‘ในหลวง-พระราชินี’ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย เฝ้าฯ ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
วันที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 17.24 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายนเรนทรา โมที (Mr.Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
ในโอกาสนี้ นายสิทธารถ บาบู (Mr.Sidharth Babu) นักการทูตปฏิบัติการ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย ปฏิบัติหน้าที่ล่ามภาษาฮินดี-อังกฤษ ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้วย
ประเทศไทยและสาธารณรัฐอินเดียมีความสัมพันธ์ที่ดีในระดับพระราชวงศ์และระดับรัฐบาล ทั้งยังมีความผูกพันด้านวัฒนธรรมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6-11 โดยมีการสถาปนาความสัมพันธ์ในระดับอัครราชทูตต่อกัน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2490 และได้มีความสัมพันธ์ในระดับเอกอัครราชทูต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2494 โดยมีการฉลองครบ 75 ปี ของการสถาปนาทางการทูตไปเมื่อปี 2565 ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7-21 เมษายน 2535 และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 – 27 ธันวาคม 2541 กับทรงทำการบินเครื่องบินพระที่นั่งเทียวบินพิเศษมหากุศล เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 โดยทรงทำหน้าที่นักบิน นำพุทธศาสนิกชนไปกราบสักการะสังเวชนียสถาน ณ ตำบลพุทธคยา ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลของทั้งสองประเทศได้มีความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ เมื่อปี 2567 รัฐบาลไทยและรัฐบาลอินเดีย ได้มีความเห็นชอบอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะมาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ระว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 18 มีนาคม 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับสถานพยาบาลกุสินาราคลินิก เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีอินเดียครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 โดยในครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ได้เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ และการท่องเที่ยว ตลอดจนการเชื่อมโยงทางคมนาคม รวมทั้งความร่วมมือด้านความมั่นคง อีกด้วย