ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ไทยและราชวงศ์ภูฏาน เป็นเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยไมตรีจิต และสายใยแห่งมิตรภาพอันลึกซึ้ง แม้ทั้งสองประเทศจะตั้งอยู่ห่างไกลกัน แต่กลับมีความใกล้ชิดกันอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งด้วยพระราชไมตรีส่วนพระองค์ระหว่างพระมหากษัตริย์ของทั้งสองชาติ และด้วยค่านิยมร่วมกันในเรื่องของการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลบนพื้นฐานของวัฒนธรรมและศรัทธา
ราชวงศ์ภูฏานมีความผูกพันธ์กับราชวงศ์ไทยมาอย่างยาวนาน และน้อมนำหลักการหลายประการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เช่น "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศในรูปแบบที่เรียกว่า "Gross National Happiness" หรือ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" อันเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นความสุขของประชาชนมากกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นเจ้านายไทยพระองค์แรกที่เสด็จเยือนภูฏาน และนำเอาโครงการหลวงเข้าไปยังเมืองภูนาคา มีศูนย์การเรียนรู้ชิมิปัง ปลูกผักผลไม้เมืองหนาว หญ้าแฝก ขณะที่ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ก็เข้าไปช่วยโครงการปลูกพืชผัก ผลไม้ และดอกไม้เมืองหนาว มีการจัดงานแสดงที่ราชวังฤดูร้อน เมืองพาโรในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนทุกปี
ในขณะที่ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งจัดขึ้นที่พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง การเสด็จฯ ครั้งนั้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างราชวงศ์ไทยและภูฏาน
นอกจากนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงเสด็จฯ เยือนไทยในโอกาสอื่นๆ ด้วย เช่น การเสด็จฯ เยือนอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2555 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และการเสด็จฯ เยือนในปี พ.ศ.2559 เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การเสด็จฯ เหล่านี้แสดงถึงความเคารพและความผูกพันอันลึกซึ้งระหว่างราชวงศ์ทั้งสอง
ในขณะที่การเสด็จฯ เยือนประเทศไทยของ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ในแต่ละครั้ง ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทั้งราชสำนักและประชาชนชาวไทย นับได้ว่าพระองค์เป็นพระราชอาคันตุกะ ที่ประชาชนชาวไทยให้ความรักและชื่นชมมากที่สุดพระองค์หนึ่ง
ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างราชวงศ์ไทยและภูฏาน ไม่เพียงแต่แสดงออกผ่านการเสด็จฯ เยือนของพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา วัฒนธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างสองประเทศ
การเสด็จเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ระหว่างวันที่ 23 - 28 เมษายน พ.ศ.2568 นับเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่เปี่ยมไปด้วยความปลื้มปีติ ทั้งต่อประชาชนชาวไทยและชาวภูฏาน เสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ไม่เพียงแสดงถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองราชวงศ์ แต่ยังเป็นการเสริมสร้างสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพระหว่างประชาชนของทั้งสองชาติอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น
เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมใจสองแผ่นดิน ที่ยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์มิได้เป็นเพียงพิธีการทางการทูต แต่เป็นสายสัมพันธ์แห่งน้ำใจและความเคารพอย่างจริงใจตลอดไป
ในห้วงเวลานี้ ความรัก ความศรัทธา และความผูกพันระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ได้เบ่งบานงดงาม ดุจมวลดอกไม้ที่ผลิบานท่ามกลางสายลมแห่งมิตรภาพ เป็นภาพที่น่าประทับใจและควรค่าแก่การจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์
ทีมข่าวแนวหน้าออนไลน์
- 006