที่พระชนมายุเวียนมาเสมอเท่ากันเป็นครั้งแรก เรียกว่า “สมมงคล” หมายถึง “เสมอกัน”
การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรีนี้ เป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีทรงปฏิบัติสืบต่อกันมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสมมงคลมาแล้ว 4 วาระ คือ วาระที่ 1 การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2508 วาระที่ 2 การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2528 วาระที่ 3 การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 และวาระที่ 4 การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 ซึ่งการพระราชพิธีสมมงคล ถือเป็นการแสดงถึงพระราชจริยาวัตรและวัฒนธรรมอันดีงามของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีเทิดทูนพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชบุพการี ที่ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่อาณาราษฎร และนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมือง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 ขึ้น เพื่อทรงพระราชอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ด้วยทรงอนุสรณ์คำนึงถึงพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นบ้านเมืองที่เป็นปึกแผ่นร่มเย็น ทรงเป็นนักรบที่เข้มแข็งและนักปกครองที่ชาญฉลาด ป้องกันขอบขัณฑสีมาเพื่อธำรงรักษาเอกราชของชาติไทย ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงตระหนักว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งเดียวกันกับชาติและประชาชน ทรงสร้างเครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องราชูปโภค ซึ่งแสดงถึงความเจริญมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยตั้งมั่นเป็นเอกราช ทรงฟื้นฟูราชประเพณีและประเพณีต่างๆ และทรงสร้างเครื่องประกอบพิธีเพื่อแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะ
อีกทั้งทรงเอาพระราชหฤทัยใส่และทรงให้ความสำคัญในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนในด้านต่างๆ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่อาณาราษฎร และนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมือง เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ความสำคัญต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระบรมราชบุพการีอยู่เสมอ ทรงทำนุบำรุงศาสนามาอย่างต่อเนื่อง ทรงห่วงใยและทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนทุกหมู่เหล่าให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุข จึงทำให้พระราชวงศ์จักรียั่งยืนมั่นคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน