ว่านกาบหอย เป็นพืชที่คนไทยสมัยโบราณคุ้นเคยและได้รับอิทธิพลความเชื่อเกี่ยวกับว่านมาจากชาวเขมรและชาวมอญนักรบสมัยกรุงศรีอยุธยาเชื่อกันว่า หากนักรบได้อาบน้ำที่เคี่ยวด้วยว่านจะทำให้หนังเหนียวอยู่ยงคงกระพัน มีอิทธิฤทธิ์ในการป้องกันภูตผีปีศาจ ปกป้องคุ้มครองให้คลาดแคล้วจากอันตราย ถอนพิษร้าย ดับพิษร้อน มีมนต์เสน่ห์เมตตามหานิยม ทำให้ค้าขายดี มีโชคลาภ และมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค พืชที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจึงถูกจัดให้เป็นพืชประเภทว่าน (คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.ป.ป.)
ว่านกาบหอย เป็นอีกพืชที่มีสรรพคุณเป็นยา แต่ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ประโยชน์ปลูกเป็นไม้ประดับสวน เนื่องจากปลูกและดูแลง่าย ใบมีสีสันสวยงาม การนำไปใช้ประโยชน์ทางยาในประเทศไทยไม่นิยมมากนัก หากมีการนำไปใช้ส่วนใหญ่จะนำไปต้มเป็นยาแก้ร้อนใน (ว่านกาบหอย สมุนไพรแก้ร้อนใน กระหายน้ำ 2560 ; Medthai 2017) ส่วนสรรพคุณด้านอื่นๆ ยังมีการนำไปใช้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัด ว่านกาบหอย หรือในบางพื้นที่เรียก กาบหอยแครง ว่านหอยแครง มีชื่อสามัญว่า Oyster plant, White flowered tradescantia มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tradescantia spathacea หรือ Rhoeo spathacea (Swartz) เป็นพืชในวงศ์ Commelinaceaeมีถิ่นกำเนิดในแถบเม็กซิโก คิวบาและอเมริกากลาง จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุได้หลายปี ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค (บุญวรพัฒน์ 2554)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ว่านกาบหอย จัดเป็นพืชล้มลุกโดยจะขึ้นเป็นกอ ปลูกได้นานหลายปี ทรงพุ่มเตี้ย ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขามี 2 พันธุ์ พันธุ์ปกติและพันธุ์แคระ โดยพันธุ์ปกติจะสูง 50-70 เซนติเมตร ส่วนพันธุ์แคระจะสูงไม่เกิน 20-30 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะอวบใหญ่แข็งแรง แตกกอแน่นบริเวณโค่นต้น ใบเป็นใบเดี่ยว หนา รูปร่างคล้ายกับหอก ขอบใบเรียบ เส้นใบขนาน ไม่มีก้านใบ ใบแตกออกตามลำต้นที่ใหญ่อวบ โดยใบออกเรียงกัน ด้านบนมีสีเขียวส่วนด้านล่างของใบมีสีม่วง ดอกออกเป็นช่อ ตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยใบประดับสีม่วงปนเขียวมี 2 กาบ รูปคล้ายหอยแครง โคนกาบทั้งสองประกบเกยซ้อนกันและโอบหุ้มดอกสีขาวไว้ จึงเป็นที่มาของชื่อ ว่านกาบหอย ดอกสีขาวเล็กอยู่รวมกันเป็นกระจุก ไม่มีกลิ่น มีกลีบดอก 3 กลีบ รูปไข่ มีเกสรเพศผู้สีเหลือง ลักษณะคล้ายถั่ว 6 อัน มีเกสรเพศเมีย 1 อัน สีขาวไม่มีก้าน มีรังไข่ 3 รังดอกจะพบในพันธุ์ปกติเท่านั้น ผลเป็นผลเดี่ยว ผลสดสีเขียวอ่อน รูปรีมีขนเล็กน้อย ผลแก่แตกออกเป็น 3 ซีก มีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ภายใน (ว่านกาบหอย สมุนไพรแก้ร้อนใน กระหายน้ำ, 2560) ว่านกาบหอยพบขึ้นตามที่ราบลุ่มทั่วๆ ไป เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินปนทราย ต้องการความชื้นปานกลาง หากปลูกในพื้นที่ที่มีแดดส่องครึ่งวันจะทำให้ได้ต้นที่มีสีสวย มากกว่าปลูกในพื้นที่ที่มีแดดส่องตลอดทั้งวัน นิยมขยายพันธุ์โดยการปักชำ (บุญวรพัฒน์ 2554)
องค์ประกอบที่มีประโยชน์ในว่านกาบหอย
สารสกัดจากว่านกาบหอยมีฤทธิ์ต่อการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ซึ่งเป็นสารที่มีความสำคัญในกระบวนการเมแทบอลิซึม ยาที่เข้าสู่ร่างกายโดยทำการทดลองในตับหนู (เจนศิริธีราภาและคณะ 2556)
สารที่พบในดอกและใบ คือสารจำพวก ฟลาโวนอยด์ ไกลโคไซด์ กรดคาร์บอกซิลิก วิตามินซี และน้ำยางสด เป็นต้น (Medthai 2017)
สารสกัดและน้ำจากการแช่ใบของว่านกาบหอย (Rhoeo spathacea (Swartz)) พบว่า มีสารประกอบฟินอลิกทั้งหมด (total phenolic content (TPC)) สารประกอบฟลาโวนอยด์ทั้งหมด (total flavonoid content (TFC)) มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบบางชนิดได้ (Tan et al. 2015)
ว่านกาบหอยเป็นแหล่งแอนโทไซยานินจากธรรมชาติ (Tan et al.2014)
สารสกัดจากใบ ลำต้นและดอกของว่านกาบหอยที่สกัดด้วยสารต่างชนิดกัน มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเกิดมะเร็ง (Russo et al. 2016)
การใช้ประโยชน์
ในแต่ละประเทศมีการนำว่านกาบหอยมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย บางประเทศ เช่น ประเทศอินเดียและชวาจะใช้ใบอ่อนมาปรุงเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังนำมาใช้ประโยชน์ทางยา เช่น ตำรายาไทยจะใช้ใบสดเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ไอ โดยใช้ใบสด 3 ใบ นำมาต้มผสมกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อยดื่มเป็นยา ตำรายาจีนจะใช้ดอกของว่านกาบหอยเป็นยาแก้อาการตกเลือดในลำไส้ (ชัยชาญทิพยุทธ 2522) ในอินโดจีนใช้ต้นนำมาต้มเอาไอและรมแก้ริดสีดวงทวาร ในประเทศอินเดียใช้ว่านกาบหอยผสมกับน้ำมันงา สำหรับใช้เป็นยาพอกแก้ต่อมน้ำเหลืองบวม หรือใช้เป็นยาพอกรักษาโรคผิวหนังและโรคเท้าช้าง ส่วนในประเทศมาเลเซียใช้ใบเป็นยาแก้คุดทะราด และในชวาจะใช้เป็นยาแก้กลาก การนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ คือใช้น้ำคั้นจากต้นว่านกาบหอยผสมในหมึกสักในประเทศอินเดีย (Medthai 2017) หากแยกส่วนของว่านกาบหอยไปใช้ประโยชน์สามารถจำแนกได้ดังนี้
ใบ ช่วยรักษาอาการกระหายน้ำ ร้อนใน รักษาอาการอาเจียนเป็นเลือดรักษาอาการเจ็บช้ำจากภายในที่มีสาเหตุจากการถูกกระแทกด้วยของแข็งหรือจากการพลัดตกจากที่สูง (ชัยชาญทิพยุทธ 2522) รักษาอาการถ่ายหรือปัสสาวะออกมาเป็นเลือด นอกจากนี้ใบยังช่วยรักษาอาการของโรคผิวหนังที่เกิดจากกลาก เกลื้อนหรือแผลเน่าเปื้อย (ว่านกาบหอย สมุนไพรแก้ร้อนใน กระหายน้ำ 2560 ; Medthai 2017)
ดอก มีรสชาติเย็นจึงช่วยในการรักษาอาการไอแบบแห้งๆ ช่วยในการขับเสมหะ รักษาอาการเลือดกำเดาไหลและช่วยในการห้ามเลือดให้หยุดไหล ช่วยรักษาอาการไอเป็นเลือดหรือไอแบบมีเสมหะแล้วมีเลือดปนออกมา ช่วยแก้อาการปอดร้อนชื้น รักษาอาการเลือดออกในลำไส้ แก้บิดถ่ายเป็นเลือด (ชัยชาญทิพยุทธ 2522; ว่านกาบหอย สมุนไพรแก้ร้อนใน กระหายน้ำ 2560 ; Medthai 2017)
ใบและราก ใช้เป็นยาเพื่อทำให้เกิดอาการอาเจียนได้และหากใช้ในปริมาณมากๆ จะมีฤทธิ์ทำให้เป็นยาระบายหรือยาถ่าย รักษาอาการม้ามพิการหรืออาการไตพิการได้ (ว่านกาบหอย สมุนไพรแก้ร้อนใน กระหายน้ำ2560 ; Madthai 2017)
วิธีการนำไปใช้ในการรักษาโรค
1.ใบสดของว่านกาบหอยที่ผ่านการทำความสะอาดและตากแดดจนแห้ง ต้มกับน้ำโดยใช้ปริมาณของใบว่านกาบหอยประมาณ 30 กรัม ช่วยรักษาอาการร้อนในกระหายน้ำและรักษาอาการถ่ายเป็นเลือด
2.ใบสดของว่านกาบหอยไปผสมกับน้ำมันงาใช้พอกบริเวณผิวหนังเพื่อรักษาแผลที่เกิดจากโรคเท้าช้าง
3.ดอกของว่านกาบหอยที่ผ่านการทำความสะอาดและและตากแดดจนแห้ง ต้มกับน้ำโดยใช้ปริมาณของใบว่านกาบหอยประมาณ 15 กรัม หรือหากหาดอกแห้งไม่ได้อาจจะใช้ดอกสดแทนได้โดยใช้ในปริมาณ 60 กรัม ช่วยรักษาอาการเป็นหวัด อาการไอแบบมีเสมหะและอาการเลือดกำเดาไหล (ว่านกาบหอย สมุนไพรแก้ร้อนใน กระหายน้ำ 2560)
ชลธิชา นิวาสประกฤติ, จันทรา ปานขวัญ, บุญเรียม น้อยชุมแพ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี