คงยังจำกันได้ เมื่อเดือน ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา กับกรณีขบวนการยักยอกเงินคงคลังของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ความเสียหายกว่าพันล้านบาท มีการจับกุมผู้กระทำผิดไปหลายราย และพบว่าผู้กระทำผิดนำเงินที่ได้ไปซื้อทรัพย์สินอื่นๆ ก่อนนำมาขายต่อหวัง “ฟอกเงิน” เปลี่ยนเงินทุจริตให้ถูกกฏหมาย
ที่เป็นเรื่องฮือฮาที่สุด คือกรณีของ “บอย” ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ ดารานักแสดงชื่อดัง ที่ไปซื้อรถหรู “แลมโบร์กินี” (Lamborghini) ต่อจาก กิตติศักดิ์ มัทธุจัด 1 ในผู้ต้องหาคดียักยอกเงิน สจล. มาในราคา 13.5 ล้านบาท จนถูก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สั่งอายัดรถคันดังกล่าวไว้ตรวจสอบ
ขณะเดียวกัน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม..ว่ากรณีของดาราดังรายนี้เข้าข่าย “รับของโจร” หรือไม่?
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 (วรรคแรก) ระบุว่า..ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ..
พล.ต.ต.ภัครพงศ์ พงษ์เภตรา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การรับของโจร คือการรับสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะมีอยู่ว่าทรัพย์นั้นอาจจะถูกลักทรัพย์มาหรือชิงทรัพย์มาและนำมาขายต่อ โดยส่วนมากบุคคลที่รับซื้อของโจรหรือสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำความผิดนั้นมักจะมีข้ออ้างออกมาเสมอว่าทรัพย์หรือสิ่งของที่ได้มานั้น ตนไม่รู้ที่มาที่ไปว่าสิ่งของนั้นได้มาจากการกระทำความผิด ในกรณีเหล่านี้ ก็จะต้องดูพฤติการณ์ก่อน
เช่น เมื่อมีคนนำโทรศัพท์มือถือไอโฟน (IPhone) มาขาย ซึ่งหากมองดูจากความเป็นจริงแล้ว ราคาในท้องตลาดปกติจะอยู่ที่ 20,000 บาท แต่หากมีใครคนใดนำมาขายในราคาเพียง 5,000 บาท โดยพฤติการณ์แล้วสิ่งของเหล่านี้ที่นำมาขายนั้นก็ย่อมสงสัยได้แล้วว่า ทรัพย์ที่ได้มานั้นอาจจะได้มาโดยวิธีที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจจะไปปล้น จี้ ชิงมาก็เป็นได้ ซึ่งต้องดูเป็นกรณีไป
“สำหรับกรณีของบอย ปกรณ์ นั้น จะเข้าข่ายรับของโจรหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะตัดสินออกมาว่าเป็นอย่างไร แต่หากถามว่ากรณีนี้มีข้อสงสัยหรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่ก็คงจะแจ้งข้อหาตั้งเอาไว้ก่อน แล้วให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์อีกที แต่ถ้ามองจากราคาที่ได้ซื้อมานั้นซึ่งมองว่าราคามันถูกกว่าท้องตลาดก็อาจจะมีข้อสงสัย แต่บางทีรถที่ได้มาก็อาจจะได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพียงแต่เขาอยากจะขายถูกก็ได้ ซึ่งมันก็ไม่ผิด” รอง ผบช.น. กล่าว
แม้ข้อสงสัยรับของโจร กรณีของบอย ปกรณ์ จะเป็นรถหรูราคาแพงจนดูเหมือนไกลตัว และไม่น่าเกิดขึ้นกับประชาชนคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นใคร มีระดับรายได้แค่ไหน ก็อาจตกเป็นจำเลยข้อหานี้ได้ทั้งสิ้น หากไม่มีความระมัดระวัง
“สกู๊ปหน้า 5” ลงสำรวจพื้นที่ภายใน ศูนย์การค้ามาบุญครอง (MBK Center) เขตปทุมวัน กทม. ที่นี่เป็นตลาดซื้อขายโทรศัพท์มือถือและกล้องถ่ายรูปแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย เพื่อสอบถามบรรดาพ่อค้าแม่ขาย ว่ามีวิธีสังเกตและระมัดระวังการรับซื้อของโจรอย่างไรกันบ้าง? เนื่องจากโทรศัพท์มือถือและกล้องถ่ายรูป ก็จัดว่าเป็น “สินค้ายอดฮิต” ที่มิจฉาชีพมักจะลักวิ่งชิงปล้นเพื่อนำไปขายอยู่เสมอ
“เบียร์” หนุ่มวัย 33 ปี เจ้าของร้านมือถือรายหนึ่ง ระบุว่า ปกติแล้วจะเน้นรับซื้อเฉพาะโทรศัพท์ที่มีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมาครบถ้วนเท่านั้น และผู้ขายต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ยิ่งถ้าเป็นโทรศัพท์ไอโฟน ข้อพิสูจน์ว่าเป็นเครื่องของผู้ขายจริงหรือไม่? คือรหัสในการใช้เครื่องและใช้บริการต่างๆ ในเครือบริษัทแอปเปิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตไอโฟน หรือ “แอปเปิลไอดี” (Apple ID) หากไอโฟนเครื่องนั้นเป็นของผู้นำมาขายจริง เขาย่อมต้องรู้รหัสดังกล่าวด้วย
“ถ้าไม่มีบัตรผมก็ไม่ซื้อนะ ต้องมีบัตรประชาชน แต่ส่วนใหญ่เขาจะมีกล่องมา ซึ่งเราจะซื้อแบบนั้นมากกว่า แต่ถ้ามาแต่เครื่องอย่างเดียว อันนี้ไม่ค่อยรับ อย่างถ้ามาเทิร์นไอโฟน มีอุปกรณ์มาครบ มีบัตรมา เราก็รับเทิร์น หรืออย่างไอโฟนเวลามาขาย เขาจะมีแอปเปิลไอดี เราก็รู้แล้วว่าอันนี้เป็นเครื่องเขา” เจ้าของร้านมือถือรายนี้ ระบุ
เช่นเดียวกับ “พงษ์” อายุ 37 ปี หนุ่มเจ้าของร้านซื้อขายกล้องถ่ายรูปในพื้นที่เดียวกัน ที่ย้ำว่า ปกติแล้วทางร้านจะพยายามรับซื้อเฉพาะของที่ผู้ขายนำมาขายพร้อมอุปกรณ์ครบถ้วน และตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าผู้ขายที่นำมาเฉพาะตัวกล้องอย่างเดียว อาจได้ของชิ้นนั้นมาด้วยวิธีที่ไม่สุจริตก็ได้
“ถ้าเป็นของลูกค้าจริงๆ เขาจะมีอุปกรณ์มาให้ครบ มีกล่อง มีแบตชาร์จ มีแท่นชาร์จ มีสายชาร์จมาให้ครบ แต่อย่างพวกของขโมย มันก็มีแบบเอามาเฉพาะตัวกล้อง เราก็ตั้งข้อสังเกตไว้เลยว่าอาจไม่ใช่ของลูกค้าเอง” เจ้าของร้านกล้องรายนี้ กล่าวย้ำ
ด้าน พล.ต.ต.ภัครพงศ์ ฝากเตือนเพิ่มเติมว่า หากมีผู้นำสิ่งของที่ดูแล้วน่าจะมีราคาแพงมาขายในราคาถูกแบบผิดปกติ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นของที่ได้มาโดยทุจริต ไม่ว่าจะบุคคลที่นำมาขายจะเป็นใคร สนิทกับเราแค่ไหนก็ตาม เพื่อไม่ให้ตกเป็นจำเลยข้อหารับซื้อของโจร จนต้องเสียเวลา เสียเงิน และเสียสุขภาพจิตเพราะต้องไปต่อสู้คดี
“สำหรับคนที่กลัวว่าเมื่อเวลาจะไปซื้อสินค้า แล้วเกรงว่าอาจจะได้ของที่ได้มาจากการกระทำความผิด ก็ขอให้ตั้งข้อสังเกตไว้ คือเรื่องของราคา หากมีใครนำสิ่งของมาขายเราที่ราคาต่ำกว่าท้องตลาดมากๆ ก็ตั้งตั้งข้อสังเกตไว้เลยว่าสิ่งของนี้อาจจะได้มาอย่างไม่ถูกต้องหรือผิดกฎหมายไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกดำเนินคดีในข้อหารับของโจร
นอกจากจะสังเกตจากราคาที่นำมาขายแล้ว ให้สังเกตจากพฤติการณ์ด้วย เช่น หากมีคนนำของมาขายก็ให้ตังข้อสงสัยว่า..เฮ้ยได้สินค้านี้มาจากที่ไหน? ได้มาอย่างไร?..เพราะหากดูคนจากบุคลิกแล้ว เขาไม่น่าจะมีสิ่งของชิ้นนั้นๆ ในครอบครองได้ ก็ไม่ควรรับซื้อไว้เช่นกัน
สิ่งของทั้งหลายไม่ว่า จะเป็นโทรศัพท์มือถือ รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่หายมากที่สุด อันเกิดจากอาชญากรรมในแต่ละวัน สิ่งเหล่านี้หากมีคนนำมาขายในราคาถูก ล้วนแล้วแต่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการรับซื้อของโจรอย่างมาก ซึ่งหากจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้หากเป็นของที่ถูกกฎหมาย ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนสนิทก็ตาม เขาคงไม่เอามานำเสนอขายเราในราคาถูกอย่างแน่นอน เพราะหากนำไปขายตามแหล่งรับซื้อต่างๆ ก็จะได้ราคาตามตลาดทั่วไป อย่างกรณีของบอย ปกรณ์ เขาอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้” พล.ต.ต.ภัครพงศ์ ฝากทิ้งท้าย
และยังย้ำด้วยว่า..“ไม่มีของดีราคาถูก”!!!
“นักช็อปของมือสอง” โปรดระวัง!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี