หากเอ่ยถึง “มะหลอด” เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงไม่คุ้นชินและอาจเกิดข้อสงสัยว่าคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาไขความรู้ให้ได้ทราบกันค่ะ
มะหลอด (Bastard Oleaster) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Elaeagnus latifolia L. จัดอยู่ในวงศ์ ELAEAGNACEAE เป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง พบกระจายพันธุ์ในเอเชียตอนเหนือแถบเทือกเขาหิมาลัยและยุโรป ในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่า ทุ่งนา หรือตามบ้านเรือนชนบท และสามารถพบได้ทั่วไปตามชายป่าชื้น ป่าเบญจพรรณ
นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า สลอดเถา หมากหลอด หรือ บะหลอด บ่าหลอด (ภาษาคำเมือง), ควยรอก (ตราด), ส้มหลอด (ภาคใต้) เป็นต้น และมักขึ้นทั่วไปตามเนินเขาในที่ร่มที่ระดับ 200-1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลชอบดินระบายน้ำดี เป็นพืชทนแล้ง เจริญเติบโตได้ดีแม้ในดินเลวที่มีสภาพเป็นกรด
มะหลอด เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้น และกิ่งมีเกล็ดสีเทาหรือสีเงิน ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวอมน้ำเงินเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีเกล็ดเล็กๆ สีน้ำตาลทั่วไป กว้างประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร และก้านใบยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตรจะออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศหรือมีดอกเพศเมียปะปนรวมอยู่ด้วย
ส่วนผล มีลักษณะหลายรูปทรง เช่น ผลรูปรี รูปไข่รูปกรวย รูปลูกแพร์ และรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตรลักษณะโดยรวมจะคล้ายๆ กับมะเขือเทศราชินี ผิวเปลือกจะสากเล็กน้อย มีจุดสีขาวสีเงินบนผล ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อผลสุกแล้วจะมีสีแดงเข้ม หรือแดง หรือส้มแดง หรือสีเหลือง มีรสเปรี้ยว ฝาดจนถึงหวาน
ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ดหรือปักชำ ให้ผลผลิตเมื่อต้นมีอายุประมาณ 2-3 ปี โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ส่วนใหญ่ชาวบ้านนำมาบริโภคผลสด รวมทั้งนำมาปรุงอาหารจำพวกน้ำพริกแทนมะนาวได้อีกด้วย
มะหลอดมีสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งสารประกอบฟีนอล วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านสารอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง และยังช่วยในการชะลอวัยอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยา เช่น ดอกช่วยบำรุงหัวใจ แก้โรคตา แก้ปวดศีรษะ แก้พิษ แก้ริดสีดวงจมูก ผลช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียนได้ ผลสุกใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้อาการบิดและอาการท้องผูกในเด็ก รากใช้ผสมเหล้านำมารับประทานแก้อาการปวดข้อปวดกระดูก
จากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เล็งเห็นความสำคัญจึงได้ทำการรวบรวมการขยายพันธุ์และศึกษาคุณสมบัติของมะหลอด เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต โดย นางชลธิชา
นิวาสประกฤติ และทีมงานจากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ วว. ยังได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมะหลอดอีกหลายผลิตภัณฑ์ โดย ดร.ปนิดา บรรจงสินศิริ และทีมงานจากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์มะหลอดแผ่น ผลิตภัณฑ์เยลลี่กัมมี่มะหลอด ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มให้พลังงานจากมะหลอดและผลิตภัณฑ์พร้อมดื่มไซเดอร์จากมะหลอด เป็นต้น
ปัจจุบันมะหลอดถือได้ว่าเป็นผลไม้ที่หายาก ไม่เป็นที่นิยมปลูก ทำให้มีผลผลิตจำหน่ายน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมีวางจำหน่ายตามตลาดในชนบท ทำให้ไม่เป็นที่รู้จักเหมือนผลไม้ชนิดอื่น แต่จากสรรพคุณของมะหลอดที่มีมากมายนั้น จึงควรส่งเสริมการปลูกอย่างจริงจังและแพร่หลาย เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ในอนาคตต่อไป
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี