ตาบอดสี..เป็นภาวะของร่างกายที่มองเห็นสีต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง บทความ “ตาบอดสี” (Color Blindness) เขียนโดย พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต อธิบายว่า โดยปกติแล้วตาบอดสีมักเป็นภาวะผิดปกติตั้งแต่กำเนิด และมีความรุนแรงในหลายระดับตั้งแต่ ระดับรุนแรงที่สุด คือมองไม่เห็นสีเลย เห็นเป็นภาพขาวดำเท่านั้น เพราะไม่มีเซลล์รูปกรวยอันมีหน้าที่แยกแยะสีต่างๆ ซึ่งมีอยู่ 3 สี ประกอบด้วย แดง เขียว และน้ำเงิน แม้แต่สีเดียว
ระดับปานกลาง คือ เซลล์รูปกรวยอันมีหน้าที่แยกแยะสีสันต่างๆ ซึ่งอยู่ 3 สีข้างต้น ขาดหายไปสีใดสีหนึ่ง ทำให้ตามองไม่เห็นสีนั้นๆ และ ระดับต่ำ คือมีเซลล์รูปกรวยครบทั้ง 3 สี แต่เซลล์บางสีมีจำนวนน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ทำให้มีอุปสรรคในการแยกเฉดสีต่างๆ อย่างละเอียดอยู่บ้างในชีวิตประจำวัน
ที่ผ่านมา..ผู้ป่วยตาบอดสีมักไม่ได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรมบางอย่าง ที่เห็นได้ชัดคือ “การขับรถ” เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อผู้อื่นที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน เพราะอาจแยกแยะสัญญาณไฟจราจรได้ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถออกใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะให้ได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดคำถามขึ้นเช่นกันว่าเป็นการ “เหมารวม” หรือไม่? เพราะหลายกรณีเป็นการ “กีดกัน” แบบกลายๆ ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน
ที่งานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยเรื่อง “ปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมของบุคคลผู้ที่มีอาการตาบอดสี” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อเดือน ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา นายวรากร สุนทรานุรักษ์ ผู้แทนกลุ่มเรียกร้องสิทธิของคนตาบอดสี กล่าวว่า แม้ด้านหนึ่งตนจะเห็นด้วยกับเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่อีกด้านหนึ่งก็อยากให้มี “มาตรฐาน” จากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มาชี้วัดว่าคนตาบอดสีระดับใดขับรถได้หรือไม่ได้ เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติ
“ถ้าเป็นในเรื่องของความปลอดภัย มีความเห็นด้วยกับกรมการขนส่งฯที่ไม่ออกใบอนุญาตขับขี่ให้ แต่ในฐานะผู้แทนกลุ่มคนตาบอดสีมองว่า เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรม เพราะไม่สามารถเอาเกณฑ์ไหนมาวัดได้ว่าคนตาบอดสีขับรถไม่ปลอดภัย น่าจะให้มีคนกลางหรือจักษุแพทย์เป็นคนพิจารณารับรองว่าบุคคลเหล่านี้มีความสามารถในการขับรถหรือไม่ ถ้าใช้เกณฑ์ในส่วนนี้ น่าจะมีความชัดเจนกว่า” นายวรากร กล่าว
ขณะที่ นายศิริชัย เจสดุ หัวหน้างานสื่อสารภายใน กองสื่อสารองค์กรการประปาส่วนภูมิภาค ผู้เรียกร้องสิทธิของคนตาบอดสีอีกราย กล่าวเพิ่มเติมว่า ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เคยให้ข้อมูลว่า ผู้ที่มีอาการตาบอดสีจะเห็นสีผิดเพี้ยนไปจากคนปกติ มักมีปัญหาเฉพาะการแยกสีอ่อนๆ ที่อยู่ปะปนกันเท่านั้น แต่ยังสามารถแยกสีสัญญาณไฟจราจรได้ เนื่องจากจะเห็นเป็นสีที่ต่างกัน แม้จะไม่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดเช่นคนปกติก็ตาม ฉะนั้นไม่น่าจะมีปัญหากับการขับรถยนต์ส่วนบุคคล หากจะห้ามก็ควรห้ามเฉพาะรถสาธารณะเท่านั้น
“ผู้ที่มีอาการตาบอดสีจะอาศัยประสบการณ์และข้อมูลอื่นๆ มาช่วยในการแยกสีไฟจราจรร่วมด้วย เช่น ตำแหน่งของไฟสีแดง-เหลือง-เขียว และความสว่างของไฟ จึงไม่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับรถ แต่ควรให้สิทธิเฉพาะในการขับรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่ควรอนุญาตให้ขับรถยนต์สาธารณะ ถ้ากรมการขนส่งทางบก ยังเห็นว่าจำเป็นต้องตรวจตาบอดสี ควรทำการทดสอบโดยการให้ดูไฟเขียว-เหลือง-แดง แบบเดียวกันกับไฟจราจรตามท้องถนน ถ้าผู้เข้ารับการทดสอบบอกได้ถูกต้องให้ถือว่าสอบผ่าน” นายศิริชัย ระบุ
ตัวแทนของกลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิของคนตาบอดสีรายนี้ กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันนี้มีหลายประเทศทั่วโลกที่ไม่ทำการตรวจตาบอดสีในผู้ที่ขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์ เนื่องจากมีความเห็นว่าผู้ที่ตาบอดสีสามารถขับรถยนต์ได้ มีเพียงบางประเทศรวมถึงประเทศไทย ที่ยังไม่อนุญาตให้ผู้ที่ตาบอดสีขับรถไม่ว่ากรณีใดๆ โดยอ้างว่าอาจเกิดอุบัติเหตุ
แต่เมื่อไปดูสถิติจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยกตัวอย่างในปี 2556 ระบุว่า สาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรม “ซิ่ง-แว้น” หรือการขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยสูงถึงร้อยละ 77.48 ส่วนสาเหตุจากพฤติกรรมฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร มีเพียงร้อยละ 1.15 เท่านั้น ซึ่งในข้อนี้หากแยกเฉพาะจากภาวะตาบอดสีก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก
“วิธีที่ถูกต้องและเห็นผลได้ดีที่สุดในการลดอุบัติเหตุ คือ การควบคุมการใช้ใบขับขี่เป็นหลัก ไม่ใช่เน้นที่การควบคุมการออกใบขับขี่ เพราะการทดสอบเพื่อขอใบขับขี่ที่ยากขึ้น จะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนโดยตรง หรือกระทบต่อผู้ที่มีอาการตาบอดสี จึงควรมีการทดสอบที่น่าเชื่อถือ เหมาะสมเพียงพอ และเป็นธรรม ไม่ควรตัดสิทธิถ้ายังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์
ควรใช้การกำหนดเงื่อนไขในการใช้ใบขับขี่จะดีกว่า เพื่อให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝนและพิสูจน์ความสามารถในการขับขี่บนถนนจริง ถ้าครบกำหนดแล้วไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุก็ยกเว้นเงื่อนไข แต่ถ้าทำให้เกิดอุบัติเหตุก็ต้องลงโทษตามความเหมาะสมต่อไป แบบนี้จึงจะเป็นการควบคุมดูแลที่ถูกต้องและเป็นธรรม” นายศิริชัย ฝากทิ้งท้าย
ในอดีตการห้ามคนตาบอดสีขับขี่ยานพาหนะอย่างเด็ดขาด อาจเป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้เพราะในขณะนั้นเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า แต่ยุคปัจจุบันที่ค้นพบแล้วว่าภาวะตาบอดสีมีหลายประเภท และบางประเภทอาการก็ไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน
ดังนั้นเกณฑ์การพิจารณาควร “ปรับเปลี่ยน” บ้างหรือไม่?!!!
วิภาดา มาลีหวล
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี