เมื่อเอ่ยถึงองุ่น...เกือบทุกคนจะนึกถึงไวน์ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ได้จากการหมักผลองุ่น ประชากรทั่วโลกหลายล้านคนนิยมดื่มไวน์ และทราบดีว่าการดื่มไวน์ในปริมาณพอเหมาะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่มีจำนวนคนไม่มากนักที่จะตระหนักว่าเมล็ดขององุ่นซึ่งเป็นส่วนขององุ่นที่ปกติไม่รวมอยู่ในไวน์มีคุณประโยชน์อย่างมหาศาล และปัจจุบันมีการนำเมล็ดองุ่นที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมไวน์และน้ำองุ่นมาจำหน่ายแพร่หลายในรูปสารสกัดเรียกว่า Grape seed extract (GSE)
Grape seed extract (GSE)...คืออะไร
Grape seed extract (GSE) คือเมล็ดองุ่นสกัดนั่นเอง จุดสนใจคือในสารสกัดจากเมล็ดองุ่นประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโดยเฉพาะกลุ่มสารโพลีฟินอล (polyphenols) ที่สำคัญ ได้แก่ สารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) รู้จักกันดีภายใต้ชื่อ “ไบโอฟลาโวนอยด์(bioflavonoids)” ฟลาโวนอยด์คือกลุ่มสารเคมีธรรมชาติที่พบในพืชและมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมนุษย์ โดยเฉพาะฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหรือแอนตีออกซิแดนท์ (antioxidants) ที่ทำหน้าที่กำจัดอนุมูลอิสระ (free radicals) และลดอันตรายที่เกิดจากการทำลายเซลล์และเกิดโรคต่างๆ จากอนุมูลอิสระ ข้อมูลจากผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากพบว่าสารโพลีฟินอลมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินอีและวิตามินซีกว่า 20 และ 50 เท่าตามลำดับ จากความโดดเด่นของฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสารโพลีฟินอลในองุ่นนี่เอง ทำให้น้ำผลไม้จากผลองุ่น (ทั้งแดงและม่วง) มีประโยชน์มากกว่าน้ำผลไม้จากผลส้ม
นอกจากนี้ในเรื่องของความสวยงาม สารสกัดจากเมล็ดองุ่นช่วยรักษาความกระชับ เต่งตึงของผิว ขณะเดียวกันก็ป้องกันริ้วรอยหยาบกร้าน นอกจากนี้ในผู้ที่มีปัญหาฝ้า หรือสีผิวไม่สม่ำเสมอสารสกัดจากเมล็ดองุ่นจะสามารถช่วยลดความเข้มของสีผิวบริเวณที่ดำคล้ำลง ทำให้ผิวหน้าดูกระจ่างใส จึงทำให้เมล็ดองุ่นสกัดถูกนำมาประยุกต์ใช้ในวงการเครื่องสำอางอย่างแพร่หลาย
สาร Oligomeric proanthocyanidins (OPCs)
โอลิโกเมอริกโปรแอนโธไซยานิดิน “oligomeric proanthocyanidins หรือเรียกย่อๆ ว่า “โอพีซี (OPCs)” เป็นสารในกลุ่มโพลิฟินอล ส่วนใหญ่แล้วจะสกัดสารดังกล่าวมาจากเมล็ดองุ่นและเปลือกสนเนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงในการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา นอกจากชื่อเรียก oligomeric proanthocyanidins แล้วยังมีชื่อพ้องอื่นๆ ที่นิยมใช้ ได้แก่ โปรแอนโธไซยานิดิน (proanthocyanidins), procyanidilic-oligomers (PCOs), ลิวโคแอนโธไซยานิน (leucoanthocyanins), คอนเดนท์แทนนิน (condensed tannins) หรือพิคโนจีนอล (pycnogenols) เป็นต้น ในบางครั้งยังเรียกตามชื่อการค้า Pycnogenol® ซึ่งได้จากการสกัดเปลือกสนมาริไทม์ (maritime pine) จากประเทศฝรั่งเศสด้วย
นักวิทยาศาสตร์ผู้ที่เริ่มศึกษาเกี่ยวกับสาร OPCs เป็นคนแรกคือ ศ.ดร.แจ๊ค มาสเควอริเย (Jacques Masquelier) แห่ง University of Bordeaux ประเทศฝรั่งเศส จากคำแนะนำของชาวพื้นเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ (Saint Lawrence river) ที่ให้ทดลองดื่มน้ำต้มจากเปลือกสนเพื่อรักษาอาการโรคลักปิดลักเปิด จนนำมาสู่การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสารสำคัญที่มีในเปลือกสน แล้วทราบต่อมาในภายหลังว่าคือ oligomeric proanthocyanidins (OPCs)
ประสิทธิภาพของ OPCs
ต้านอนุมูลอิสระ : โดยมีความสามารถในการจับอนุมูลอิสระ(free radical trapping) ได้ดี และจากการทดลองในหนูพบว่าสามารถยับยั้งสารเคมีที่กระตุ้นให้เกิดกระบวนการ lipid peroxidation, DNA fragmentation และการตายของเซลล์ (apoptosis) ที่จะไปกระตุ้นให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย ได้ เมื่อศึกษาในมนุษย์เมื่อตรวจวัดปริมาณ low-density lipoprotein cholesterol (LDL) พบว่ามีค่าลดลง มาจากการยับยั้งกระบวนการ lipid peroxidation ในร่างกายได้ถึง 27% และตรวจพบการจับอนุมูลอิสระมากขึ้น เมื่อบริโภคไวน์แดงเพราะมีส่วนผสมของ OPCs นอกจากนี้ สาร OPCs ยังสามารถยับยั้งการเกิดเอนไซม์ xanthine oxidase ในเซลล์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำหน้าที่สร้างอนุมูลอิสระออกมา
ต้านการเกิดอักเสบ : ได้จากการยับยั้งการเกิด peroxide generation, proinflamatory cytokines และ interleukin 1-beta เมื่อไม่เกิดกระบวนการและสารกระตุ้นการอักเสบเหล่านี้ก็จะทำให้อาการอักเสบต่างๆ ทุเลาลง
กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน : เนื่องจาก OPCs สามารถรวมกับคอลลาเจนได้ดีและช่วยหยุดการสลายตัวของคอลลาเจนอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาการบวมน้ำเหลืองและเกิดริ้วรอยได้
ต้านมะเร็ง : จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า OPCs สามารถเกิดพิษกับเซลล์มะเร็งได้โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติของมนุษย์
ป้องกันโรคหัวใจ : จากการที่ OPCs ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและเรียงตัวกันแน่นของคอลลาเจนในผนังหลอดเลือด จึงช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ผนังหลอดเลือด ช่วยลดการซึมไหลของสารในหลอดเลือดออกมาและมีการไหลเวียนเลือดที่ดีขึ้น ช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ส่งเสริมให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงไม่เปราะหรือแตกหักง่าย ช่วยบรรเทาอาการเส้นเลือดขอดหรือโป่งพองได้ ป้องกันโรคหัวใจ บรรเทาอาการมือและเท้าชา
ป้องกันเซลล์สมอง : OPCs สามารถผ่านแนวกั้นสมอง (blood brain barrier) ได้ จึงป้องกันสมองไม่ให้เสียหายจากอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease, AD)
จะเห็นได้ว่า OPCs มีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพดังกล่าวข้างต้น แต่ไม่ใช่ว่าเราต้องดื่มน้ำองุ่นคั้นหรือเคี้ยวเมล็ดองุ่นใน
ปริมาณมากๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับ OPCs เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ช่วยให้มีสารสกัดจากเมล็ดองุ่นคุณภาพสูงในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (dietary supplement) วางจำหน่ายทั่วไป
ข้อควรระวังในการรับประทานสารสกัดเมล็ดองุ่น
ปัจจุบันยังไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ว่าการรับประทานสารสกัดเมล็ดองุ่นจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามอาจมีผลในเรื่องของการชะลอการแข็งตัวของเลือด (ทำให้เลือดแข็งตัวช้า) ผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือผู้ที่เป็นโรคเลือดไหลไม่หยุด จึงไม่ควรรับประทานสารสกัดจากเมล็ดองุ่น และก่อนการผ่าตัดหรือทำฟัน ควรหยุดรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดจากเมล็ดองุ่นอย่างน้อย2 สัปดาห์ เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายไหลไม่หยุด
ประไพภัทร คลังทรัพย์
ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี