ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 กำหนดว่า“เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์ “เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ ซึ่งเมื่อกระทำผิดจะไม่ถูกส่งเข้าเรือนจำแบบเดียวกับผู้ใหญ่ที่กระทำความผิด แต่ให้ส่งไปในสถานที่อื่นๆ ที่เรียกกันติดปากว่า “สถานพินิจ” โดยปัจจุบันมีอยู่ 77 แห่งทั่วประเทศ
อีกด้านหนึ่ง มีความต้องการจากสถานศึกษาหลายแห่ง ที่อยากจะพานักเรียน-นักศึกษาเข้าเยี่ยมชมสถานพินิจฯ โดยหวังว่าจะเป็นการปรามให้เด็กกลัว ไม่กล้าที่จะกระทำผิดเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกจำกัดอิสรภาพ แต่ในทางกลับกัน เยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจฯ คงรู้สึกไม่ดีนักหากต้องมาถูกคนทั่วไปที่เยี่ยมชม จ้องมองด้วยสายตาในทางลบดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นผลดีเลยหากต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนส่งกลับคืนสู่สังคม
ดร.ขัตติยา รัตนดิลก หัวหน้าส่วนงานวิจัยและพัฒนา กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้น อันเป็นที่มาของโครงการภาพยนตร์สั้น 6 เรื่อง 6 รส “Before 18-ก่อน 18” จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของเยาวชน 6 คน ที่มีที่มาที่ไปต่างกัน แต่ต่างก็ถูกมรสุมชีวิตพัดพาพวกเขาสู่ปัญหา ก่อนจะมาจบลงที่สถานพินิจฯ โดยหวังว่าผู้ที่ได้รับชม จะเข้าอกเข้าใจปัญหาของเด็กและเยาวชนมากขึ้น
“วิธีการใช้วิดีทัศน์ชุดนี้ ผู้นำกลุ่มทำกิจกรรมนี้หรือครู ต้องมีความรู้ก่อนที่จะมาทำกิจกรรม โดยมีหนังสือคู่มือแนะแนวทางผู้นำกิจกรรม ซึ่งในขั้นตอนทำกิจกรรมกลุ่ม จะต้องคิดตั้งคำถามอะไรก่อนเปิดวีดีโอให้ดู แบ่งเปิดเป็นช่วงๆ แล้วถามคำถามเด็ก ซึ่งเป็นคำถามชวนให้เด็กคิดโดยไม่ได้มีคำตอบมาให้เด็กตั้งแต่ต้น แต่เป็นคำตอบที่เกิดขึ้นเองในการทำกลุ่ม”
นักวิชาการจากกรมพินิจฯ รายนี้ ยกตัวอย่าง 3 ใน 6 ตอน ของหนังสั้นชุดดังกล่าว เช่น ทางแยก เรื่องของ “บี” ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ศาลพิพากษาให้รับการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายเป็น เวลา 3 ปี เกิดจากผลกระทบของการอบรมเลี้ยงดูลูกแบบปกป้องมากเกินไป สาระสำคัญของตอนนี้ ว่าด้วยทักษะการตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา และการปฏิเสธอย่างเหมาะสม
ความว่างเปล่าของเวลา เรื่องของ “พงษ์” ผู้ซึ่งโตมาในครอบครัวที่พัวพันกับยาเสพติดและการพนัน ขาดที่พึ่งและให้คำปรึกษา ชี้ให้เห็นความสำคัญของความผูกพันระหว่างคนในครอบครัว และความสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูลูก ที่คนเป็นพ่อแม่ต้องสอนลูกให้รู้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ไม่ควรปล่อยให้ลูกไม่รู้ว่า สิ่งที่เขาทำนั้นถูกหรือผิด เหมาะสมหรือไม่ หากต้องการให้ลูกอยู่ในสังคมอย่างมั่นใจ
วันแห่งการให้อภัย ว่าด้วยเยาวชน 2 คน ที่มีปมความแค้นต่อกัน “เล็ก” ถูกจับเพราะฆ่าพ่อของใหญ่ ขณะที่ “ใหญ่” ถูกจับข้อหาชิงทรัพย์ แต่ทั้งสองคนถูกส่งเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมแห่งเดียวกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน จึงต้องเรียนรู้ทักษะวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยวิธีการสมานฉันท์
ทฤษฎีอาชญวิทยาสมัยใหม่ กล่าวถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ว่านอกจากจะใช้กฎหมายและการลงโทษที่เด็ดขาด ตรงไปตรงมาแล้ว อีกด้านหนึ่ง การเจาะลึกถึงสาเหตุในการกระทำผิด ก็มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังจะเห็นได้ตามสื่อต่างๆ ที่บ่อยครั้งเมื่อสืบค้นไปเรื่อยๆ พบว่าผู้กระทำผิดไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่หลายราย ล้วนเคยเป็นเหยื่อของความรุนแรงและปัญหาสังคม จนบีบคั้นให้สภาพจิตใจของพวกเขา จมดิ่งสู่ด้านมืดในที่สุด ซึ่งการรู้รากของปัญหา ย่อมนำไปสู่มาตรการป้องกันและลดการเกิดอาชญากรหน้าใหม่ในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง
“หลังจากกรมพินิจฯ ทำหน้าที่บำบัดและฟื้นฟูเด็กที่ทำผิดที่เข้ามาหาเรา แล้วสังคมบอกว่าเด็กแบบนี้ไม่ดี ไม่เอาได้มั้ย เพราะอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน มีแต่ข่าวโจ๋แว้นซ์ซิ่ง ฆ่า ปล้น โดยไม่มองว่าสังคมเป็นต้นเหตุที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ พ่อแม่เลี้ยงแบบไหน ทำไมองค์กรที่มีหน้าที่สงเคราะห์คุ้มครองเด็กปล่อยให้เด็กถูกทุบ ถูกเตารีดนาบ ตั้งแต่เด็กจนโต หรือปล่อยให้เด็กอยู่กับยายที่เป็นอัมพาต ขณะที่งานกรมพินิจ คือป้องกันและแก้ไขด้วย เรารับเด็กมาจริงแต่เป็นปลายทาง”
ดร.ขัตติยา สะท้อนปัญหา และกล่าวเพิ่มเติมว่า หลายครั้งสังคมใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องโดยหวังว่าจะจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชนได้ เช่นหากที่โรงเรียนมีเพื่อนที่เกเร เด็กคนอื่นๆ จะช่วยเพื่อนได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาจะใช้วิธีฟ้องครูแล้วจบที่เพื่อนถูกไล่ออกแล้วก็ไปเป็นโจร ในทางกลับกัน หากเพื่อนคอยเป็นหูเป็นตาแทนครู พูดคุย ให้โอกาสเพื่อนด้วยกันเอง จะป้องกันและแก้ปัญหาไม่ให้ผิดพลาด จนสุดท้ายต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กรณีที่คดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนลดลง มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า พรบ.ศาลเยาวชนฯ อาจทำให้เกิดช่องว่างบางประการหรือไม่ เพราะในอดีต ตำรวจสามารถจับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดส่งสถานพินิจฯ ได้ตลอด 24 ชม. แล้วผู้อำนวยการสถานพินิจฯ จะพิจารณาว่าให้ทำทัณฑ์บน ให้ประกันตัวหรือไม่ให้ประกันตัว เป็นต้น แต่กฎหมายใหม่ เมื่อจับแล้วต้องส่งศาลเยาวชนฯ ก่อนเพื่อให้ศาลพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่กระทำโดยชอบด้วยกฏหมายหรือไม่? หากไม่ชอบต้องปล่อยทันทีโดยไม่ดูว่าเด็กผิดหรือไม่
ซึ่งปัญหาคือศาลเยาวชนฯ ไม่ได้เปิดตลอด 24 ชม. ตำรวจเองก็ไม่อยากจะนำเด็กไปขังรวมกับผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ เพราะเด็กอาจถูกทำร้ายได้ หลายครั้งตำรวจจึงไม่จับเด็กที่ทำผิดช่วงกลางคืน เพราะไม่อยากมีปัญหาดังกล่าว กลายเป็นว่าตำรวจถูกมองว่าหย่อนยานในการปฏิบัติหน้าที่ เด็กและเยาวชนที่ทำผิดก็ย่ามใจ ไม่กลัวกฎหมายเพราะไม่ถูกจับ ส่วนศาลก็ไม่รู้เรื่อง เท่ากับว่าสถิติการจับกุมลดลง แต่ไม่ได้หมายความคดีที่ผู้กระทำผิดเป็นเด็กและเยาวชนลดลงจริงอย่างที่คาดหวังกันไว้
ถึงกระนั้น คำว่า “ทักษะชีวิต” ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันเยาวชนไม่ให้หลงไปสู่ทางที่ผิด โดยนักวิชาการจากกรมพินิจฯ รายนี้ ให้ความเห็นว่า ทักษะชีวิตเป็นเรื่องที่นักเรียนจะมานั่งเรียนแล้วฟังครูบอกไปเรื่อยๆ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะไม่ครบถ้วน และไม่เกิดความตระหนักเท่าที่ควร
แต่การเสริมทักษะชีวิตไม่ว่าชีวิตของเขาจะเป็นแบบใด ง่ายหรือยากกว่าผู้อื่น ต้องมีการฝึกหัดให้คิดได้เองทุกคน เปรียบได้กับการสอนเด็กให้หาปลาเป็น ซึ่งจะดีกว่าการให้ปลาเด็กไปเลย เพราะท้ายที่สุด ทุกคนก็ต้องยืนอยู่ให้ได้ด้วยตนเองทั้งสิ้นในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน ไม่อาจรอความช่วยเหลือจากผู้อื่นได้ทุกครั้งไป
“การสอนทักษะชีวิตโดยการใช้สื่อวิดีทัศน์พร้อมคู่มือการจัดกิจกรรมชุดนี้ จะฝึกหัดเด็กและเยาวชนให้คิดเองได้และตัดสินใจได้ เช่น เรื่องควรทำตัวยังไงถ้าเพื่อนชวน (ในทางไม่ดี) ถ้าครอบครัวทะเลาะเบาะแว้งกันควรทำตัวอย่างไร เพื่อเสริมทักษะชีวิตให้น้องๆ มีความรอบรู้สังคมชีวิตภายนอก และหากฉันมีปัญหาควรแก้ปัญหาอย่างไร เป็นการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เช่นจากปกติที่ครูสอนว่าการปฏิเสธหมายถึง
แต่อันนี้เป็นการเปิดสื่อให้ดูละครเนื้อหาจากชีวิตจริงที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นก็จะถามเขาถ้าเป็นเราเพื่อนมาชวนแบบนี้จะทำอย่างไรดี? ซึ่งเด็กจะต้องคิดเองในสถานการณ์แบบนั้น ซึ่งแต่ละตอนจะมีความยาวครึ่งชั่วโมง มีการตั้งคำถาม แต่จะเห็นว่าไม่มีการเฉลยคำตอบ จากเมื่อก่อนที่เราชินว่ามีคำตอบอะไรที่ว่าดี หรือไม่ดี เพราะอันนี้คือการฝึกทักษะในการคิด” ดร.ขัตติยา กล่าวทิ้งท้าย
นวัตกรรมใหม่ของกรมพินิจฯ ในรูปแบบหนังสั้น 6 ตอน ประกอบด้วย ใต้เงาแห่งความฝัน , เพราะสูญเสียจึงเสียศูนย์ , ทางแยก , ความว่างเปล่าของเวลา , วันแห่งการให้อภัย , ฟ้าหลังฝน ซึ่งทีมงานผู้ผลิตหวังว่า ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ ไม่ว่าพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์ จะได้เรียนรู้ร่วมกันต่อไป ไม่ใช่รูปแบบ “สั่งสอน” แต่เป็นรูปแบบ “ชวนให้คิด”
เพราะถ้าคนคน หนึ่งคิดได้ คิดเป็น ก็จะเกิดภูมิคุ้มกัน ไม่นำพาตนเองไปสู่มุมมืดในที่สุด
สิริพร พานทองถาวร
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี