ท่ามกลางหมู่ตึกสูงระฟ้าบนถนน “สุขุมวิท” ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ทำเลทอง” และศูนย์กลางเศรษฐกิจอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย จึงไม่แปลกนักหากพื้นที่เกือบทุกกระเบียดนิ้ว 2 ฟากฝั่งถนนสายนี้จะเต็มไปด้วยอาคาร บริษัท และห้างร้านต่างๆ ที่ตั้งตระหง่านสำทับความเป็น “ถนนธุรกิจ” ของสุขุมวิทให้เด่นชัดขึ้น
ทว่าลึกเข้าไปไม่กี่ร้อยเมตรภายในสุขุมวิท “ซอย 8” ที่เต็มไปด้วยอาคารน้อยใหญ่ กลับแว่วเสียงระฆังใบน้อย ล่องลอยออกมาจากสถานที่แห่งหนึ่ง เพื่อบ่งบอกให้รู้ว่าถึงเวลาเคารพธงชาติ
ใช่…..นี่คือโรงเรียนเล็กๆที่ชื่อว่า “วรรณวิทย์”!!!
ที่ประกอบขึ้นจาก “เรือนไม้” ไม่กี่หลัง ซึ่งแม้จะถูกคลื่นลมแห่งเงินตราถาโถมเข้าใส่อย่างต่อเนื่องมาเกือบตลอด 68 ปี แต่กลับไม่สามารถกลืนกิน “ตัวตน” และแปรเปลี่ยน “ปณิธาน” ของสถานที่แห่งนี้ได้
“โรงเรียนวรรณวิทย์” หรือ ว.ณ.ว. เป็นโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก มีพื้นที่ไม่ถึง 3 ไร่ ก่อตั้งปี 2489 ประกอบด้วยอาคารไม้ 2 ชั้น 2 หลัง มองผิวเผินมีสภาพคล้ายโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ แต่ต่างกันตรงที่โรงเรียนแห่งนี้ถูกล้อมด้วยอาคารขนาดใหญ่
ที่น่าแปลกอีกอย่างคือโรงเรียนแห่งนี้เก็บค่าเล่าเรียนเทอมละ 1,702 บาท สำหรับชั้นประถม และ 1,317.50 บาท สำหรับชั้นมัธยมปีที่ 1- 3 สวนทางกับ “ค่าครองชีพ” ที่สูงลิบของพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ!!!
“ย้อนกลับไป 68 ปีก่อน หม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา แม่ของยายเห็นว่าบุตรหลานของชาวบ้านในละแวกนี้ไม่มีโอกาสได้เรียน เพราะมีปัญหาเรื่องเงิน จึงตั้งโรงเรียนนี้ขึ้น เริ่มแรกมีนักเรียนไม่ถึง 10 คน และไม่เก็บค่าเล่าเรียน ช่วงแรกสร้างโรงเรียนแบบง่ายๆเป็นอาคารหลังคามุงจาก เรียกว่าเป็นโรงเรียนเอกชนเพื่อสังคมก็คงไม่ผิด ต่อมามีการเก็บค่าเล่าเรียน แต่อนุญาตให้เด็กค้างค่าเล่าเรียนก่อนได้ เพราะไม่อยากให้เรื่องเงินมากระทบการเรียนของเด็ก” คุณยาย หรือ ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์ ครูใหญ่วัย 94 ปีของโรงเรียนวรรณวิทย์ ย้อนอดีตให้ฟัง
ปัจจุบันโรงเรียนวรรณวิทย์ มีครู 37 คน และนักเรียน 514 คน ม.ร.ว.รุจีสมร บุตรสาวคนสุดท้องของ “หม่อมผิว” รับหน้าที่เป็นครูใหญ่มาตั้งแต่ปี 2497 ด้วยความหวังที่ว่านักเรียนทุกคนที่จบจากโรงเรียนแห่งนี้ไปจะเป็นคนดีของประเทศชาติในวันข้างหน้า
โรงเรียนวรรณวิทย์ ไม่มีเสียงออดไฟฟ้า แต่ใช้ “ระฆัง” หน้าห้องพักครูเป็นสัญญาณบอกเปลี่ยนคาบเรียน ที่นี่ไม่มีคอมพิวเตอร์ “กระดานดำและชอล์ก” คือ สื่อการเรียนการสอนอย่างเดียวที่มี โดยครูใหญ่บอกว่าครูส่วนมากมากของที่นี่อายุเกิน 60 ปีแล้ว แต่ยังมุ่งมั่น และมี “อุดมการณ์” แรงกล้าที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์
“ครูที่นี่อยู่กันมานานแล้ว สอนกันวันละ 4 - 5 คาบ วิธีการสอนที่เหมือนกัน คือ ความเป็นกันเองกับเด็กนักเรียนทุกคน และให้ความรู้ในแต่ละวิชาแก่เด็กนักเรียนอย่างเต็มที่ ไม่มีกั๊ก เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นครูก็ต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์” ครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์ กล่าว
