พนักงานรายวันบริษัท NXP ปักหลักชุมนุมหน้าทางเข้าบริษัท ถนนแจ้งวัฒนะ ประท้วงนายจ้างที่จัดระบบการทำงานใหม่ไม่เป็นธรรม
ในช่วงกว่า 10 วัน ที่ผ่านมานี้ หากใครได้ผ่านไป-มา บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ในช่วงรอยต่อของแยกหลักสี่-ถนนวิภาวดีรังสิต กับแยกวงเวียนบางเขน-ถนนพหลโยธิน จะพบว่ามีการปิดถนนเลนหนึ่ง บริเวณหน้า บริษัท เอ็น เอ็กซ์ พี แมนูเฟคเจอริ่ง จำกัด (NXP) เนื่องจากมีการชุมนุมประท้วงของพนักงานที่รู้สึกกังวล และไม่สบายใจกับการจัดระบบการทำงานใหม่ของฝ่ายนายจ้าง
โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากการทำงานตามระบบเดิม “6 หยุด 1” หรือทำงาน 6 วัน แล้วหยุด 1 วัน อันเป็นระบบที่สถานประกอบการทั่วไปใช้ มาเป็นระบบ “4 หยุด 2” หรือทำงาน 4 วัน แล้วหยุด 2 วัน แต่ปัญหาที่สำคัญ คือวันหยุดดังกล่าวไม่ตายตัวเหมือนระบบเก่า ที่ทำงานจันทร์ถึงเสาร์ แล้วหยุดในวันอาทิตย์ ขณะเดียวกัน เวลาในการทำงานก็เพิ่มขึ้นเป็น 12 ชั่วโมง จากการทำงานล่วงเวลา (OT) ในสภาพบังคับ มิได้สมัครใจทำ คำถามของพนักงานกลุ่มนี้ คือ “ระบบใหม่เหมาะสมหรือไม่?”
บริษัท เอ็น เอ็กซ์ พี แมนูเฟคเจอริ่ง จำกัด (NXP) จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2517 มีทุนจดทะเบียน 4,939,000,000 บาท เป็นบริษัทที่ทำกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในหลายภาคส่วน เช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือชิพที่ใช้ในบัตรประชาชน (Smart Card) และอื่นๆ อีกหลายรายการ ปัจจุบันมีพนักงานราว 3,200 คน สัดส่วนพนักงานเป็นหญิงร้อยละ 80 ชายร้อยละ 20
ด้วยความที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีมาตรฐานสากล จึงมีสหภาพแรงงาน โดยสหภาพฯ ของ บ.NXP ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2521 ทะเบียนเลขที่ กธ.128 ปัจจุบันมีคณะกรรมการบริหาร 16 คน มีนายวัลลภ ชูจิตร เป็นประธาน และมีสมาชิกทั้งสิ้น 2,520 คน
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2555 ทางบริษัทได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพฯ 4 ข้อ โดยมีสาระสำคัญคือ 1.เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน 2.ลดสวัสดิการวันหยุดพักผ่อนประจำปี และตัดเบี้ยเลี้ยงค่ากะ 3.ต้องการคงสภาพการจ้างในลักษณะรายวัน เป็นเวลา 3 ปี และ 4.เปลี่ยนรูปแบบวันและเวลาทำงานใหม่ ซึ่งข้อ 4 นี้เอง เป็นข้อที่พนักงานรู้สึกกังวลมากที่สุด
“6 วัน หยุด 1 วัน ปกติเราจะหยุดกันทุกวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันครอบครัว เหมือนกับโรงงานปกติทั่วๆ ไป ส่วนนายจ้างต้องการแบบนี้ 4 วัน หยุด 2 วัน หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ขณะที่วันหยุดก็ไม่ Fix ตายตัว”
ตัวแทนสหภาพฯ ที่มาร้องเรียนกับ นสพ.แนวหน้า อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ระบบเก่าทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 6 วัน แต่ระบบใหม่ จะทำงาน 4 วัน วันละ 12 ชั่วโมง เท่ากับได้เงินแค่ 4 วันเท่านั้น แม้ว่า 12 ชั่วโมงนี้ เวลาหลัง 8 ชั่วโมงปกติจะอยู่ในข่ายของ OT แต่ก็เป็นไปในลักษณะบังคับทำ
ทั้งนี้ เมื่อลองคำนวณรายได้ดูแล้ว พบว่าระบบการทำงานใหม่ พนักงานที่ได้รับค่าแรงเป็นรายวัน (ไม่ใช่เงินเดือน)จะมีรายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น หากคิดตามค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุให้นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่ง (1.5 เท่า) ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ตามชั่วโมงที่ทำ
เท่ากับว่า คน 1 คน ทำงานวันละ 300 บาท เป็นเวลา 8 ชั่วโมง แล้วทำ OT อีกวันละ 4 ชั่วโมง คำนวณโดยนำค่าแรงปกติ 300 บาท หารด้วย 8 ชั่วโมง จะได้ค่าแรงชั่วโมงละ 37.50 บาท จากนั้นคูณด้วยอัตราค่าจ้างล่วงเวลา 1.5 เท่าตามที่กฎหมายกำหนด จะได้ค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 56.25 บาทคูณด้วย 4 ชั่วโมง ที่เป็นเวลาทำ OT ต่อ 1 วัน เท่ากับได้ค่าล่วงเวลาวันละ 225 บาท รวมกับค่าแรงในเวลาปกติ จะได้เท่ากับ 525 บาทต่อวัน
โดยค่าแรงดังกล่าว หากเป็นการทำงานในระบบเก่า คือ 6 หยุด 1 จะได้ค่าแรงเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3,150 บาท แต่หากเป็นระบบใหม่ คือ 4 หยุด 2 จะได้เพียงสัปดาห์ละ 2,100 บาทเท่านั้น แม้ว่าจะทำ OT ทุกวันก็ตาม นอกจากนี้ การทำงาน 4 หยุด 2 นั้น เมื่อคำนวณวันทำงานแล้ว พนักงาน 1 คน จะมีรายได้เฉลี่ยเพียง 20 วันทำงาน คือ 10,050 บาทเท่านั้น ส่วนระบบเก่าคือ 6 หยุด 1 จะมีรายได้เฉลี่ย 24 วันทำงาน คือ 12,600 บาท หากทำ OT 4 ชั่วโมงต่อวันเท่ากัน
นอกจากนี้ระบบเก่า พนักงานยังเลือกได้ว่าจะสมัครใจทำ OT หรือไม่ หรือจะทำในวันใดบ้าง ทำให้สามารถวางแผน แบ่งเวลาระหว่างการหารายได้ กับการอยู่กับครอบครัวได้อย่างยืดหยุ่นกว่าระบบใหม่ ที่ต้องทำทุกวัน และด้วยความที่พนักงานแต่ละคนจะมีวันหยุดไม่แน่นอน ทำให้อาจกระทบไปถึงวันหยุดที่แรงงานส่วนใหญ่นิยมเดินทางกลับไปเยี่ยมภูมิลำเนาเดิม เพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัว คือ เทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ด้วย
“เรามองเรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องของครอบครัว เพราะการที่คนเราทำงาน 12 ชั่วโมง นี่ยังไม่รวมเวลาเดินทางนะ แล้วครอบครัวเราจะอยู่ยังไง สมมุติถ้าสามี-ภรรยาอยู่คนละกะ นี่จะไม่ได้เจอหน้ากันทั้งชีวิตเลยนะ ตอนนี้เขาก็ตอบเราไม่ชัด ว่าวันหยุดเขาจะให้ยังไง เราจึงไม่มั่นใจว่า เขาจะใช้รูปแบบไหนกับเรา ถึงแม้จะมี Overtime (OT) ก็จริงอยู่ แต่ระบบครอบครัวจะเป็นยังไง ประเพณีของไทยจะเป็นยังไง” ตัวแทนสหภาพฯ กล่าว
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน ในมาตรา 24 ระบุว่านายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ หากลูกจ้างไม่ยินยอม และแม้ว่ามาตราเดียวกัน ในวรรคสองจะระบุว่านายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น หากการหยุดงานจะทำให้เสียหายแก่งานนั้น ตัวแทนสหภาพฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานในระบบเก่า ก็ยังมีผลประกอบการที่ดีอยู่เช่น เมื่อปี พ.ศ.2554 บริษัท ได้กำไรในปีนั้นถึง 8 พันล้านบาท แสดงว่านายจ้างไม่ได้มีความเดือดร้อน หรืออยู่ในภาวะฉุกเฉินที่ต้องเร่งเปลี่ยนกฎระเบียบแต่อย่างใด
“เหตุผลที่เขาเปลี่ยน เขาบอกว่าต้องการให้เครื่องจักรเดิน 24 ชั่วโมง ซึ่ง 24 ชั่วโมงนี้ ไม่มีสูตรไหนหรอกครับที่ไม่มี Overtime มันบังคับทุกสูตรล่ะครับ แล้วก็มาบิดเบือน โดยอ้างระบบจรรยาบรรณทางการค้า แต่ไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องเคารพกฎหมายไทย ไม่งั้นคุณเข้ามา จะเขียนอะไรก็ได้ แล้วก็กระทบต่อแรงงานของเรา จริงๆ มันต้องเคารพกฎหมายไทย ก็คือกฎหมายแรงงาน เช่น ต้องจัดให้หยุด 1 วันต่อสัปดาห์ ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง Overtime เป็นการตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อย่างระบบเก่า OT ไม่ได้บังคับ ใครสะดวกก็ทำ”
ตัวแทนสหภาพฯ ชี้แจงต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาจนถึง ณเวลานี้ที่มีการประท้วง แต่ก็ไร้วี่แววจากฝ่ายนายจ้างที่จะขอเข้าเจรจากับสหภาพฯ มีแต่จะใช้มาตรการต่างๆ กดดันกับพนักงาน
“ฝากขอโทษประชาชนที่ใช้ถนนด้วย ถ้าเราไม่เดือดร้อนเราก็น่าจะไม่มีวันนี้ เราก็อยากจะให้จบ เพื่อพี่น้องจะได้ไม่เดือดร้อนเหมือนเรา” ตัวแทนสหภาพฯ กล่าวทิ้งท้าย
ในวันที่ 13 มี.ค. 2556 ตัวแทนสหภาพฯ จะไปยื่นหนังสือร้องเรียน ณ สถานทูตออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ อันเป็นต้นสังกัดของบริษัทดังกล่าว และในวันที่ 18 มี.ค. 2556 จะมีการเจรจากันใหม่อีกครั้ง ระหว่างฝ่ายสหภาพฯ กับฝ่ายนายจ้าง
ผลจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี