ในตอนที่แล้ว เราได้นำเสนอในบทนิยามขององค์กรอาชญากรรม องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 ส่วนวันนี้ เราจะว่าด้วยการกระทำลักษณะใดบ้าง ที่เข้าข่ายความผิดในกฎหมายดังกล่าว ตลอดจนอำนาจหน้าที่ต่างๆ ของเจ้าพนักงานที่มีไว้ต่อกรกับองค์กรมืดเหล่านี้ ว่ามีมากน้อยเพียงใด
“ผมยกตัวอย่าง เช่น มียากูซ่าอยู่ที่ญี่ปุ่น มีสมาชิกมากกว่า 3 คนแน่นอน แล้วมีคนไทยคนหนึ่งไปเป็นสมาชิก แล้วก็ดำเนินชีวิตอยู่ในประเทศไทยคนเดียว ถือว่าเป็นสมาชิกหรือเครือข่ายแล้ว เราสามารถดำเนินคดีกับคนนี้ได้ ประการที่สอง..ไม่ได้เป็นสมาชิกเลย แต่อยากได้เงินจากยากูซ่า ก็บอกว่าให้ช่วยหาผู้หญิงให้หน่อย ก็ไปหลอกผู้หญิง สมคบกันเพื่อกระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ..แค่เข้าไปเกี่ยวข้อง ถึงไม่เป็นสมาชิกไม่เป็นเครือข่าย ก็สามารถดำเนินคดี ความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ”
คำอธิบายข้อกฎหมายจาก นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า พ.ร.บ.ใหม่ล่าสุดนี้มีความครอบคลุมกว้างขวางเพียงใด จากเดิมที่กฎหมายอั้งยี่ ลักษณะความผิดระบุเพียง “ต้องเป็นสมาชิก” ขององค์กรอาชญากรรมเท่านั้น แต่ในกฎหมายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือไม่ หากมีส่วนร่วมในการกระทำผิดของกลุ่มแก๊งดังกล่าว ก็ต้องรับโทษด้วยเช่นกัน ตาม มาตรา 5 ความดังนี้..
ผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (1) เป็นสมาชิกหรือเป็นเครือข่ายดําเนินงานขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ (2) สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทําความผิดร้ายแรง อันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ (3) มีส่วนร่วม
กระทําการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจกรรมหรือการดําเนินการขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดําเนินกิจกรรม หรือโดยรู้ถึงเจตนาที่จะกระทําความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว
(4) จัดการ สั่งการ ช่วยเหลือ ยุยง อํานวยความสะดวก หรือให้คําปรึกษาในการกระทําความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดําเนินกิจกรรม หรือโดยรู้ถึงเจตนาที่จะกระทําความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว..ผู้นั้นกระทําความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
จากมาตรานี้ เห็นได้ชัดเจนว่า หากเป็นสมาชิกหรือเครือข่าย จะเข้าข้อ (1) แต่ถึงจะไม่เป็นสมาชิกหรือเครือข่าย หากไปรับทำงาน หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมใดๆ ขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยที่รับรู้ว่านั่นเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง อันหมายถึงความผิดที่กฎหมายระบุอัตราโทษจำคุกสูงสุดไว้ตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น ก็ให้ถือว่ามีความผิดสถานเดียวกัน ซึ่งในมาตรา 25 ระบุโทษในฐานความผิดนี้ คือจำคุกตั้งแต่ 4-15 ปี ปรับตั้งแต่ 80,000-300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจ คือกฎหมายฉบับนี้อาจจะเป็น “ยาแรง” สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติกรรมทุจริตต่อหน้าที่ โดยไปมีส่วนร่วมกับการกระทำผิดขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ใน มาตรา 8 ผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กรรมการหรือผู้บริหารหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าพนักงาน กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของสถาบันการเงิน หรือกรรมการขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ กระทําความผิดตามหมวดนี้ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น
และยิ่งถ้าเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจใช้กฎหมายนี้กระทำผิดเสียเอง โทษก็จะหนักกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป ตามมาตรา 9 พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานสอบสวนตามพระราชบัญญัตินี้ผู้ใดกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการอันเกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดตามหมวดนี้ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น
เท่ากับว่า..บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐไม่ว่าจะมาจากส่วนใดก็ตาม หากมีส่วนร่วมในการกระทำผิดตามกฎหมายนี้ จะต้องถูกลงโทษมากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป
มาถึงเรื่องราวของอำนาจหน้าที่กันบ้าง สิ่งที่น่าสนใจ ข้อแรกคือกฎหมายนี้อาจจะเป็นกฎหมายฉบับแรก ที่จะทำให้อัยการไทยสามารถพกพา และใช้อาวุธปืนได้เหมือนกับที่เห็นอัยการของสหรัฐอเมริกาในภาพยนตร์ เวลาต้องออกไปสืบคดี หรือจับกุมผู้กระทำผิดพร้อมๆ กับตำรวจหรือ FBI
โดย มาตรา 16 ระบุว่า..ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่การสืบสวนสอบสวนความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ให้พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้มีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ยุทธภัณฑ์และอุปกรณ์เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยเท่าที่จําเป็น ทั้งนี้การมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ยุทธภัณฑ์ และอุปกรณ์เกี่ยวข้องดังกล่าว ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่อัยการสูงสุดกําหนด
ในด้านการสืบสวน แต่เดิมมีเรื่องเล่ามากมายถึงการปลอมตัวเข้าไปเป็นสมาชิกองค์กรอาชญากรรมเพื่อหาหลักฐาน หรือการพบวัตถุที่อาจซุกซ่อนสิ่งผิดกฎหมาย จึงทำการจับกุมผู้ครอบครองวัตถุนั้น และเมื่อทราบว่าวัตถุนั้นจะเดินทางไปที่ใด ก็จะให้เจ้าหน้าที่ปลอมตัวเป็นผู้นำพาวัตถุนั้นไปส่งเองจนขยายผลจับกุมได้ยกแก๊ง เรื่องเล่าเหล่านี้หลายคนทราบดีว่าตำรวจต้องทำเพื่อให้สามารถจับกุมได้ทั้งเครือข่ายผู้กระทำผิด แต่คนทั่วไปอาจจะไม่รู้ว่าปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดคุ้มครองการกระทำดังกล่าว ทำให้บางครั้งเกิดปัญหา
เช่น ถ้าเห็นคนร้ายกำลังขนสิ่งผิดกฎหมาย ถ้าไม่จับเดี๋ยวนั้นแต่จะลอบสะกดรอยตามไปยังผู้รับปลายทางเพื่อขยายผล อาจ
สุ่มเสี่ยงต่อความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือถ้าจับมาได้แล้วให้เจ้าหน้าที่ขนแทนไปยังปลายทาง ก็สุ่มเสี่ยง
ต่อการถูกเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ จับกุมกลางทาง ซึ่งจะไปโทษหน่วยที่จับกุมนั้นก็ไม่ได้ เพราะเขาก็ทำตามหน้าที่ และไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ผู้ขนสิ่งผิดกฎหมายกำลังอยู่ในปฏิบัติการจริง หรือเป็นเพียงตำรวจนอกแถวกันแน่
ที่ผ่านมา มีเพียงเรื่องของคดียาเสพติดเท่านั้นที่พอจะมีช่องทางกฎหมายรองรับ แต่พ.ร.บ.ฉบับนี้ หากเรื่องดังกล่าวพัวพันกับอาชญากรรมข้ามชาติ วิธีการดังกล่าวอาจใช้ได้กับสิ่งผิดกฎหมายทุกชนิด โดย มาตรา 20 ระบุว่า..ในกรณีจําเป็นและเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณีมีอํานาจให้มีการเคลื่อนย้ายภายใต้การควบคุม
การเคลื่อนย้ายภายใต้การควบคุม หมายความว่า วิธีการอนุญาตให้ของผิดกฎหมายหรือต้องสงสัยผ่านออกไปจาก ผ่าน หรือเข้าไปสู่เขตแดนของรัฐหนึ่งหรือมากกว่ารัฐหนึ่ง โดยการรับรู้และอยู่ภายใต้การติดตามดูแลของเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจ เพื่อการสืบสวนสอบสวนความผิด และเพื่อระบุตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องในการกระทําความผิดนั้น
เช่นเดียวกัน ใน มาตรา 21 ระบุว่า..พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อาจใช้เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ หรือด้วยวิธีการอื่นใด เฉพาะในการสะกดรอยผู้ต้องสงสัยว่ากระทําความผิดหรือจะกระทําความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อสืบสวน จับกุม แสวงหา และรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งนี้ตามข้อบังคับที่อัยการสูงสุดกําหนด
“บางทีไปเจอ จับได้แล้วครับ จับตัวคนขนได้ เรารู้จากคนขนว่าให้ไปส่งที่ไหน ก็จะเอาตำรวจไปขนแทน เอาไปส่งเพื่อที่ใครมารับจะได้จับเลย แล้วระหว่างที่ขนนี้เกิดไปถูกหน่วยงานอื่นจับ ถามว่าผิดไหม? แล้วพูดว่าขนไปเพื่อจะไปจับตัวใหญ่ ใครเขาจะเชื่อ มันก็เลยต้องมีมาตรการ เรียกว่าการจัดส่งภายใต้การควบคุม ต้องมีระเบียบควบคุม ใครเป็นคนอนุญาตให้ทำแบบนี้ได้
รู้แล้ว มีข้อมูลมาแล้วว่ากระเป๋าใบนี้ คนคนนี้ขนยาเสพติดมาในกระเป๋านี้มียาเสพติดแน่ๆ ตรวจ X-Ray แล้วในระหว่างที่ผ่านสนามบินแล้วเห็นยาเสพติด แต่ยังไม่จับ อย่างนี้มันต้องมีคนอนุญาต ต้องมีผู้มีอำนาจสูงที่จะอนุญาตให้ทำได้ เมื่อทำแล้วก็ต้องมีการลงบันทึกไว้ด้วยว่าอันนี้อนุญาต รายไหน? ใครทำ? เพื่อที่จะได้ให้การกระทำนั้นมันถูกกฎหมาย X-Ray เห็นยาเสพติดตามที่ได้ข่าวมาก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้ขนต่อไป แต่อาจจะเอาเครื่องมือ GPS ไปติด มีเจ้าหน้าที่ตามไป ไปถึงไหนก็ตามไปด้วย บางทีมีคนมารับแล้วก็ยังไม่จับ ให้มันพาไปจนถึงรัง พอไปถึงแก๊งใหญ่แล้วแล้วเข้าจับก็จะได้ผู้ต้องหาที่ใหญ่กว่า สำคัญกว่า แล้วก็เป็นตัวจริง” คุณวันชัยกล่าวถึงอำนาจใหม่ที่จะนำมาใช้
จะเห็นว่า พ.ร.บ.นี้ ค่อนข้างจะครอบคลุมไปทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม แต่ทั้งนี้ก็ยังเป็นเพียงองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเท่านั้น ยังไม่รวมถึงบรรดาแก๊งต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมแบบเดียวกัน แต่มีอิทธิพลเฉพาะภายในประเทศ เช่น เครือข่ายยาเสพติดที่ไม่เกี่ยวกับต่างประเทศ แก๊งโจรกรรมรถยนต์-จักรยานยนต์ หรือแก๊งเงินกู้นอกระบบ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มแก๊งเหล่านี้ เมื่อนับดูแล้วอาจจะมีจำนวนมากกว่า และกระทบต่อสวัสดิภาพชีวิตคนไทยยิ่งกว่าแก๊งมาเฟียข้ามชาติเสียด้วยซ้ำไป
ก็ต้องรอดูกันต่อไป..ว่าในอนาคตจะมีการแก้กฎหมายเดิม หรือร่างกฎหมายใหม่ ให้นิยามองค์กรอาชญากรรม ครอบคลุมถึงบรรดาเจ้าพ่อเจ้าแม่ทั้งหลายในเมืองไทยด้วยหรือไม่? และเมื่อไร?
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี