กลับมาเป็นประเด็นร้อนในสังคมอีกครั้งกับ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัตราใหม่” หลังจากมีรายงานข่าวเมื่อเดือน ต.ค. 2558 ว่ากระทรวงการคลังเตรียม “ปัดฝุ่น” แนวคิดนี้ ซึ่งเคยถูกประชาชนคัดค้านในช่วงที่ สมหมาย ภาษี เป็น รมว.คลัง เนื่องจากภาษีดังกล่าวจะเก็บจากที่อยู่อาศัยทุกหลัง จนอาจกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองที่แม้จะมีที่ดินไม่กี่ตารางวา แต่ราคาที่ดินสูงมากและเป็นเพียงคนชั้นกลาง-ชั้นล่างทั่วไป หากต้องเสียภาษีอาจไม่มีรายได้เพียงพอจะจ่าย เป็นการเพิ่มภาระเกินสมควร
ทั้งนี้ตลอดเดือน ต.ค. 2558 โลกออนไลน์มีการส่งต่อภาพประกอบแสดงอัตราภาษีที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยฉบับล่าสุด อ้างอิงรายงานข่าวจากช่องไทยรัฐทีวี ระบุว่า ที่ดินต่ำกว่า 2 ล้านบาท เสียภาษีปีละ 600 บาท, ที่ดิน 2-5 ล้านบาท เสียภาษีปีละ 2,400 บาท, ที่ดิน 2-5 ล้านบาท เสียภาษีปีละ 2,400 บาท, ที่ดิน 5-10 ล้านบาท เสียภาษีปีละ 6,900 บาท, ที่ดิน 10-20 ล้านบาท เสียภาษีปีละ 18,900 บาท, ที่ดิน 20-50 ล้านบาท เสียภาษีปีละ 63,900 บาท และที่ดินราคามากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีปีละ 163,900 บาท โดยคาดว่าน่าจะเริ่มต้นจัดเก็บได้ในปี 2560
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์กับ “สกู๊ปหน้า 5” ถึงประเด็นนี้ว่า จริงๆ แล้วการเก็บภาษีที่อยู่อาศัยแบบนี้ถือเป็น “แนวคิดที่ดี” หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น ที่ดินแต่ละพื้นที่สามารถนำมาใช้ได้เหมาะสมและสร้างมูลค่าได้เต็มศักยภาพ รวมถึงเป็นภาษีที่คนร่ำรวยไม่สามารถหลบเลี่ยงได้
“หลักการใหญ่คือนี่เป็นการเก็บภาษีคนรวย ซึ่งที่ผ่านมาหลุดภาษีเกือบทุกประเภท คุณรู้ไหมคนรวยจ่ายภาษีเท่าไร? น้อยมาก เพราะมันมีวิธีเลี่ยงเยอะแยะไปหมด ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล พวกนี้เลี่ยงเก่งมาก” นักวิชาการจาก TDRI รายนี้ กล่าว
อย่างไรก็ตาม..เสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อท้วงติงจากประชาชนก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ไล่ตั้งแต่ 1.เกณฑ์ราคาบ้านและที่ดินที่จะต้องเสียภาษี กรณีนี้ ดร.สมชัย ยอมรับว่าเกณฑ์ที่เผยแพร่ออกมามีผู้ได้รับผลกระทบอยู่มาก โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในเขตเมือง ดังนั้นรัฐอาจต้องปรับเกณฑ์ขั้นต่ำในการยกเว้นภาษีให้สูงขึ้น
“สมมุติว่า 3 ล้านเป็นคนชั้นกลางจริง แต่เป็นคนชั้นกลางที่ยังหาเช้ากินค่ำ มีภาระนั่นนี่ก็คงไม่ไหว ก็ขยับเป็น 5 ล้านไหม? คือถ้าถึง 5 ล้านนี่ผมว่าทาวน์เฮ้าส์ชั้นดีมากนะ ทาวน์โฮมด้วย กรณีนี้จ่ายได้อยู่แล้ว ระดับนั้นนะคุณจ่ายค่าต่อทะเบียนรถปีละสองพันกว่าบาท เผลอๆ มีรถสองคันด้วยซ้ำ” ดร.สมชัย ให้ความเห็น
2.ผู้อยู่มานานอาจถูกบีบจากภาษีให้ขายที่ดินของตน จะได้รับความเดือดร้อนหากต้องย้ายออกไปนอกเมือง ประเด็นนี้
ดร.สมชัย มองว่า ผู้ที่ต้องย้ายอาจไม่ได้รับผลกระทบอย่างที่กลัวกัน เพราะขายแล้วไปซื้อบ้านอยู่ชานเมืองก็น่าจะพออยู่ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ “ติดหรู” ใช้สินค้ายี่ห้อดัง ก็คงไม่จำเป็นต้องเข้ามาจับจ่ายในเมืองบ่อยนัก
“การที่เขามีที่ดินมูลค่าสูง หมายความว่าเขาเป็นคนที่มั่งคั่ง สมมุติคุณขายได้ 7 ล้าน ไปซื้อบ้านข้างนอก 4 ล้าน ซึ่งนี่ก็ไม่ได้ไกลมากแบบสุดลูกหูลูกตา อย่างมากก็แค่ 10 กิโล เหลือ 3 ล้าน คุณหาดอกหาผลให้ลูกมาเรียนในเมืองได้ไหมสัก 5 ปี
จนจบปริญญาตรี ทีนี้ลูกก็หาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว และจริงๆ มันขึ้นกับวิถีชีวิตของคุณ เดี๋ยวนี้ห้างมันออกไปนอกเมืองหมดแล้วแถมรถไม่ติดเท่า แล้วของมันต่างกันแค่ถ้าคุณจะซื้อของแบรนด์เนมจริงๆ คุณต้องเข้ามาในเมือง แต่ถ้าชีวิตคุณไม่ใช่แบบนั้น ห้างนอกเมืองมันก็พอ” ดร.สมชัย อธิบาย
3.ผู้เช่าไม่ว่าเช่าห้องพักหรือเช่าที่ดินปลูกบ้านอาจต้องจ่ายค่าเช่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเจ้าของอาคารหรือที่ดินต้องจ่ายภาษี จึงผลักภาระมาให้ผู้เช่าด้วยการขึ้นราคาค่าเช่า ซึ่ง ดร.สมชัย ระบุว่า รัฐสามารถออกมาตรการลดหย่อนได้เพื่อไม่ให้ผู้เช่าผลักภาระไปให้ประชาชนจนเกินไป แต่ก็ต้องระวังการแอบอ้างเพื่อหลบเลี่ยงภาษีด้วย
“อันนี้เราต้องออกกฎหมายให้รอบคอบ ต้องไม่เปิดช่องว่าง เช่น คนไม่ได้ทำหอพัก อยู่ดีๆ มาบอกว่าทำหอพัก แต่จริงๆ แล้วใช้เป็นโรงงาน อะไรแบบนี้ครับ” ดร.สมชัย กล่าวย้ำ
ถึงกระนั้น นักวิชาการจาก TDRI รายนี้ก็มองว่า หากจะเก็บภาษีนี้จริงๆ รัฐเองก็ต้องทำหลายอย่างเพื่อให้ประชาชนคลายความกังวล อาทิ ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้ครอบคลุม ดังเช่นในหลายประเทศที่ผู้คนสามารถเดินทางจากนอกเมืองเข้ามาทำงานในเมืองได้อย่างสะดวกรวดเร็วจนไม่จำเป็นต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนตัว ซึ่งประเทศไทยยังมีปัญหาจุดนี้มาก ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่สบายใจหากต้องย้ายไปอยู่ชานเมืองเพราะจะต้องซื้อรถยนต์มาใช้
หรือการ จัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดิน เพื่อให้ความช่วยเหลือคนชั้นกลางและชั้นล่างที่
ได้รับผลกระทบในระยะเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ระยะเริ่มต้นรัฐอาจหารายได้จากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต-VAT) ก่อนเพื่อนำไปทำ
2 เรื่องข้างต้น เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่บนหลัก “ใช้น้อยจ่ายน้อย-ใช้มากจ่ายมาก” กระทั่งเมื่อระบบต่างๆ พร้อมแล้ว จึงค่อยเริ่มเก็บภาษีที่อยู่อาศัยต่อไป
“แวตนี่มีการสร้างภาพกันเยอะว่าคนจนถูกกระทบ จริงๆ ถ้าขึ้นแวตจาก 7 เป็น 10 รัฐบาลจะได้รายได้เพิ่มขึ้นมาอีก 4 แสนล้านบาท ประมาณนี้ผมว่าไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนล้านมาจากคนรวย แล้วแวตนี่เขายกเว้นสิ่งที่คนจนใช้เยอะนะ ถ้าเป็นผมขึ้นแวตแล้วได้เงินมา ผมเอาเงินไปพัฒนาเรื่องพวกนี้ก่อนให้นอกเมืองมันดูดี หรือจะเริ่มภาษีที่ดินก่อนก็ต้องเริ่มน้อยมาก เพราะมันต้องพัฒนาระบบไปด้วย” ดร.สมชัย กล่าวถึงแนวทางเก็บภาษีในระยะเปลี่ยนผ่าน
รวมถึง กระจายอำนาจทางการศึกษา ให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียน ทำให้โรงเรียนมีคุณภาพมากขึ้น เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองย่อมต้องการให้โรงเรียนของบุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนที่ดี ในระยะยาวก็จะแก้ไขปัญหาเด็กกระจุกตัวแต่โรงเรียนชั้นนำภายในเมือง ต้องตื่นเช้ากลับมืดค่ำเพื่อเดินทางมาเรียนในเมืองได้ในที่สุด เฉกเช่นประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ว่าจะเรียนที่ใดก็มีคุณภาพดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
“ที่เราควรจะทำไปพร้อมๆ กัน คือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการบริหารโรงเรียน อันนี้ทีดีอาร์ไอก็เคยพูดนะ ถ้าทำแบบนี้โรงเรียนที่เคยห่วยมันก็จะดีขึ้น เพราะคนที่มาบังคับให้มันดีขึ้นคือผู้ปกครอง”
ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI กล่าวทิ้งท้าย พร้อมกับฝากถึงประชาชนว่าอย่ามองภาษี
ทำนองนี้ในทางเลวร้ายจนเกินไป เพราะในความเป็นจริงสามารถออกแบบระบบการจัดเก็บ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือคนรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบ แต่หากค้านกันจนรัฐไม่สามารถจัดเก็บ คนร่ำรวยที่ควรเสียภาษีมากก็จะพลอยไม่ต้องเสียไปด้วย
กลายเป็น “คนรวยจับคนจนเป็นตัวประกัน” เพื่อที่ตนจะไม่ต้องจ่ายภาษีไปโดยปริยาย!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี