เมื่อกล่าวถึง “สาหร่าย” หลายท่านคงเคยได้ยินและรู้จักกันมาบ้างแล้ว ทราบหรือไม่? ว่าสาหร่ายนั้นมีความสำคัญกับระบบนิเวศในแหล่งน้ำอย่างมาก เพราะสามารถผลิตออกซิเจนสู่แหล่งน้ำในกระบวนการสังเคราะห์แสงซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตเบื้องต้นในระดับห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำเสียซึ่งเป็นดัชนีชีวภาพในการบ่งชี้ถึงคุณภาพของน้ำได้ นอกจากนั้นยังนำมาเป็นอาหารคนและอาหารของสัตว์ได้อีกด้วยและยังเป็นแหล่งพลังงานทดแทนช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ สาหร่ายแต่ละชนิดนั้นสามารถเจริญได้ในแหล่งน้ำที่มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังนี้
1.การนำสาหร่ายมาใช้ในการบำบัดน้ำเสีย เป็นกระบวนการทางธรรมชาติระหว่างแบคทีเรียและสาหร่ายที่ช่วยในการบำบัด จุลินทรีย์จะทำการย่อยสลายปริมาณของเสียในน้ำ สาหร่ายจะปลดปล่อยออกซิเจนให้กับจุลินทรีย์ในการหายใจ ซึ่งสาหร่ายจะอาศัยแสงอาทิตย์เป็นพลังงานในกระบวนการสังเคราะห์แสงและใช้สารจากกระบวนการย่อยสลายในการเจริญเติบโต ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสาหร่ายและแบคทีเรีย
2. การนำสาหร่ายมาเป็นปุ๋ยชีวภาพ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเป็นสาหร่ายที่มีคุณสมบัติตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ และสามารถเปลี่ยนไนโตรเจนในรูปของก๊าซให้อยู่ในรูปของสารประกอบแอมโมเนียม โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และเอนไซม์ไนโตรจีเนสมาใช้ในการผลิต และแอมโมเนียมที่ได้นี้จะปลดปล่อยออกมาใช้เป็นอาหารปุ๋ยให้แก่พืช สามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยหมักเป็นสารอินทรีย์ที่มีคุณค่าทางการเกษตร และสาหร่ายสกุลนอสตอคยังสามารถนำมาช่วยในการป้องกันจากการกัดเซาะผิวดิน ฟื้นฟูและปรับปรุงคุณภาพดินได้
3.การนำสาหร่ายมาเป็นอาหารมนุษย์ “สาหร่าย” เป็นของทานเล่นที่นิยมทั่วไป และยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ซีลีเนียม โอเมก้า 3 DHA ไฟเบอร์ และสารแอนติออกซิแดนท์ อีกทั้งมีงานวิจัยที่พบว่าสาหร่ายสามารถดูดซับไขมันจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปและจะถูกขับออกจากร่างกาย มีสารที่ช่วยชะลอการทำงานของเอนไซม์ ทำหน้าที่ย่อยคาร์โบไฮเดรตและย่อยอาหารแล้วเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ นอกจากนี้ยังมีไอโอดีนที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคคอพอก และเป็นแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่มีส่วนร่วมในกระบวนการเผาผลาญ ร่างกายจะใช้ไอโอดีนในการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ และควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้เป็นปกติ
4.การนำสาหร่ายมาเป็นอาหารสัตว์ สาหร่ายยังเป็นอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น ปลา กุ้ง และแพลงตอนสัตว์ เช่น ไรแดง ไรน้ำเค็ม โดยเฉพาะเป็นอาหารปลาสวยงามซึ่งประสบผลสำเร็จมาก โดยนิยมใช้สาหร่ายขนาดเล็ก (แพลงตอนพืช) เป็นอาหารแก่สัตว์น้ำวัยอ่อน และสาหร่ายขนาดเล็กนี้มีคุณค่าทางอาหารค่อนข้างสูงซึ่งทำให้ลูกสัตว์น้ำ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนทางยุโรปนิยมนำสาหร่ายทะเลมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น แพะ แกะ โค กระบือ เนื่องจากสัตว์กลุ่มนี้สามารถย่อยผนังเซลล์ของสาหร่ายที่เป็นเซลลูโลสได้
จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของสาหร่ายนั้นมีมากมาย ไม่ใช่แค่พืชในทะเลที่เราคุ้นชินเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์หลากหลายต่อธรรมชาติ มนุษย์ และสัตว์ด้วย
สายัณห์ นันชะนะ
ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี