“เหี้ย”
หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Water monitor” หรือ “Varanus salvator” ในทางมายาคติของสังคมไทยมักถูกนำไปใช้เปรียบเปรยกับเรื่องไม่ดี และใช้เป็นคำ “ด่าทอ” จนชินปาก แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เพื่อให้เป็นสิริมงคลว่า “ตัวเงินตัวทอง” หรือ “วารานัส”แต่หลายคนยังรู้สึกไม่ดีกับสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้อยู่เช่นเดิม...ทว่าหากได้ทำความรู้จัก อาจทำให้คนไทยเปลี่ยน“มุมมอง” ที่มีต่อสัตว์ชนิดนี้ใหม่!!!
นั่นเพราะในความเป็นจริง “เหี้ย” ถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และครั้งหนึ่งในประเทศไทยเคยมีความพยายามผลักดันให้เป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” เพราะทั้งเนื้อและหนังมีราคาแพง เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมเครื่องหนังของยุโรป โดยมีข้อมูลธุรกิจเครื่องหนังของ “อิตาลี” เป็นตลาดที่มีการค้าขายและนำเข้า “ตัวเงินตัวทอง” ปีละหลายล้านตัว
“ปรเมศวร์ ตรีวลัยรัตน์” นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับ “เหี้ย” กล่าวว่า แท้จริงแล้วเหี้ยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 โดยสัตว์ “ตระกูลเหี้ย” ในประเทศไทยมีอยู่ 4 ตระกูล คือ 1.เหี้ย 2.แลนหรือตะกวด 3.เห่าช้าง ที่จะอยู่ทางภาคใต้ และ 4.ตุ๊ดตู่ ส่วนใหญ่พบได้ตามแหล่งน้ำ เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำ คลอง ปากแม่น้ำ ป่าชายเลน เป็นต้น แต่เมื่อ “ป่ากลายเป็นเมือง” เหี้ยจึงถูกจำกัดขอบเขต ระยะหลังพบแค่ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในบางพื้นที่
“หากย้อนกลับไปในอดีต เหี้ยยังไม่ได้เป็นคำหยาบคายอะไร แต่ด้วยความเจริญของเมืองทำให้ที่อยู่ของเหี้ยถูกรุกล้ำ ทำให้มันหาอาหารยากขึ้น สุดท้ายมันก็ต้องขโมยกินเป็ด ไก่ หรือปลา ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ จนกลายเป็นที่มาของคำด่า” ปรเมศวร์ กล่าว
“ปรเมศวร์” กล่าวอีกว่า จากงานวิจัยถือว่าเหี้ยมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยเป็นสัตว์ “นักล่า” บนห่วงโซ่อาหารระดับต้นๆ และทำหน้าที่ “สร้างสมดุล” ธรรมชาติให้กับประชากรสัตว์ อีกทั้งยังเป็นตัว “กำจัดซาก” ในธรรมชาติ เพื่อลดแหล่งกำเนิดเชื้อโรค จากการหมักหมมของซากสัตว์ โดยหลักๆ แล้วเหี้ยมักจะล่าสัตว์น้ำ ในวัยเด็กจะกินพวกสัตว์เล็กๆ เช่น แมลง กบ หนู หรืองู เป็นต้น จะเห็นได้ว่า “เหี้ย” ไม่ได้เลวร้ายเหมือนดั่งชื่อ ในทางกลับกันยังเคยถูกผลักดันให้เป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” อีกด้วย
เมื่อปี 2554 ประเทศไทยมองเห็นโอกาสในการทำตลาดเครื่องหนังของเหี้ย หรือ “ตัวเงินตัวทอง” จึงมีการศึกษาวิจัยเรื่อยมา โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหัวเรือใหญ่ในการก่อตั้งโครงการ “การศึกษาวิจัยการเลี้ยงและใช้ประโยชน์ตัววารานัส(Varanus salvator) เพื่อผลเชิงเศรษฐกิจ” ขึ้น ถึงขั้นมีการเปิด “ฟาร์มวารานัส” แห่งแรกในไทยขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2554
ความจำเป็นที่ต้องมีการศึกษาวิจัย เพราะเราไม่สามารถ “ล่า” หรือจำหน่ายตัวเงินตัวทองที่อยู่ตามธรรมชาติได้ เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 และยังติดอยู่กับข้อตกลงอนุสัญญา “ไซเตส”(CITES) หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อนำผลวิจัยไปขออนุญาต หรือขอ License ในการเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้จากไซเตสให้ไทยสามารถเพาะเลี้ยงได้ ก่อนที่จะมีการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ในการเก็บข้อมูลนั้นมีการศึกษาทั้งเรื่องลักษณะนิสัย อาหารการกิน และชีวิตความเป็นอยู่ มีการทดลองเลี้ยงใน “บ่อปูน” เพื่อจะพัฒนาไปสู่โครงการผสมพันธุ์ให้ได้ลูกตัวเงินตัวทองจากการเลี้ยงในระบบฟาร์ม เมื่อได้มาแล้วมีการฝังไมโครชิพทุกตัว ภายใต้ “ความฝัน” ว่าถ้าขอ License ในการเลี้ยงได้สำเร็จ ไทยอาจเป็นผู้นำในการส่งออกหนังของตัวเงินตัวทองที่มีคุณภาพได้
“ปรเมศวร์” กล่าวว่า จากการศึกษาครั้งนั้น พบว่า หนังตัววารานัส หรือ “หนังเหี้ย” มีราคาสูงน่าจะเทียบเท่าหนังจระเข้ เพราะเป็นหนังที่มีคุณภาพ เป็นหนังที่เหนียวมากทำให้บางได้โดยไม่ขาด มีลวดลายที่สวยงาม สามารถใช้หนังได้ทั้งตัว อีกทั้งเมื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นต่างๆ จะมีความเบา แต่หนังจระเข้สามารถใช้ได้เฉพาะส่วนท้องเท่านั้น และมีน้ำหนักมากกว่า อีกอย่างคือหนังวารานัสมีเอกลักษณ์เฉพาะ เนื่องจากลวดลายของหนังวารานัสแต่ละตัวจะมีลายที่ไม่ซ้ำกันแม้แต่ตัวเดียว ดังนั้นสินค้าตัวนี้ถ้าทำขึ้นมาได้จะเป็นยูนีค มีชิ้นเดียวในโลก ทำให้มันมีมูลค่าสูง
จากการวิจัยยังพบว่า หนังตัววารานัสมีมูลค่าสูงมาก โดยในอดีตหนังจระเข้ 1 เซนติเมตร มีราคาถึง 160 บาท แต่หนังตัววารานัส 1 นิ้ว มีราคาเพียง 60 บาทเท่านั้น แต่ปัจจุบันราคาหนังจระเข้ทะยานขึ้นสูงลิ่ว หากนำมาผลิตเป็นกระเป๋าไซส์ใหญ่มีราคาเริ่มต้นที่ราวแสนบาท ส่วนไซส์เล็กแบบกระเป๋าผู้หญิงราคาอยู่ที่ 60,000-70,000 บาท ขณะที่หนังตัววารานัสหากได้จากการเลี้ยงในฟาร์มอย่างดีจนสามารถผลิตหนังได้ในระดับ “เกรดเอ” จะนำมาทำกระเป๋าได้ในราคาเริ่มต้นใบละ 3 แสนบาท เทียบเท่าทองคำแท่งประมาณ 12 แท่งเลยทีเดียว แต่สุดท้ายโครงการดังกล่าวมีอันต้อง “ล้ม” กลายเป็นแค่ “ฝันค้าง”!!!
“ปรเมศวร์” ระบุว่า จากการที่ได้ทดลองเลี้ยง พบว่าเหี้ยเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณสัตว์ป่าสูงมาก เมื่อเรานำมาเลี้ยงในฟาร์ม ทำให้เหี้ยเกิดความเครียด และไม่ยอม “ผสมพันธุ์” ส่งผลให้การเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ทำได้ลำบาก โครงการดังกล่าวจึงต้องล้มเลิกไป “ชั่วคราว” ดังนั้นปัจจุบันการเพาะเลี้ยงเหี้ยเพื่อการพาณิชย์ในประเทศไทย จึงยังไม่สามารถทำได้ เพราะเหี้ยถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 91 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 เป็นสัตว์ที่ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้า หรือส่งออก ห้ามเพาะพันธุ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต รวมถึงยังไม่ได้รับอนุญาตตามอนุสัญญาไซเตสเพราะผลการศึกษายังไม่เป็นที่น่าพอใจ
ถือเป็นเรื่องที่ “น่าเสียดาย” เพราะหากฟาร์มวารานัสหรือ “ฟาร์มเหี้ย” เกิดขึ้นได้จริง จะทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังวารานัสในประเทศไทยเติบโตขึ้นอีกเท่าตัว เพราะมีราคาแพง และเป็นที่ต้องการของตลาด คาดว่าจะมาแทนที่หนังจระเข้ หนังงู ได้ในอนาคต
“ปรเมศวร์” กล่าวทิ้งท้ายว่า จากข้อมูลข้างต้นพอจะทำให้คนไทยปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อ “เหี้ย” ไปได้บ้าง เพราะดูเหมือนเหี้ยจะไม่ได้เลวร้ายเหมือนที่คนไทย “อุปโลกน์” ให้เป็น ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็น“สัตว์อัปมงคล” แต่ถูกมนุษย์ “สวมหัวโขน” ให้ต่างหากทั้งๆ ที่ “ตัวเงินตัวทอง” ที่ถูกหลายคนรังเกียจ เกือบจะ “พลิกบทบาท” กลายเป็นตัวสร้างเงินสร้างทองให้แก่ประเทศไทยมาแล้ว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี