เมื่อเวลา 17.24 น.วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนพฤกษศาสตร์สากล มาตรฐาน BGCI และสวนจากภูผาสู่มหานที ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยมี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะกรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติฯ และข้าราชการ เจ้าหน้าที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เฝ้าฯ รับเสด็จ
การนี้ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล แล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางนฤมล ล้อมทอง กรรมการและผู้ช่วยเหรัญญิกมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นางวันทนีย์ วัฒนะ กรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิ กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน พร้อมทั้งกราบบังคมทูลชิญเสด็จฯ ทรงเปิดป้าย สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนพฤกษศาสตร์สากล มาตรฐาน BGCI และสวนจากภูผาสู่มหานที กราบบังคนทูลเชิญเสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นรวงผึ้ง และทรงปล่อยปลาคาร์ปพระราชทาน
จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธีทรวกดปุ่มไฟฟ้าเปิดป้ายสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ๆ สวนพฤกษศาสตร์สาสตร์สากล มาตรฐาน BGC และสวนจากภูผาสู่มหานที เฉลิมพระเกียรติฯ แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธีทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ประทับพระราชอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทก (พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก)
ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราโชบายให้รูปแบบการจัดสวนเป็นไปตามหลักระบบนิเวศ และความหลากหลายของพืชพรรณ เช่นเดียวกับผืนป่าในธรรมชาติ ให้เป็น “ป่าเล็กในเมืองใหญ่” ที่สมบูรณ์ ซึ่งการพัฒนาตามแนวพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังกล่าว ทำให้สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้รับการรับรองจากองค์การ สวนพฤกษศาสตร์สากล BGCI (Botanic Gardens Conservation International) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ว่าเป็นสวนพฤกษศาสตร์สากลมาตรฐาน BGCI คือ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์ตามข้อกำหนดมาตรฐานขององค์การฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยเป็นสวนพฤกษศาสตร์มาตรฐานสากลแห่งแรก และแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร และเป็นแห่งที่ 3 ของประเทศไทย
สำหรับสวนจากภูผาสู่มหานที เป็นสวนที่มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดสร้างขึ้นบนเนื้อที่ 26 ไร่ เพื่อเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศ์ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคของประเทศไทย และพระราชทานโครงการพระราชดำริด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าพระอยู่หัวทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าสร้างความสมบูรณ์ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้ประชาชนได้เรียนรู้ ลักษณะของสวนจึงประกอบด้วย ความหลากหลายของป่า และการรักษาระบบนิเวศของน้ำ ด้วยวิธีธรรมชาติเพื่อการศึกษา คุณลักษณะเด่นของสวน คือ การนำกล้าไม้จากต้นไม้ที่ทรงปลูกไว้ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศที่เสด็จพระราชดำเนินไป มาปลูกไว้ในสวนโดยเรียงลำดับจากภาคเหนือจนถึงภาคใต้
หลังจากทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายสวนทั้ง 2 แล้ว ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีโดยวงเฉลิมราชย์ ควบคุมวงโดย นายวิรัช อยู่ถาวร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) พุทธศักราช 2560 ในเพลงต้นไม้ของพ่อ ขับร้องโดย นายธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) พุทธศักราช 2565 และศิลปินนักร้องจากโรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง พร้อมด้วยการแสดงประกอบเพลงจากคณะนักแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุง และคิดบวกสิปป์ กำกับการแสดงโดย นายยุทธนา อัครเดชานัฏ นายกล้ากูล อัครเดชานัฏ ซึ่งเป็นนักแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุงรุ่นแรก การแสดงประกอบด้วย 5 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 เปิดป่า องก์ที่ 2 หยั่งรากพระบารมี องก์ที่ 3 พฤกษชาติรื่นรมย์ องก์ที่ 4 ส่งต่อพระราชปณิธาน องก์ที่ 5 พระเมตตาบารมี รัชกาลที่ 10 ต่อด้วยเพลงตามรอยความดี บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาที่ประทับ ไปยังบริเวณจัดนิทรรศการทอดพระเนตรแบบจำลองสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนพฤกษศาสตร์สากลมาตรฐาน BGCI และสวนจากภูผาสู่มหานที่ แล้วเสด็จออกจากบริเวณจัดนิทรรศการ ไปยังที่ทรงปลูกต้นไม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้น ขณะนั้นวงดนตรีเฉลิมราชย์บรรเลงและขับร้องเพลงแม่แห่งแผ่นดิน ซึ่งเป็นเพลงที่อัญเชิญคำขวัญพระราชทานเนื่องในวันแม่แห่งชาติ พุทธศักราช 2550 คือ “ข้าวในนา ปลาในน้ำ คำโบราณ คือตำนานความอุดม สมบูรณ์สิน ฝากลูกไทย ร่วมหวงแหน รักแผ่นดิน ถนอมไว้ อย่าให้สิ้น แผ่นดินไทย” มาเป็นส่วนหนึ่งของการประพันธ์เป็นบทเพลง
ในการเสด็จฯ ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานลูกปลาคาร์ปทรงเลี้ยง จำนวน 172 ตัว 6 สายพันธุ์ ประกอบด้วย โคฮารุ จำนวน 52 ตัว อากามัทจึบะ จำนวน 20 ตัว คิอุจึริ จำนวน 25 ตัว เบนิกอย จำนวน 40 ตัว คาราชิกอย จำนวน 10 ตัว คาราชิ โกโยะ จำนวน 25 ตัว เพื่อทรงปล่อยที่สระในสวนจากภูผาสู่มหานที เพื่อให้ประชาชนที่มาพักผ่อนได้เพลิดเพลินกับความสวยงามและศึกษาประโยชน์ของปลาคาร์ป ตลอดจนได้เรียนรู้ความสำคัญของระบบนิเวศด้วย