สำหรับแฟนนวนิยายนิยายรุ่นเก่าๆจะรู้จัก “หม่อมผิว” ในชื่อ “วรรณสิริ” อันเป็นนามปากกาที่ท่านใช้ในการประพันธ์นวนิยายหลายๆเรื่อง แต่ที่ดังที่สุดก็เห็นจะเป็น “นางทาส” และ “วนิดา” ซึ่งกลายมาเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้ “วรรณวิทย์” ที่ประสบภาวะ “ขาดทุน” มาหลายสิบปี ยังคงยืนหยัดอยู่ได้
ม.ร.ว.รุจีสมร บอกว่า บทประพันธ์เรื่อง “วนิดา” ทำเงินให้ “หม่อมผิว” ไม่น้อย แต่เราเอามาใช้จ่ายหมดแล้ว ปกติค่าใช้จ่ายในโรงเรียนก็มาจากค่าเล่าเรียน แต่ทุกวันนี้เด็กน้อยลง มันก็ไม่พอ เราก็ต้องเบิกมา แต่ว่ามันหมดไปแล้ว ยายจึงสัมผัสได้ว่าบทประพันธ์ไม่ว่าจะจากปลายปากกาของใครก็ตาม มันมีคุณค่ามากกว่าที่จะเป็นแค่วรรณกรรม และโรงเรียนวรรณวิทย์แห่งนี้เป็นเหมือน “รากฐาน” สำคัญที่ช่วยให้เด็กๆมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้โรงเรียนจะประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด และเงินทุนสำรองจากบทประพันธ์ “วนิดา” กำลังจะหมดไป แต่ “คุณยาย” ก็ยืนยันว่าไม่เคยคิดที่จะขายที่ดินผืนนี้ แม้จะมีความพยายามจาก “นายทุน” ติดต่อเข้ามาขอซื้อพื้นที่มูลค่านับพันล้านบาท
“ยายค่อยๆมองความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมีความเจริญกว่าสมัยก่อนมาก จากที่มีแต่บ้านคนพอมาตอนนี้เต็มไปด้วยตึกคอนกรีต การพึ่งพากันก็ลดน้อยลงตามไปด้วย มีแต่ที่โรงเรียนแห่งนี้ที่ยายยังรักษาสภาพเดิมเอาไว้เพื่อยืนหยัดเจตนารมณ์ดั้งเดิมของแม่ ใครมาซื้อก็ไม่ขาย จะขายทำไม เพราะนี่โรงเรียนของเรา ที่ดินของแม่เรา นักเรียนของเรา อนาคตของเด็กมันประเมินค่าไม่ได้” คุณยาย กล่าวด้วยแววตาที่เด็ดเดี่ยว
นั่นก็หมายความว่า.....บางที “เงิน” ก็ไม่สามารถซื้อได้ทุกสิ่ง!!!
ขณะที่ “น้องเบนซ์” อายุ 7 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวรรณวิทย์ เล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า ก่อนจะมาเข้าเรียนที่นี่ แม่บอกว่าจะพาไป “บ้าน” อีกหลังหนึ่งที่ขึ้นต้นด้วยโรงเรียน แล้วเดี๋ยวตนก็จะรักที่นี่เหมือนกับแม่ พอมาเรียนที่นี่ก็เป็นเหมือนบ้านจริงๆ เพราะคุณครูใจดีทุกคน และสอนสนุก
ด้าน “ขวัญมณี” อายุ 36 ปี ศิษย์เก่าโรงเรียนวรรณวิทย์ ที่วันนี้กลายเป็นผู้ปกครองของ “น้องเบนซ์” กล่าวว่า ตนเรียนจบจากโรงเรียนแห่งนี้ แม้จะเป็นโรงเรียนเล็กๆ แต่ก็สอนอย่างเต็มที่และใส่ใจเด็กทุกคน ตนไม่เคยลืมบุญคุณและโอกาสที่โรงเรียน และครูมอบให้ จึงไม่ลังเลที่จะให้ลูกชายเรียนที่นี่ เพราะเชื่อมั่นว่า .....
“โรงเรียนวรรณวิทย์จะสอนลูกชายให้เป็นคนดี และมีคุณภาพได้”!!!
เธอ บอกด้วยว่า มีเพื่อนบ้านที่ส่งลูกเรียน “โรงเรียนนานาชาติ” เคยถามว่าทำไมส่งลูกเรียนโรงเรียนนี้ ทั้งๆที่มีโรงเรียนเอกชนอีกหลายแห่งที่มีชื่อเสียง และดูมี “ระดับ” กว่า ตนไม่รู้สึกโกรธในคำถามของเขาเลยแม้แต่น้อย และตอบกลับไปด้วยความภูมิใจด้วยซ้ำว่า.....
“จะมีโรงเรียนไหนดีกว่าฉันไม่รู้ แต่โรงเรียนแห่งนี้ทำให้เด็กอย่างฉันที่แต่ก่อนไม่มีอะไรเลย ได้รู้ว่าการศึกษามีความหมายมากแค่ไหน และให้อะไรกับเราถ้าเราเรียนรู้มัน ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้สอนฉัน และฉันมั่นใจว่า.....”
วรรณวิทย์” จะสอนลูกของฉันให้เป็นคนดีได้เช่นกัน!!!
บุษยมาศ ซองรัมย์
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี