“ผู้กล้าที่ไม่ถูกจารึกนาม (Unsung Heroes)” เป็นนิยามที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวถึง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีบทบาทสำคัญช่วยให้ประเทศไทยควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่สำนักข่าว Bernama ของมาเลเซีย เสนอข่าว Thailand’s village health volunteers -- The kingdom’s unsung heroes in curbing COVID-19 pandemic เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2563 ระบุว่า อสม. มีบทบาทในการรับมือโรคระบาดในประเทศไทยมาหลายสิบปี ตั้งแต่โรคเอดส์ ซาร์ส และไข้หวัดนก
รายงานของสื่อมาเลเซียข้างต้น กล่าวถึงบทบาทของ อสม. ในฐานะ “ด่านหน้า (Front-line)” รับมือไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่การให้ความรู้ด้านการดูแลสุขอนามัยกับชาวบ้านในชุมชน การเก็บรวบรวมข้อมูลสุขภาพ ไปจนถึงการติดตามคนในชุมชนที่กลับมาจากพื้นที่อื่นและต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งจุดแข็งของ อสม. คือ
“การเข้าถึง” เนื่องจากประชาชนทั่วไปมักจะฟังคำแนะนำจากคนในชุมชนเดียวกัน อสม. จึงเป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชนต่างๆ ในประเทศไทย
และด้วยความปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ยุค “สังคมสูงวัย” จำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นในขณะที่เด็กเกิดใหม่ลดลง อสม. จึงได้รับการฝึกอบรมให้ทำงานร่วมกับ “ผู้ดูแล (Caregiver)” ที่ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ดังตัวอย่างจากเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือ Long Term Care (LTC) ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โป่งแยง ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ห่างจาก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ราว 28 กิโลเมตร
มีจำนวน 10 หมู่บ้าน 1,733 หลังคาเรือน รวมประชากร 8,887 คน ในจำนวนทั้งหมดเป็นกลุ่มเป้าหมายของการเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน LTC แบ่งเป็นผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 65 ราย ผู้ป่วยโรคมะเร็ง 10 ราย ผู้พิการ 26 ราย ผู้ประสบอุบัติเหตุ 6 ราย ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 812 ราย และผู้ป่วยโรคไต 25 ราย ทั้งนี้ ในจำนวนผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงทั้งหมด 65 คน ปัจจุบันได้รับเข้าระบบการดูแลแล้ว 45 คนซึ่งในพื้นที่ ต.โป่งแยง มีผู้จัดการระบบ (Care Manager) 1 คน ผู้ดูแล(Caregiver) 11 คน และ อสม. 206 คน
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึง แนวคิดของ อบต.โป่งแยง ที่ทำงานร่วมกับ โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านโป่งแยงใน ที่มีการนำระบบพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) มาใช้ และการจัดรถรับ-ส่งอสม. ที่ต้องเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านในพื้นที่ทุรกันดาร ว่า เป็นความร่วมมือของคนในพื้นที่ ทำให้คุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ของเขาได้รับการดูแลอย่างแท้จริง
“สถานการณ์โควิด-19 ได้พิสูจน์บทบาทของ อสม. ที่เป็นผลจากการวางโครงสร้างไว้เป็นระยะเวลาหลายสิบปี จนได้รับการกล่าวขานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล หลังจากนี้ยังจะทำให้เกิดนวัตกรรมอีกหลายด้าน ซึ่งปี 2564 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ ได้อนุมัติงบประมาณสำหรับการชดเชยค่า Telemedicine การดูแลผู้ป่วยทางไกลไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษา กายภาพบำบัด เป็นต้น ต่อไปนโยบายของทุกโรงพยาบาลจะสามารถพูดคุยทางไกล ให้บริการคนไข้อย่างไม่มีข้อจำกัดโดย สปสช. จะสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้” นพ.รัฐพล กล่าว
ขณะที่ บุญสืบ ศรีไชยวงศ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านโป่งแยงในกล่าวว่า แนวทางการดำเนินงาน LTC หรือเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านนั้น Care Manager และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. จะร่วมกันประเมินความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) หรือเกณฑ์การประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย พร้อมจัดทำ Care Plan หรือแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคลส่งให้คณะอนุกรรมการ LTC อนุมัติ จากนั้น Caregiver จึงเข้าเยี่ยมและให้การดูแลตาม Care Plan นั้น
“นอกจาก Caregiver แล้ว ผู้ที่มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยยังมีทั้งญาติผู้ป่วย จิตอาสา อบต. ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ รพ.นครพิงค์ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน และ อสม. โดยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ป่วยโรคเรื้อรังไปรับบริการที่ รพ.ไม่ได้ ยังพัฒนาเครือข่ายส่งยาถึงบ้าน และมีการนำ Telemedicine และ Smart Consult (ที่ปรึกษาอัจฉริยะ) มาทดลองใช้ในพื้นที่อีกด้วย” ผอ.รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน ระบุ
ด้าน วัน ม่วงมา นายก อบต.โป่งแยง กล่าวเสริมว่า อบต.โป่งแยง ได้ออกประกาศจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิงตำบลโป่งแยง” เพื่อใช้ดำเนินงาน LTC รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ LTC เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณในโครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิง
อีกทั้งยังสนับสนุนยานพาหนะเพื่อใช้ในการดำเนินงาน โดยสนับสนุนรถพยาบาลพร้อมคนขับเพื่อรับ-ส่งผู้มีภาวะพึ่งพิง กรณีต้องไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือสนับสนุนรถยนต์พร้อมคนขับเพื่อให้ Caregiver ใช้เดินทางไปเยี่ยมผู้มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ห่างไกลได้นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของ อบต. ออกปฏิบัติงานลงพื้นที่ร่วมกับศูนย์ฯ อีกด้วย!!!
สำนักงานหลักประกัน
สุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี