ขึ้นชื่อว่า “คุกตะราง” หรือเรือนจำอันเป็นสถานที่สำหรับจองจำผู้กระทำผิดกฎหมายแล้ว เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากจะเฉียดกรายเข้าไป เพราะนั่นหมายถึงการถูกจำกัดอิสรภาพ แม้จะมีข่าวว่านักโทษบางส่วนได้รับสิทธิพิเศษด้วยเงื่อนไขบางประการ แต่หากเลือกได้แล้ว ทุกคนย่อมอยากไปไหนมาไหน และมีชีวิตอยู่อย่างเสรีภายนอก มากกว่าที่จะถูกตีกรอบอยู่หลังกำแพงสูง ลูกกรงเหล็กหนา และมีผู้คุมคอยจับตาดูทุกฝีก้าวอย่างเข้มงวด
เมื่อพูดถึงเรือนจำและนักโทษแล้ว หลายคนคงมองในแง่ลบไว้ก่อนว่า พวกที่อยู่ในคุกมีแต่อาชญากรที่เลวร้าย เนื่องจากผู้กระทำผิดหลายคนเข้าข่าย “เห็นคุกเป็นบ้าน” คือเพิ่งพ้นโทษก็มาก่อเหตุจนถูกจับได้แล้วก็ต้องกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการสอบถามลงลึกในรายละเอียดพบว่าคนจำนวนนี้ไม่น้อยเลยที่ไม่ได้อยากจะก่อเหตุซ้ำ แต่เพราะออกมาแล้วไม่ได้รับการไว้วางใจจากสังคม ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ จึงต้องกลับไปเป็นมิจฉาชีพในที่สุด
ไม่นานมานี้ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เป็นประธานเปิดตัวโลโก้ หรือแบรนด์สัญลักษณ์ “ผลิตผล คนดี” จากกรมราชทัณฑ์ พร้อมทั้งมอบวุฒิบัตรให้กับผู้ที่ผ่านการรับรองคุณภาพผลิตผลของคนราชทัณฑ์ โดยโครงการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกรมราชทัณฑ์ มีกระบวนการแก้ไขฟื้นฟู พัฒนาจิตใจ พัฒนาอาชีพ และต้องการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคม เพื่อให้เป็นบุคคลที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ และมีคุณค่าต่อตนเองและสังคมต่อไป
“จากการทำวิจัยเราพบว่า นักโทษที่ถูกปล่อยตัวไปแล้วนั้นขาดโอกาสและสังคมยังไม่ให้การยอมรับ ทางกรมราชทัณฑ์จึงมีแนวคิดจัดทำแบรนด์สัญลักษณ์สำหรับผู้พ้นโทษ เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคล้ายแบรนด์ร้านอาหาร การันตีให้กับผู้พ้นโทษ
เพื่อเป็นการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างการยอมรับ ความเชื่อถือตลอดจนสร้างความไว้ใจ และคุณค่าให้กับผู้พ้นโทษ ที่ได้ผ่านกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูจากกรมราชทัณฑ์ และเป็นคนดีพร้อมกลับสู่สังคม
สำหรับผู้ที่ได้รับรองแบรนด์สัญลักษณ์ Logo “ผลิตผล คนดี” จากกรมราชทัณฑ์ เบื้องต้นมีจำนวน 52 ราย แต่มีเป้าหมายว่าภายในปีนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ได้ตั้งเป้าไว้รับรองแบรนด์ไว้ที่ 500 คน โดยการรับรองแบรนด์ดังกล่าว จะไม่เน้นปริมาณ แต่เน้น
ที่คุณภาพ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าถ้าสังคมให้โอกาสกับผู้ที่เคยกระทำผิดแล้ว บุคคลเหล่านั้นจะไม่มีทางกลับมาทำผิดซ้ำอีกครั้ง” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว
ที่ผ่านมา โครงการนี้ได้สร้างอาชีพ สร้างชีวิตใหม่ให้กับอดีตผู้ต้องขังมาแล้วหลายราย เช่น นายสมชัย มีธนทอง อายุ 65 ปี เคยต้องโทษอยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรม เล่าว่า เมื่อครั้งที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำได้มีโครงการเขียนลายไทยบนไม้ของสมเด็จพระเทพฯมาสอนให้กับนักโทษที่สนใจ ซึ่งตนเองเป็นผู้หนึ่งที่มีความสนใจงานศิลป์จึงตัดสินใจใช้เวลาว่างระหว่างอยู่ในเรือนจำเข้าอบรมภายหลังเมื่อพ้นโทษก็วาดลวดลายไทยบนไม้ขาย แต่เนื่องจากไม้ต้นทุนราคาสูงจึงพยายามมองหาหนทางทำมาหากินอื่นทดแทน
จนวันหนึ่ง ขณะที่กำลังเดินอยู่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าย่านรังสิต ได้พบร้านขายช็อกโกแลต จึงเกิดความคิดที่จะนำศิลปะการเขียนลวดลายบนไม้ มาเขียนบนช็อกโกแลตแทน จึงเป็นที่มาของขนมช็อกโกแลตรูปหน้าตุ๊กตาต่างๆ โดยเฉพาะรูปหน้าการ์ตูนน่ารักที่มีขนาดหน้ากว้างเล็กสุดเท่ากับขนาดของเหรียญบาท จากนั้นได้เริ่มทดลองทำดู ในช่วงแรกๆ ได้นำไปขายในตลาดและห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง แต่ทำได้ระยะหนึ่งก็สู้ค่าเช่าพื้นที่ไม่ไหว ประกอบกับมีรายการสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงตัดสินใจเปลี่ยนมารับทำในลักษณะขายส่ง
“รู้สึกภูมิใจที่มีคนสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้แม้ว่าอดีตผมจะเคยต้องโทษ จึงทำให้อยากจะให้ความช่วยเหลือคนอื่น โดยยินดีที่จะสอนให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ และหากโรงเรียนชั้นประถมและมัธยมโรงเรียนใดสนใจติดต่อมายินดีสอนให้นักเรียนฟรี แต่สำหรับคนทั่วไปรับสอนวันละ 4,500 บาท พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ ทำเสร็จเอาผลงานกลับไปชื่นชมได้” คุณลุงสมชัยกล่าว พร้อมกับเสริมว่าการเขียนลายบนช็อกโกแลตนี้ทำไม่ยาก ผู้เรียนสามารถทำเป็นได้ในเวลาเพียงวันเดียวเท่านั้น
เช่นเดียวกันกับ นางพรรณี (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี อดีตผู้ต้องขัง ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ เล่าถึงการตัดสินใจ
ชั่ววูบ เพียงเพราะการประชดชีวิตจากการที่คนรักนอกใจเท่านั้น ทำให้ใช้ชีวิตแบบเหลวแหลก กินดื่มเที่ยวอย่างสุดเหวี่ยง จนต้องไปพัวพันกับการกระทำความผิดของเพื่อน แต่ทว่ากลับเป็นเธอที่ต้องรับผิดแทน และต้องอยู่ในเรือนจำนานถึง 16 ปี
อย่างไรก็ดี คุณพรรณีกล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้ก็ถือว่าทุกอย่างจบแล้วและขออโหสิกรรมให้ เพราะเพื่อนคนดังกล่าวก็ล้มป่วยและเสียชีวิตไปแล้วเช่นกัน โดยหลังจากพ้นโทษ พบว่าทั้งบ้าน ที่ดินและรถยนต์ ถูกคนรักเก่ายึดไปหมดแล้วก็ไปคบหาอยู่กินกับผู้หญิงคนใหม่ จนต้องไปอาศัยอยู่กับลูก แต่ด้วยความเกรงใจ ไม่อยากเป็นภาระลูกมากนัก จึงใช้ความรู้และประสบการณ์ในฝ่ายโภชนาการของกรมราชทัณฑ์ ทำขนมหวานให้ลูกนำไปขาย ทั้งนี้หวังว่าจะมีรายได้พอเลี้ยงชีพบ้างเท่านั้น
ขณะที่ นายพนอ ปานะนิล อายุ 48 ปี อดีตนักโทษคดียาเสพติดที่ถูกจองจำในเรือนจำกลางคลองเปรม นานถึง 22 ปี กล่าวว่า เมื่อครั้งพ้นโทษออกมาใหม่ๆ รู้สึกมืดมนไปหมด เนื่องจากกลัวว่าจะถูกหวาดระแวงจากคนรอบข้าง แต่โชคดีที่ได้รับกำลังใจและความอบอุ่นจากคนในครอบครัว ทำให้เขามีความมุ่งมั่นที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ด้วยการนำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากกองงานช่างศิลป์
ซึ่งเป็นโครงการศิลปะสำหรับผู้ด้อยโอกาสของสมเด็จพระเทพฯ ที่ติดตัวมาใช้ประกอบอาชีพเพ้นท์งานผ้า อาทิ กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ โดยครั้งแรกก็กลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับ แต่ปรากฏว่าเมื่อทำแล้วมาขายที่สวนลุม ตลาดนัดจตุจักร ตลาดไนท์บาซาร์ กลับสามารถขายได้หมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
“ผมไม่อาย มองว่าราชทัณฑ์มอบโอกาสที่ดีให้ ถือเป็นจุดขายและเป็นเรื่องดีที่ผมได้รับรางวัลนี้ เคยมีทีวีช่องหนึ่งมาถ่ายทำเกี่ยวกับอาชีพของผมที่บ้าน แต่คนแถวบ้านเข้าใจว่าผมกลับไปทำผิดแบบเดิม ผมไม่แคร์ถือเป็นเรื่องขำ แต่คนที่ผมต้องแคร์คือพ่อแม่ ญาติที่เขาคอยให้กำลังใจเคียงข้างเรา ซึ่งผมจะไม่ยอมให้พวกเขาต้องผิดหวัง”
นายพนอกล่าวด้วยสีหน้าท่าทางที่มุ่งมั่น และฝากเตือนเป็นอุทาหรณ์ไปยังบรรดาเพื่อนผู้ต้องขังด้วยว่า หากไม่รู้จักความพอเพียงในการใช้จ่ายเงิน มีนิสัยสุรุ่ยสุร่าย ยึดติดความสบาย สุดท้ายก็จะต้องกลายเป็น “เสือหวน” หมายถึงอดีตผู้พ้นโทษที่เสี่ยงต่อการกลับไปกระทำผิดซ้ำ จนต้องกลับไปใช้ชีวิตในเรือนจำอีกครั้งในที่สุด
จะเห็นได้ว่า แม้ในมุมหนึ่งจะมีข่าวอดีตนักโทษกระทำผิดซ้ำ จนต้องกลับไปอยู่ในคุกอีกครั้งปรากฏอยู่เรื่อยๆ แต่อีกมุมหนึ่ง ก็ยังมีอดีตผู้ต้องขังหลายรายที่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้จริง ซึ่งสาเหตุที่เขาเหล่านั้นทำได้ ส่วนหนึ่งก็ด้วยกำลังใจจากคนรอบข้างโดยเฉพาะคนในครอบครัว และอีกส่วนหนึ่งคือการได้รับโอกาสจากสังคม
เพราะถ้ามีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้พอเลี้ยงชีพไม่ยากจนตลอดจนได้รับการยอมรับ เชื่อว่าอดีตผู้ต้องขังส่วนใหญ่คงไม่อยากกลับไปอยู่อย่างไร้อิสรภาพอีกครั้ง
สิริพร พานทองถาวร
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี