.
"ฟุตบอล" มีการดวลแข้งกันมายาวนาน
แต่ไม่สามารถจะมี "บันทึกใด" ที่จะยืนยันความจริงที่แท้ทรูว่า ใครเป็นผู้ให้กำเนิดกันแน่
ใครเป็น"ประเทศแม่"แห่งวงการฟุตบอล!?!?!?
"ซือ-ซู" (Tsu-Chu) แบบจีน เมื่อ ค.ศ.1130-1160 ได้รับการยอมรับจากฟีฟ่าเป็นรุ่นแรกของเกมที่มีกฎระเบียบปกติ
หรือเป็นแนวของกรีกโบราณอย่าง Amcient Greek ที่มีรูปแกะสลักบันทึกไว้ 400-375 ก่อน ค.ศ. รวมถึงพวกโรมันที่มีการเล่นที่เรียกว่า (Harpastum) นอกจากนี้ยังมี ฝรั่งเศส กับ อิตาลี ที่เรียกว่า "ซูเลอ" (Soule) หรือ จิโอโค เดล คาซิโอ (Gioco Del Calcio)
ลงท้ายคำว่า "แผ่นดินแม่ของฟุตบอล" ตกเป็นของประเทศอังกฤษ อย่างสิ้นเชิง
ด้วยแนวคิดของ นาธาเนี่ยล เครสวิค กับ วิลเลี่ยม เพรสต์ จัดตั้งทีมฟุตบอลขึ้นมา โดยพัฒนาจากทีมคริกเก็ต
ทั้งสองท่าน เริ่มจัดการประชุมและก่อตั้งสโมสร เชฟฟิลด์ เอฟซี อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ปี ค.ศ.1857 หรือ พ.ศ.2400 ณ พาร์คฟิลด์ เฮาส์ ย่านไฮจ์ฟิลด์
ก่อนจะร่วมกันเขียน "กฏกติกาแห่งฟุตบอล" มาปรากฏโฉมต่อทุกคนในอีก 1 ปีต่อมา จนเป็นที่รู้จักในนามของ The Sheffield Rules
บันทึกเอาไว้ว่า เกมแรกของระดับสโมสร (The world's first inter-club football match) เกิดขึ้นที่อังกฤษ เมื่อ ทีมฮาแลม ฟุตบอล คลับ เปิดบ้านดวลกับ เชฟฟิลด์ เอฟซี เมื่อ 26 ธันวาคม วันบ็อกซิ่งเดย์ ปี 1860 ที่สนามแซนดี้เกต โร้ด
ได้รับฉายาว่า Rules derby ผลคือ เชฟฟิลด์ เอฟซี ชนะ 2-0
ต่อด้วยทำการจัดตั้งสมาคมลูกหนัง เมื่อปี 15 ตุลาคม ปี 1863 พร้อมกับออกกฏกติกาต่าง ๆ มากมาย
เท่ากับประเทศอังกฤษ กลายเป็นแผ่นดินแม่ไปโดยปริยาย ทั้งมีการเขียนกฏฟุตบอล, จัดตั้งสโมสรทีมแรกอย่างเป็นทางการของโลก รวมถึงการแข่งขันครั้งแรกในระดับสโมสร
จากนั้นความต่อเนื่องเกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 1870-1872 อังกฤษ นัดกับ สก็อตแลนด์ เคยเตะกันมา 5 นัด โดยเกมแรกในวันที่ 5 มีนาคม 1870 ภายใต้การริเริ่มของ ชาร์ลส์ วิลเลี่ยม “ซี.ดับบลิว.”อัลค็อก หนุ่มชาวซันเดอร์แลนด์ ก่อนจะเสมอกัน 1-1 และเตะกันต่อมาอีก 4 นัด อังกฤษ ชนะ 3 เสมอ 2 ซึ่งทุกเกมเตะที่สนาม “ดิ โอแวล”
แต่พวกสก็อตติชไม่นับผลการแข่งขันที่ออกมา ก็เพราะสืบเนื่องมาจากมีนักเตะสก็อตฯรังนกแท้ๆ เพียงคนเดียวเท่านั้น!!
จนมาถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 1872 ทั้งสองประเทศตกลงกันได้ และนัดกันมาเตะตรงกับ “วันเซนต์แอนดรูว์” ซึ่งเป็นวันชาติของสก็อต
เกมดวลแข้งมีขึ้นที่ “แฮมิลตัน เครสเซนต์” ของสโมสร เวสต์ ออฟ สก็อตแลนด์ คริกเก็ต คลับ ที่แพทริค กรุงกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์
11 นักเตะของสก็อตแลนด์ คัดเลือกมาจากทีมควีนส์พาร์ค ซึ่งเป็นทีมจ่าฝูงของลีกวิสกี้ ในเวลลานั้น พร้อมกับให้ โรเบิร์ต การ์ดเนอร์ ผู้รักษาประตูรับบทเป็นกัปตันทีมด้วย ซึ่งพวกเขาอยู่ในชุดสีน้ำเงินเข้ม หรือ Dark Blue
พร้อมกับมี โรเบิร์ต กับ เจมส์ สมิธ เป็นคู่พี่น้องลงสนามคู่แรกของโลก ในเกมแรกระดับชาติของโลกอีกด้วย
ขณะที่ อังกฤษ มาในชุดสีขาว มีผู้เล่นมาจากหลายสโมสรทั้ง เฮิร์ดฟอร์ดเชียร์ เรนเจอร์ส, น็อตต์ส เคาน์ตี้, แฮร์โรว เชเคอร์ส, ซัวรี่ย์ ริฟล์ส, เชฟฟิลด์ เวนสเดย์, คริสตัล พาเลซ, บาร์เนส, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยมีนักเตะตัวหลักมาจาก มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด 2 คน หนึ่งในนั้นคือ คูธเบิร์ต อ็อตตาเวย์ เป็นกัปตันทีม
ส่วนผู้ตัดสินคือ วิลเลี่ยม เคย์ จากสก็อตแลนด์
ลงท้ายเกมคู่นี้จะเสมอกันไป 0-0 มีผู้เข้าร่วมชมเกมทั้งสิ้น 4,000 คน
นี่คือเกมที่ถูกบันทึกเอาไว้ว่า เป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติครั้งแรกของโลก
ฟุตบอลระดับชาติคู่แรกของโลก อังกฤษ พบกับ สก็อตแลนด์ ปี 1872
บัตรเข้าชมการแข่งขันนัดแรกของโลก ปี 1872
ก่อนจะมีการพัฒนาก้าวไปสู่ระบบลีกในอีก 6 ปีต่อมา
จากนั้นมาเป็นลีกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่น่าเชื่อเหมือนกัน ว่าฟุตบอลมาถึงจุดนี้ได้ยังไง?!?!?
แต่ที่แน่ๆ ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของคำที่คนอังกฤษภาคภูมิใจ นั่นก็คือ “Home of Football”
……มาถึงปี 1900 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล(IOC) ได้บรรจุฟุตบอลเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพ แต่มีเพียง 3 ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน นั่นก็คือ ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม และเกรท บริเตน
การแข่งขันใช้เวลาเพียง 3 วัน ตั้งแต่ 20-23 กันยายน ที่สนามเวโลโดรม เด แวงเซงเนส กรุงปารีส ที่สำคัญก็คือ เป็นนักเตะสมัครเล่นทั้งหมด และรวมทีมมาแข่งขัน
เกรท บริเตน ที่ใช่ทีม “อัพตัน พาร์ค เอฟซี” ลงแข่งขัน ได้เหรียญทอง ขณะที่ ฝรั่งเศส คือทีม “Union des Sociétés Françaises de Sports Athlétiques” หรือ USFSA XI ได้เหรียญเงิน และเบลเยี่ยม ได้เหรียญทองแดง ส่งเด็กมหาวิทยาลัยบรัสเซลล์ส คือ The Universités of Brussels มาทั้งทีม หนึ่งในนั้นเป็นชาวอังกฤษ ชื่อ เอริค ธอร์นตัน อยู่ในทีมด้วย
ทีมลูกหนังฝรั่งเศส เข้าร่วมดวลแข้งโอลิมปิก ที่บรรจุฟุตบอลเป็นสมัยแรก ปี 1900
จนถึงปี 1904 หรือให้หลัง 2 ปีจากฟุตบอลนอกเกาะอังกฤษครั้งแรก และเป็นการเตะ ณ แดนไกลอย่างอเมริกาใต้ ก็ได้มีการถือกำเนิด สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า มีการจัดตั้งในการประชุมที่ รูแศวคฺ ฮอนอร์ 299 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 22 พฤษภาคม 1904อีก 2 ปีต่อมา มีเกมฟุตบอลที่”นัดกันเตะ”อย่างเป็นทางการนอกเกาะอังกฤษครั้งแรกในฐานะ “ทีมชาติชุดใหญ่” ไม่ใช่ “ทีมสมัครเล่น” นั่นก็คือ อุรุกวัย พบกับ อาร์เจนติน่า ที่มอนเตวิเอโอ ก่อนที่ อาร์เจนติน่า จะบุกถล่มขาดลอย 6-0 บันทึกคือเมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 1902
โดยมีสมาชิกทันที 7 ชาติ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, สเปน, สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่ เยอรมนี จะมาลงนามสมทบในภายหลัง
พร้อมกับเลือก โรแบร์ เกแร็ง ให้เป็นประธานคนแรก
ปีนั้นตรงกับ โอลิมปิกเกมส์ 1904 ที่เซนต์หลุยส์ มิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพ ซึ่งฟุตบอลถูกบรรจุต่อเนื่อง มีทีมแข่ง 3 ทีมเท่าเดิม แต่เปลี่ยนหน้าออกไปนั่นคือ แคนาดา ใช้ทีม กัลท์ เอฟซี, สหรัฐอเมริกา 1 ใช้ทีม คริสเตียน บราเธอร์ส คอลเลจ และสหรัฐอเมริกา 2 คือทีม เซนต์.โรส พาริช ใช้สนามฟรานซิส ฟิลด์ จัดแข่งขัน
จากนั้นในปี 1906 มีการจัดแข่งขัน Intercalated Games ถ้าเรียกง่าย ๆ คือรายการน้อง ๆ ของโอลิมปิก ที่เอเธนส์ ประเทศกรีซ ก็มีการบรรจุฟุตบอลแข่งขัน ตอนนั้นมี 4 ทีมคือ เดนมาร์ก, กรีซ และอีก 2 ทีมคือ สเมียร์น่า กับ เธสซาโลนิกี้ ซึ่งอยู่ในแผ่นดินของตุรกี
ฟุตบอล เริ่มเติบโตขึ้น ฟีฟ่า กระจายสมาชิกต่าง ๆ ออกนอกยุโรป ไปยังประเทศแอฟริกาใต้ ปี 1909, อาร์เจนติน่า ปี 1912, แคนาดา กับ ชิลี ปี 1913 และสหรัฐอเมริกา ปี 1914
การดวลแข้งในศึกโอลิมปิกเกมส์ ก็ยังดำเนินต่อไป ในปี 1908 ที่มหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่ง เอฟเอ เข้ามาดูแลการแข่งขันด้วยตัวเอง มีทั้งหมด 5 ทีมแข่งขัน ก่อนที่ เกรท บริเตน จะเป็นแชมป์
จากนั้นอีกหนึ่งจุดน่าสนใจเกิดขึ้นในปีต่อมา เมื่อ เซอร์โธมัส จอห์นสโตน ลิปตัน เศรษฐีเจ้าของ “ชาลิปตัน” คนดังชาวสก็อตแลนด์ จัดฟุตบอลระดับ “สโมสรระหว่างชาติ” เป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อการแข่งขันว่า Sir Thomas Lipton Trophy ในปี 1909
ก่อนหน้านั้น เซอร์ลิปตัน หรือ “เศรษฐีใบชาบ้าบอล” จัดฟุตบอลระหว่างสองประเทศคือ อุรุกวัย กับ อาร์เจนติน่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1905 ในชื่อรายการว่า The Copa Lipton รวมถึงจัดศึกฟุตบอลในอิตาลี Lipton Challenge Cup ระหว่าง เนเปิ้ลส์ เอฟบีซี กับ ปาแลร์โม่ เอฟบีซี
แต่การจัดฟุตบอลสโมสรข้ามประเทศ ไม่เคยมีใครทำขึ้นมาก่อน
ปี 1909 การปะทะแข้งรายการนี้เกิดขึ้นที่นครตูริน ประเทศอิตาลี มีทีมฟุตบอลอาชีพ เข้าแข่งขัน ประกอบด้วย โตริโน่ XI เจ้าถิ่น, เอฟเซ ไวน์เตอร์เธอร์ จากสวิตเซอร์แลนด์, สตุ๊ตการ์เตอร์ สปอร์ตฟรอยด์ จากเยอรมนี อีกทีมคือ เวสต์ อ็อกแลนด์ จากอังกฤษ ที่มาเป็นตัวแทนจากอังกฤษ หลังจาก เอฟเอ ปฏิเสธที่จะส่งสโมสรอาชีพชั้นนำตอนนั้นมาแข่ง
ปรากฏว่า เวสต์ อ็อกแลนด์ ชนะได้ทั้ง สตุ๊ตการ์เตอร์ 2-0 และปราบ ไวน์เตอร์เธอร์ ในนัดชิงอีก 2-0 คว้าแชมป์ไปครองแบบหน้าตาเฉย
2 ปีต่อมา รายการนี้จัดขึ้นมาอีกที่ตูรินเหมือนเดิม และเป็น เวสต์ อ็อกแลนด์ ที่คว้าแชมป์ไปครอง หลังจากชนะ ซูริค จากสวิตเซอร์แลนด์ 2-0 และถล่มแหลก ยูเวนตุส ในนัดชิงชนะเลิศ 6-1 เมื อ 17 เมษายน 1911
ฟุตบอลคึกคักต่อเนื่องในศึกโอลิมปิก ปี 1912 ที่กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน มีทีมมาร่วมถึง 11 ชาติ ก่อนที่ เกรท บริเตน จะชนะ เดนมาร์ก ในนัดชิงเหรียญทอง 4-2 คว้าแชมป์
นัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลโอลิมปิกเกมส์ ที่สต๊อคโฮล์ม ปี 1912
แต่งานดังกล่าว ต้องสะดุดไปไม่น้อย เนื่องจากเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 1 ระหว่าง 28 กรกฏาคม 1914 ไปจนถึง 11 พฤศจิกายน 1918ในปี ค.ศ. 1914 ฟีฟ่า ได้เดินเกมรุกเต็มอัตราศึกว่า ฟุตบอลในโอลิมปิกเกมส์ จะเป็น “การแข่งขันชิงแชมป์สำหรับมือสมัครเล่น” และจะรับผิดชอบในการจัดการการแข่ง ซึ่งเป็นการปูทางสู่การจัดการแข่งขันระดับทวีปเป็นครั้งแรก ที่แยกเรื่องของ “ฟุตบอลล้วนๆ”
โอลิมปิกเกมส์ กลับมาแข่งขันอีกครั้งในปี 1920 มีถึง 14 ชาติเข้าแข่งขันที่เบลเยี่ยม เป็นเจ้าภาพ พร้อมกับคว้าเหรียญทองไปครอง แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ฟุตบอลโตขึ้นอีกระดับ เมื่อ อียิปต์ เข้าร่วมการแข่งขันอีกด้วย
เหมือนกับว่า ฟุตบอลจะหยุดไม่อยู่ ในโอลิมปิกเกมส์ ปี 1924 ที่ฝรั่งเศส มีทีมเข้าร่วมถึง 22 ประเทศ และเป็น อุรุกวัย ที่ได้แชมป์ไปครอง
จากนั้นในปี 1928 ที่เนเธอร์แลนด์ อุรุกวัย ก็คว้าเหรียญทองมาครอง ป้องกันแชมป์ได้ 2 สมัยติดต่อกัน
ด้วยความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในโอลิมปิกเกมส์ เหมือนกับถึงช่วงเวลาอัน “สุกงอม” ที่ฟุตบอลจะแยกตัวออกมาจัดการแข่งขันเป็นครั้งแรก ซึ่ง ฟีฟ่า ในยุคที่มี “จูล์ส ริเมต์” ทำหน้าที่เป็นประธาน
จูลส์ ริเมต์ ผู้ริเริ่มการแข่งขันฟุตบอลโลก
ริเมต์ ซึ่งอยู่ในทีมบริหารของฟีฟ่า มาตั้งแต่ปี 1904 แต่ในช่วงสงครามโลก เขาต้องไปประจำการในกองทัพของฝรั่งเศส และหลังสงคราม เขามารับตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส ก่อนได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ประธานฟีฟ่า” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1921
ก่อนจะเป็นผู้คิดริเริ่ม และผลักดันให้การจัดการแข่งขัน”ฟุตบอลโลก”!!!
แต่ในตอนนั้น ริเมต์ ต้องสูญเสีย”เพื่อน”ไปอย่างไม่ตั้งใจ นั่นก็คือสมาชิกจากฝั่งสมัครเล่น นำโดย อังกฤษ และสก็อตแลนด์ รวมไปถึงการไม่พอใจอย่างรุนแรงของ ปิแอร์ เดอ คูแบร์กแตง ประธานโอลิมปิกสากล
อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรหยุด ฟีฟ่า ได้อีก เมื่อในการประชุมฟีฟ่า คองเกรสท์ ครั้งสำคัญเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 1928 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ บอร์ดบริหารฟีฟ่า ตัดสินใจที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอลด้วยตัวของตัวเองเป็นครั้งแรก
จากหลาย ๆ บันทึกระบุว่า ฟีฟ่า เล็งไปที่ อุรุกวัย ที่กำลังร้อนแรงในฟุตบอลโอลิมปิก รวมถึงการเฉลิมฉลอง 1 ศตวรรษแห่งอิสรภาพของอุรุกวัย ในปี ค.ศ. 1930 บวกกับ อุรุกวัย ได้เสนอว่า จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับทุกทีมทั้งหมด
ทุกอย่างลงตัว และฟ้าเหมือนกำลังจะเป็นใจ
ปฐมบทแห่งโลกลูกหนังกำลังจะเริ่มต้นขึ้น!!!!
'บี แหลมสิงห์'
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี