แนวโน้มในอนาคตสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมที่สำคัญของโลกที่เราต้องพบ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ซึ่งส่งผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในสาขาทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ส่งผลให้การรักษาพยาบาล การบริโภคอาหาร ตลอดจนการดำเนินชีวิตได้รับการเอาใจใส่เพิ่มขึ้น ประชากรมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดน้อยลงเพราะสภาวะทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต วิถีการทำมาหากิน และทัศนคติของคนในปัจจุบันที่มีแนวโน้มการแต่งงานช้าลง นิยมการมีบุตรน้อย มีคนโสดเพิ่มมากขึ้น สภาวะดังกล่าวกลายเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) คนกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในปี พ.ศ.2548 มีประชากรสูงอายุอยู่ 6 ล้านคนเศษ (ร้อยละ 10) เมื่อถึงปี พ.ศ.2578 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน (ร้อยละ 25) เท่ากับเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในเวลา 30 ปี เมื่อแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การดูแลสภาพร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการดำรงชีวิตในสังคมของผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากมีความเสื่อมของการทำงานระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถรักษาสภาวะสมดุลของร่างกายไว้ได้ เส้นผมเป็นหนึ่งในโครงสร้างผิวหนังของมนุษย์ ถึงแม้เส้นผมจะไม่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของชีวิตมนุษย์แต่มีผลต่อสภาพจิตใจอย่างมาก เรื่องของผมจึงเป็นตัวสร้างความทุกข์ใจให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในวัยทำงานได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นอาการผมร่วง ศีรษะล้าน รวมทั้งภาวะผมหงอก เส้นผมจะงอกออกมาจากต่อมผมหรือรูขุมขน (Hair Follicle) ซึ่งมีรูปร่างเป็นทรงกระบอกอยู่ลึกลงไป 3-4 มิลลิเมตรในผิวชั้นหนังแท้ (Dermis) และยาวยื่นออกมาผ่านผิวชั้นนอก (Epidermis) ในส่วนที่ติดกับชั้นหนังแท้เรียกว่า Dermal Papillae เป็นตัวสร้างเส้นขน ซึ่งตรงนี้จะมีเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocytes) ที่สร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) อันเป็นตัวที่ทำให้เกิดสีผมของเรา เมลานินในผมเราแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Eumelaninที่ทำให้ผมมีสีดำหรือน้ำตาล และ Pheomelanin ที่ทำให้ผมสีแดงหรือทอง โดยสีผมของแต่ละคนจะมีลักษณะอย่างไรขึ้นอยู่กับสัดส่วน Eumelanin และ Pheomelanin ที่ร่างกายผลิตออกมา ขณะเดียวกันสีของผมแต่ละเส้นก็อาจมีสีที่ต่างกันออกไป หากเมลาโนไซต์ในต่อมผมไม่สร้างเมลานิน หรือสร้างน้อยลงจะทำให้เห็นเส้นผมเป็นสีขาวหรือสีเทา อย่างที่เราเรียกกันว่าผมหงอก หรือหากเกิดมีฟองอากาศเล็กๆ เกิดบนเส้นเซลล์เส้นผม (Hair Cortex) เมื่อเส้นผมกระทบแดดก็อาจเป็นแสงเงาทำให้มองเห็นเส้นผมเป็นสีเงิน ดูเป็นผมหงอกได้ เมื่อคนเราอายุมากขึ้นเมลาโนไซต์จะผลิตเมลานินน้อยลงทำให้ผมดูขาวขึ้น การที่ผมสีดำกลายเป็นสีขาวนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความกังวลใจ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ทางด้านสุขภาพร่างกาย เช่น ผิวหนังที่เหี่ยวย่น มวลกระดูกที่ลดลง ตลอดจนการเคลื่อนไหวที่ช้าลง เป็นต้น
นอกจากผมหงอกในผู้สูงอายุยังพบว่าวัยหนุ่มสาวถ้าผมหงอกก่อนอายุ 30 จะเรียกว่ามีภาวะผมหงอกก่อนวัย ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพประการหนึ่งที่มีผลเสียต่อสุขภาพจิตและบุคลิกภาพ สาเหตุเกิดจากผมไม่มีเม็ดสีและรากผมไม่สามารถผลิตเอนไซม์ไทโรซิเนส นอกจากนี้อาจเกิดจากความเสื่อมของเซลล์มิวเคอร์ (mucor) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตสารสีดำในร่างกายจนไม่สามารถสร้างสีดำได้ จึงทำให้เกิดผมหงอก เซลล์นี้จะเกิดการเสื่อมสภาพตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น และอีกสาเหตุที่สำคัญอาจเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เซลล์เมลาโนไซต์ (melanocytes) มีจำนวนลดลง ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่ในการผลิตเม็ดสีเมลานิน (melanin) การลดการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานินมีผลทำให้ขาดเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase enzyme) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เปลี่ยนสารตั้งต้นไทโรซิน (tyrosine) ให้เป็นเมลานินที่รากผมหรืออาจเกิดจากความเครียด (oxidative stress) ทำให้ร่างกายเกิดการสร้างสารอนุมูลอิสระกลุ่มไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในปริมาณมาก ส่งผลให้เซลล์เมลาโนไซท์ลดลงและตายอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ การขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น ทองแดง เหล็ก วิตามินบี ผลกระทบจากยาบางตัว เช่น ยารักษาโรคมาลาเรีย การใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของสารชะล้างที่รุนแรง การที่เส้นผมและหนังศีรษะสัมผัสกับน้ำยาดัด ยืด หรือย้อมผมที่มีไฮโดรเจนไดออกไซต์ (Hydrogen Dioxide) ซิลเวอร์ อะซิเทท (Silver Acetate) หรือซิลเวอร์ ไนเตรท (Silver Nitrate) อาการเจ็บป่วยจากโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ด่างขาว ผมร่วง เบาหวาน อาการทางจิตที่หวาดกลัวเฉียบพลัน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ หรือโรคของระบบประสาท เป็นต้น อาการผมหงอกที่เกิดจากโรคบางชนิดอาจทำให้เส้นผมกลับมาดำได้เมื่อรักษาหาย พูดง่ายๆ ก็คือ อาการที่ป่วยทำให้ร่างกายเครียดจนผมหงอกนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ภาวะผมหงอกไม่เกี่ยวข้องกับการหลุดร่วงของเส้นผมแต่อย่างใด ภาวะผมหงอกก่อนวัยยังไม่มีผลรับรองโดยการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยทั่วไปหากเกิดจากภาวะแวดล้อมที่ไม่ใช่โรค แพทย์อาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้สิ่งที่กระตุ้นให้ผมหงอกหรือหากเป็นเพราะขาดสารอาหารก็ควรรับประทานอาหารเสริมเพิ่มเติม เช่น อาหารที่มีวิตามินเอ บี ซี ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง ส่วนการรักษาโดยภูมิปัญญาชาวบ้านมักนิยมใช้สมุนไพรพื้นบ้านมาหมักผม เช่น ใบบัวบก งาดำ ว่านหางจระเข้ อัญชัน ข้าวหอมนิล ใบหญ้านาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยใช้เทคโนโลยีทางเภสัชกรรมเป็นตัวพาสารไปยังรูขุมขนของเส้นผม ได้แก่ ไลโปโซม (Liposomes) อนุภาคนาโนชนิดไขมัน นาโนอิมัลชัน ซึ่งเป็นไขมันขนาดอนุภาคเล็ก วิธีใช้คือ ทาบริเวณหนังศีรษะพร้อมอาหารผม เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มการซึมผ่านของสารเข้าสู่ชั้นผิวหนัง เมื่อใส่อาหารผมลงไปทำให้รากผมได้อาหารได้ดีขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาโดยการถอนผมที่หงอกออกนั้นไม่ได้ทำให้ภาวะผมหงอกหายไปเพราะเมื่อผมงอกขึ้นมาใหม่ก็จะเป็นผมหงอกเหมือนเดิม ส่วนการย้อมผมแม้จะสะดวกและเห็นผลชัดเจน แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น การแพ้หรือการสะสมของสารเคมีในร่างกายได้ จึงควรศึกษายาย้อมผมแต่ละชนิดให้ดีก่อนซื้อเพื่อสุขภาพผมที่ดี เราควรพักผ่อนให้เพียงพออย่าเครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันโรค รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อเส้นผม งดสูบบุหรี่ เลือกแชมพูและครีมนวดผม รวมทั้งผลิตภัณฑ์แต่งผมที่ไม่แพ้ เหมาะกับสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ นอกจากนี้การนำสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านมาใช้ประโยชน์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในประเทศที่นิยมการใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งนี้เนื่องจากมีความเชื่อว่าสิ่งที่มาจากธรรมชาติย่อมมีความปลอดภัย ราคาไม่แพง สรรหาได้ในท้องถิ่นและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชสมุนไพรในประเทศได้ โดยในด้านเครื่องสำอางมีการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรเพื่อใช้เป็นส่วนผสมกันอย่างแพร่หลาย อาทิ มะเกลือ อัญชัน ใบเทียนกิ่ง ฝาง มะขามป้อม ใบหมี่ ข้าวหอมนิล เป็นต้น
สิทธิพงศ์ สรเดช
ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี